กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์
ประเทศไทยมีพื้นฐานทางด้านสังคมและเศรษฐกิจที่อิงอยู่กับเกษตรกรรมมาเป็นระยะเวลานาน และแม้ว่าเกษตรกรจะเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ผลผลิตจากภาคการเกษตรกลับมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) สะท้อนให้เห็นถึงควมเหลื่อมล้ำและการพัฒนาที่ไม่สมดุล ด้วยเหตุนี้จึงมีการหยิบยกโมเดล "เศรษฐกิจชีวภาพ" (Bioeconomy) ขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง ภายใต้นโยบายปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ มุ่งหน้าสู่ประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0) ซึ่งเป็นเศรษฐกิจกระแสใหม่ (New Engines of Growth) ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มมูลค่าสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับรายได้ประชากร พร้อมพาไทยหลุดกับดักประเทศรายได้ปานกลางในอนาคต และในที่ประชุมสหประชาชาติยังลงความเห็นว่า เศรษฐกิจชีวภาพจะเป็นทางออกของปัญหาอาหาร พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ในอีก 30 ปีข้างหน้า เมื่อประชากรโลกเพิ่มขึ้นเป็น 7,000 ล้านคน
นายจิรวัฒน์ นุริตานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ซึ่งเป็นบริษัทแกนนำในธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม ของกลุ่มบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) กล่าวว่า"ประเทศไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจชีวภาพที่ดี เพราะมีความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นด้านพลังงานชีวภาพที่มีการคิดค้นพัฒนาหลากหลายทางเลือกและนำมาใช้กันอย่างกว้างขวาง หรือแม้กระทั่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น แฟตตี้แอลกอฮอลส์ (Fatty Alcohols) ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบหลักสำคัญสำหรับการผลิตสารลดแรงตึงผิว และยังเป็นสารที่จำเป็นในการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยส่วนบุคคลและสารชำระล้าง อีกทั้งยังใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอางและเภสัชภัณฑ์ ไปจนถึงใช้เป็นสารละลายในอุตสาหกรรมต่างๆ"
ข้อมูลจากแอลเอ็มซี อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทวิเคราะห์ธุรกิจการเกษตร ระบุว่า ในปี 2557 ตลาดแฟตตี้แอลกอฮอลส์ทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีปริมาณผลผลิต 3.1 ล้านตัน และมีกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมถึง 4 ล้านตัน ซึ่งทวีปเอเชียเป็นผู้ผลิตแฟตตี้แอลกอฮอลส์ที่ใหญ่ที่สุด โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสัดส่วนการผลิตคิดเป็นร้อยละ 35 ของการผลิตทั่วโลก และประเทศจีนคิดเป็นร้อยละ 11 ในขณะที่อเมริกาเหนือและยุโรปมีผลผลิตแฟตตี้แอลกอฮอลส์คิดเป็นร้อยละ 21
ทั้งนี้แฟตตี้แอลกอฮอลส์แทบทั้งหมดที่ผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นแฟตตี้แอลกอฮอลส์ธรรมชาติ ซึ่งผลิตจากน้ำมันเมล็ดในปาล์มและน้ำมันมะพร้าว แฟตตี้แอลกอฮอลส์ประเภทนี้เมื่อนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ผงซักฟอก จะสามารถดูดซึมได้โดยธรรมชาติและไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อเปรียบเทียบกับแฟตตี้แอลกอฮอลส์สังเคราะห์ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเป็นส่วนประกอบ แฟตตี้แอลกอฮอลส์ธรรมชาติจึงมีแนวโน้มเป็นที่ต้องการของตลาดในระยะยาวมากกว่า เนื่องจากความใส่ใจในด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก
แอลเอ็มซี อินเตอร์เนชั่นแนล ยังระบุว่า ตลาดเอเชียจะกลายเป็นศูนย์กลางการเติบโตของแฟตตี้ แอลกอฮอลส์ อันเป็นผลมาจากการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมสุขอนามัยส่วนบุคคลและสารชำระล้างที่เป็นแรงขับเคลื่อน โดยประเทศจีนยังคงเป็นผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดในเอเชีย ซึ่งคาดว่าในปี 2557 ถึง 2568 การอุปโภคแฟตตี้แอลกอฮอลส์ในเอเชียจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 5.1 ในขณะที่อัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 2.9 โดยอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากปัจจัยหลายประการ เช่น ระดับรายได้ที่สูงขึ้น จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น และการรณรงค์ทางสังคม เช่น การปรับปรุงด้านความสะอาดและสุขอนามัยในอินเดีย ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยส่งเสริมความต้องการการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้แฟตตี้แอลกอฮอลส์
สำหรับประเทศไทย GGC เป็นผู้ผลิตแฟตตี้แอลกอฮอลส์เพียงรายเดียว โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งที่ 100,000 ตันต่อปี และGGC มีข้อได้เปรียบจากการผลิตแฟตตี้แอลกอฮอลส์ธรรมชาติที่ผลิตจากน้ำมันเมล็ดในปาล์ม ซึ่งเป็นที่ต้องการมากกว่า โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์สุขอนามัยส่วนบุคคล สำหรับในภาคการส่งออก ตลาดต่างประเทศของผลิตภัณฑ์แฟตตี้แอลกอฮอลส์ส่วนใหญ่ ได้แก่ ประเทศจีน ประเทศอินเดีย ประเทศในทวีปยุโรป ทวีปแอฟริกาใต้ และทวีปอเมริกาใต้ เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยมีข้อได้เปรียบทางด้าน โลจิสติกส์เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย โดยเฉพาะการขนส่งไปยังตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย
ด้วยสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศรวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางเกษตรกรรมที่มีอยู่เดิม ยังเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมการดำเนินอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพในประเทศไทยเป็นอย่างดียิ่ง ในกรณีของ แฟตตี้แอลกอฮอลส์ ที่ใช้วัตถุดิบคือน้ำมันเมล็ดในของปาล์ม ซึ่งสามารถเพาะปลูกได้ดีในหลายพื้นที่ ประเทศไทยจึงมีน้ำมันเมล็ดในปาล์มจำนวนมากที่จะป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตแฟตตี้แอลกอฮอลส์ โดยในปี 2557 มีปริมาณน้ำมันเมล็ดในปาล์มที่ผลิตได้เป็นจำนวนถึง 2 แสนตันต่อปี
นายจิรวัฒน์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า "จากปัจจัยทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพอย่างยิ่งในการก้าวสู่เศรษฐกิจชีวภาพอย่างเต็มขั้น ซึ่ง GGC ในฐานะผู้บุกเบิกธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยมากว่าทศวรรษ พร้อมเป็นอีกหนึ่งกลไกเพื่อร่วมขับเคลื่อนนโยบายนี้ให้ประสบความสำเร็จ โดยบริษัทฯ มีแผนในการทำวิจัยเพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์โอลีโอเคมีของบริษัทฯ ในปัจจุบันไปยังผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษในธุรกิจปลายน้ำ (Downstream Specialty Products) และสร้างความหลากหลายให้แก่ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ โดยการลงทุนในธุรกิจเคมีชีวภาพ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และความเชี่ยวชาญในการผลิตผลิตภัณฑ์โอลีโอเคมีชนิดพิเศษ เพื่อรองรับโอกาสในการเติบโตของธุรกิจในอนาคต"