กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--กรมศุลกากร
กรมศุลกากร สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กลุ่ม 7 สมาคม ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย จัดแถลงข่าวความคืบหน้าแก้ปัญหาวิกฤติเหล็กไทย เชื่อมั่นทุกภาคส่วนจับมือร่วมฝ่าวิกฤติเหล็กทุ่มตลาดจีน ย้ำผลักดันมาตรการทางการค้าเหล็กทั้งวงจร และพัฒนามาตรฐานสินค้า เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ และยั่งยืน
นายวิน วิริยประไพกิจ ในนามตัวแทนกลุ่ม 7 สมาคม ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย ซึ่งเป็นการจับมือร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเหล็กประเภทต่างๆของไทยที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาสินค้าที่มีการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมจากต่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วย สมาคมการค้าผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น สมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า สมาคมโลหะไทย และกลุ่มผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก มีสมาชิกรวม 472 บริษัท ขอขอบพระคุณหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานที่ได้ช่วยดำเนินการเพื่อแก้ไขและป้องกันวิกฤติอุตสาหกรรมเหล็กไทยอย่างจริงจังเสมอมา โดยเฉพาะ 3 หน่วยงานหลัก คือ (1) กระทรวงพาณิชย์ (2)กระทรวงอุตสาหกรรม และ (3) กระทรวงการคลัง
โดยนับตั้งแต่ได้เข้าพบรองนายกรัฐมนตรี ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 58 เพื่อรายงานวิกฤติที่อุตสาหกรรมเหล็กของไทยประสบกับการทุ่มตลาดจากต่างชาติ และหารือแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กซึ่งเป็นสินค้ายุทธศาสตร์ของชาติ โดยการดำเนินงานของหน่วยงานหลัก คือ (1) กระทรวงพาณิชย์ (2) กระทรวงอุตสาหกรรม และ (3) กระทรวงการคลัง มีความคืบหน้าเป็นอย่างมากจนสามารถบรรเทาวิกฤติอุตสาหกรรมเหล็กไทย โดยในส่วนของกรมการค้าต่างประเทศซึ่งดูแลการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด มาตรการทางการค้าต่างๆ เพื่อให้เกิดการค้าและการแข่งขันอย่างเป็นธรรม โดยในปี 2559 มีการเปิดไต่สวน และ/หรือบังคับใช้มาตรการแล้ว 8 มาตรการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ควบคุมการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน และปรับแก้กฎหมายเพื่อให้เกิดความทันสมัย และเพื่อความปลอดภัย โดยคาดว่าปี 2559 จะดำเนินการปรับปรุงมาตรฐาน มอก. แล้วเสร็จ 12 ฉบับ ปี 2560 อีก 20 ฉบับ และกรมศุลกากรตรวจจับเอาผิดผู้ที่หลบเลี่ยงอากรนำเข้าสินค้าเหล็กอย่างเข้มงวด โดยปัจจุบันปริมาณการนำเข้าสินค้าที่หลบเลี่ยงอากรลดลงอย่างมาก ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์ของประเทศจากผลกระทบของสถานการณ์เหล็กที่ล้นตลาดโลก ที่เป็นผลมาจากการผลิตเหล็กของจีน ถึงแม้ว่าจีนจะมีนโยบายลดการผลิตลงโดยมีเป้าหมายภายในปี 2563 จะลดกำลังการผลิตเหล็กกล้าลง 100-150 ล้านตันต่อปี แต่ปรากฎว่า ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2559 จีนมีปริมาณการผลิตเหล็กสะสม 739 ล้านตัน เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 มีปริมาณ 730 ล้านตัน เห็นได้อย่างชัดเจนว่าไม่มีการปรับลดแต่อย่างใด และคาดว่าปี 2559 มีแนวโน้มปริมาณการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นเป็น 806 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีการผลิต 804 ล้านตัน และจากการที่ประเทศจีนมีการผลิตที่เกินความต้องการเป็นจำนวนมาก จึงมีนโยบายเน้นการส่งออก โดยให้การอุดหนุนอย่างไม่เป็นธรรมกว่า 1.78 ล้านล้านบาทต่อปี (ผลการศึกษาจากสถาบันต่างๆของอเมริกา) โดยเฉพาะมาตรการการแปลงหนี้เป็นทุน ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสะสมของจีน ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2559 เท่ากับ 102 ล้านตัน โดยคาดว่าในสิ้นปี 2559 จะมีปริมาณใกล้เคียงกับปี 2558 ที่ 111 ล้านตัน เช่นกัน (ข้อมูลจากสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย และWorld Steel Association)
ดังนั้นแนวทางช่วยเหลืออุตสาหกรรมเหล็กวงจร คือการผลักดันให้มีการบังคับใช้มาตรการทางการค้าซึ่งเป็นมาตรการตามWTO เพื่อป้องกันและสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมทั้งห่วงโซ่การค้าในอุตสาหกรรมเหล็ก และต้องคงดำเนินการอย่างจริงจังต่อเนื่องและมีบูรณาการ เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากรกล่าวว่าสินค้าเหล็ก และสินค้าที่ทำจากเหล็กเป็นสินค้าที่มีความสำคัญ และกรมศุลฯให้ความสำคัญในการตรวจสอบนำเข้าเป็นอย่างมาก และมีการตั้งคณะทำงานเพื่อประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลกับกลุ่ม 7 สมาคมฯ เพื่อดำเนินการตรวจสอบสินค้านำเข้าไม่ให้มีการหลบเลี่ยงอากร ซึ่งเป็นการสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติ นอกจากนี้กรมศุลฯ มีมาตรการระยะยาวโดยการจัดทำระบบฐานข้อมูลการนำเข้า โดยรวบรวมข้อมูลจากท่าเรือที่มีการนำเข้าสินค้าเหล็ก แล้วจัดทำกลุ่มผู้นำเข้าเพื่อเฝ้าระวังขณะนำเข้าหากมีประวัติการหลบเลี่ยงอากร หรือกระทำผิด
นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า สมอ. ได้มีการดำเนินงานร่วมกับกลุ่ม 7 สมาคมฯ อย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยมีการประชุมเพื่อดำเนินการด้านนโยบายเพื่อการพัฒนาคุณภาพการผลิตสินค้าเหล็ก และสร้างความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค