กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 เวลา 9.00 น. ณ โรงแรมเดอะพาร์ค อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ปลัดกระทรวงการคลังได้เป็นประธานในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อซักซ้อมแนวทางการบริหารงานเพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืนร่วมกับคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบประจำจังหวัดและคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบประจำจังหวัด จาก 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดพิจิตร พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้แทนกระทรวงกลาโหม และคณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัด (คบจ.) พร้อมทั้งคลังจังหวัดในเขตภาคเหนือตอนล่าง โดยในการประชุมปลัดกระทรวงการคลังเน้นย้ำการดำเนินการใน 4 ประเด็นหลัก คือ
1. กระบวนการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบ ซึ่งมีอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดเป็นประธานอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบประจำจังหวัด มีหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนในการเจรจาประนอมหนี้กับเจ้าหนี้นอกระบบเพื่อลดมูลหนี้ที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยหรือเงื่อนไขที่เอารัดเอาเปรียบ โดยยึดหลักของความเป็นธรรมในการเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อให้ทั้งฝ่ายลูกหนี้และเจ้าหนี้พึงพอใจ
2. กระบวนการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบ ซึ่งมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบประจำจังหวัด มีหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ด้านการเพิ่มรายได้ของตัวเองให้มากขึ้นภายใต้กรอบหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งรวมถึงการพัฒนาการเพาะปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ให้มีประสิทธิภาพและมีต้นทุนที่น้อยลง การสร้างอาชีพเสริม การพัฒนาฝีมือแรงงานและการหางานให้กับลูกหนี้นอกระบบที่ไม่มีงานทำ ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบประจำจังหวัด มีหน้าที่รวมถึงการพิจารณาการให้สวัสดิการแก่ประชาชนที่มีปัญหาหนี้นอกระบบที่อาจจะไม่มีศักยภาพในการพึ่งพาตัวเองได้
3. การพัฒนาแหล่งเงินทุนสำหรับประชาชน ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนปกติซึ่งกระทรวงการคลังได้ออกประกาศกำหนดธุรกิจสินเชื่อประเภทใหม่ คือ สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ หรือ สยจ.) โดยให้นิติบุคคลที่สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจกับกระทรวงการคลัง ซึ่งจะสามารถให้สินเชื่อกับประชาชนในจังหวัดในวงเงินไม่เกินรายละ 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย รวมค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใดๆ ไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี (Effective Rate) ซึ่งจะเป็นช่องทางให้เจ้าหนี้นอกระบบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเข้ามาเป็นผู้ให้สินเชื่อในระบบอย่างถูกกฎหมาย และช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม
4. การดำเนินการกับเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำความผิดตามกฎหมาย ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ร่วมกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รับผิดชอบในการติดตามจับกุมผู้กระทำความผิดตามกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวดและจริงจัง รวมทั้งผลักดันให้เจ้าหนี้นอกระบบเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการปรับพฤติกรรมให้เป็นผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับสภาพปัญหาของหนี้นอกระบบในพื้นที่ และเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการทำงานของคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบประจำจังหวัด คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบประจำจังหวัด และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อกระทรวงการคลังในการปรับปรุงกลไกการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในการนี้ ปลัดกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ คบจ. มีบทบาทร่วมในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ตลอดจนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดโดยการส่งผ่านนโยบายและมาตรการเศรษฐกิจการคลังต่าง ๆ ของกระทรวงการคลัง
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังได้จัดการสัมมนา เรื่อง การประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการประกอบธุรกิจและขั้นตอนในการยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์กับกระทรวงการคลังให้ธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน และประชาชนผู้สนใจทราบ และได้จัดเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาภายในงานดังกล่าวด้วย
ปัจจุบัน มีผู้ให้ความสนใจสอบถามการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์เป็นจำนวนมาก และมีผู้ยื่นคำขออนุญาตแล้ว จำนวน 5 ราย โดยเป็นการยื่นคำขออนุญาตผ่านจุดบริการร่วมสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สาขาของธนาคารออมสิน และสาขาของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้องของเอกสารก่อนนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้การพิจารณาอนุญาตต่อไป โดยผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ธนาคารออมสิน หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ทุกสาขา หรือทางโทรศัพท์สายด่วน 1359 ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในวันและเวลาราชการ
สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทรศัพท์สายด่วน 1359