กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--Noname IMC
"ถ้าคนเรามีสุขภาพเสื่อมโทรม ก็จะไม่สามารถพัฒนาชาติได้ เพราะทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติ ก็คือพลเมืองนั่นเอง" พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่แสดงถึงความตั้งพระทัยในการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของราษฎรอย่างแท้จริง
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงพระราชทานความช่วยเหลือแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยไม่เห็นแก่ความยากลำบากทำให้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐเอกชน ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ ได้น้อมนำพระราชดำรัสมาเป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ท่านในการที่จะให้ประชาชนชาวไทยได้มีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติสืบไป
นพ.รุ่งฤทัย มวลประสิทธิ์พร ผู้อำนวยการสถาบันพระบรมราชชนกกล่าวว่า "พยาบาล เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพอนามัยของประชาชน ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ทางสถาบันพระบรมราชชนก ได้มุ่งมั่นผลิตพยาบาลวิชาชีพเพื่อสนองตอบความต้องการของระบบสุขภาพดูแลสุขภาวะของคนในชุมชมเพื่อการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่ดีของคนในชุมชน สร้างความเข้มแข็งและความอยู่ดีมีสุขทางด้านสุขภาพแก่ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน แต่ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพอยู่อีกมาก โดยเฉพาะพยาบาลชุมชนที่จะปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล หรือตามโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่มีอยู่มากกว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศ"
"ปัจจุบันวิทยาลัยพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศแม้ว่าจะสามารถผลิตพยาบาลวิชาชีพได้ปีละประมาณ 3,600 คน หากรวมกับมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชนจะได้ปีละประมาณ 7,000 คน แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการเนื่องจากปัจจุบันมีพยาบาลวิชาชีพอยู่ในระบบประมาณ 100,000 คน ขณะที่จำนวนพยาบาลที่ประเทศต้องการคือ 130,000-140,000 คน ไม่นับรวมกับพยาบาลที่ต้องเกษียณอายุ และลาออกไปในแต่ละปี" นพ.รุ่งฤทัยกล่าวและเสริมว่า
"ดังนั้น ทางสถาบันพระบรมราชชนก ในฐานะองค์กรที่มีหน้าที่หลักในการผลิตพยาบาลวิชาชีพ จึงมีความพยายามในการกระจายพยาบาลให้กับ รพ.สต. ด้วยการให้ทุน 1 อำเภอ 1 ทุน เป็นทุนของสถาบันพระบรมราชชนก เพื่อให้คนในพื้นที่กลับไปทำงานยังบ้านเกิด โดยได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งโครงการทุนการศึกษา จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน ช่วยสนับสนุนให้เราผลิตพยาบาลซึ่งกลับไปทำงานเพื่อชุมชนได้เพิ่มมากขึ้น"
จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชนเข้าถึงใจเข้าถึงสุขภาพดีของคนท้องถิ่น
นายวิริยะ จงไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกล็กโซสมิทไคลน์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ จีเอสเค กล่าวว่าจีเอสเค มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบและมีจรรยาบรรณ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น สามารถทำกิจกรรมได้มากขึ้น และมีอายุยืนยาวขึ้น พร้อมทั้งร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยดูแลผู้ป่วยและผู้ด้อยโอกาสในประเทศไทย ผ่านโครงการและกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ ที่บริษัทได้เข้าไปเป็นผู้สนับสนุนโครงการ หรือกิจกรรมเพื่อสังคมที่มุ่งเน้นเรื่องการให้ความช่วยเหลือและให้ความรู้ทางด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญขององค์กรโครงการทุนการศึกษา"จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน" เป็นโครงการมอบทุนการศึกษาต่อเนื่องระยะเวลา 4 ปี จนจบหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ ให้แก่นักศึกษาพยาบาลที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ จากวิทยาลัยพยาบาลในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนกทั่วประเทศ โดยได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 19 เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 มอบทุนให้แล้วทั้งสิ้น 670 ราย สำเร็จการศึกษาเป็นพยาบาลวิชาชีพแล้ว 552 ราย ซึ่งได้ออกปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และสำนักงานสาธารณสุข กว่า 150 แห่ง ในพื้นที่ทั่วประเทศ นับเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านสาธารณสุขของประเทศ และเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมสุขภาพอนามัยของประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารโดยทั่วถึง ทั้งช่วยให้ชุมชนและคนในท้องถิ่นทุรกันดาร ได้รับการดูแลรักษาที่ดี มีประสิทธิภาพ และสนับสนุนการเข้าถึงการมีสุขภาพดีของคนไทยได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
พยาบาลเพื่อชุมชน เดินตามรอยพ่อสร้างความเข้มแข็งด้านสุขภาพแก่ท้องถิ่น
ญาดา ชุมนุมพร้อม จบจากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จ.พะเยา ในโครงการ "จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน รุ่นที่ 1" ปัจจุบันเป็นพยาบาลอยู่ รพ.เชียงคำ จ.พะเยาเล่าว่า "เป็นพยาบาลมา 15 ปี ได้เห็นความลำบากทุกข์ยากของผู้ป่วยมากมาย เมื่อมีโอกาสก็อยากจะช่วยเหลือคนป่วยอย่างเต็มที่ เลยเปิด "คลินิกฮักบ้านเกิด" เพื่อให้การพยาบาลเบื้องต้นแก่ชาวบ้านที่อยู่ห่างไกล เดินทางลำบาก เช่น คนไข้ที่ต้องทำแผลต่อเนื่องหรือ คนไข้นอนติดเตียง ไม่มีญาติ หรือในบางรายพี่เองก็จะเดินทางไปเยี่ยมถึงที่บ้านด้วย ไม่ได้คิดเงิน อย่างน้อยพี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะได้ทำตามปณิธานขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ต้องการให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พี่ก็เริ่มจากดูแลสุขภาพของคนหมู่บ้านเล็กๆ ที่พี่ได้อยู่อาศัยมาจนโต นอกจากนี้ก็ยังมีงานวิทยากรจิตอาสา ให้ความรู้ด้านสุขภาพผ่านรายการวิทยุชุมชนด้วย"
ณฐินีพร อาจแสงวรพัฒน์ จบจากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จ.อุดรธานี ในโครงการ "จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน รุ่นที่ 4" ปัจจุบันเป็นพยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สต.หนองหลัก อ.ไชยวาน จ.อุดรธานีกล่าวว่า "รู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจมากที่ได้รับทุนจากโครงการนี้เนื่องจากฐานะทางบ้านไม่ดี มีโอกาสได้เข้าเฝ้า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ด้วย ทำให้รู้ว่าพยาบาลนั้นมีความสำคัญ ต้องดูแลสุขภาพคนในชุมชนอย่างเต็มที่ ให้กำลังใจผู้ป่วยด้วยการยิ้มก็ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น บางคนเพียงได้พูดคุย โรคก็หายไปครึ่งแล้ว นอกจากนี้ ก็ยังได้ไปดูแลประชากรทุกกลุ่มวัย ในด้านการส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู และการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายของ สธ. ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่"
วันดี อบศรี จบจากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ ในโครงการ "จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน รุ่นที่ 7" เล่าว่า "หลังเรียนจบได้กลับไปทำงาน ที่ รพ.กำแพงเพชร ซึ่งเป็นบ้านเกิด ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ รพ.พิจิตร กว่า 10 ปีที่ทำงาน ก็มีความภูมิใจในหน้าที่ ต้องเสียสละเพื่อช่วยเหลือคนในสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ตอนเด็กเรายากจน รู้ว่าการที่จะได้รับความช่วยเหลือจากคนอื่นนั้นยาก จึงเลือกเรียนพยาบาลจะได้ช่วยเหลือคนที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ช่วงแรกๆ มีโอกาสได้ออกหน่วยเยี่ยมชาวบ้านไปให้ความรู้เรื่องการดูแลตัวเอง ช่วยให้คนในชุมชุนเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลเองได้ รู้สึกภูมิใจ การได้ช่วยให้พลเมืองของชาติได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ก็เป็นความสุขแล้ว แม้ว่าเราจะเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ก็ตาม"
ปรกช ประธานราษฎร์ จบจากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จ.เชียงใหม่ ในโครงการ "จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชนรุ่นที่ 8" ปัจจุบันทำงานแผนกผู้ป่วยใน รพ.แม่วาง อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ เล่าว่า "พยาบาลเป็นอาชีพที่เป็นผู้ให้มากกว่าเป็นผู้รับ ต้องเสียสละฉะนั้นคนที่เลือกเรียนพยาบาล ต้องเรียนด้วยใจ และทำงานด้วยใจรักจริงๆ เมื่อมีโอกาสได้เรียนพยาบาล และได้รับทุนในโครงการ จีเอสเคพยาบาลเพื่อชุมชน ด้วยก็ดีใจมากๆ เมื่อเราได้รับโอกาสจากคนอื่น ก็อยากเป็นผู้ให้บ้าง ตนเป็นพยาบาลมาแล้วกว่า 8 ปี ก็อยากมุ่งมั่นทำงานให้ดีที่สุด โดยยึดถือหลักที่ว่า หากเราทำงานด้วยใจแล้วทุกอย่างก็ออกมาดีเอง ให้ความเอาใจใส่ดูแลผู้ป่วยเหมือนพวกเขาเป็นญาติเป็นคนในครอบครัวของเรา"
จันทิมา สีทอง จบจากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จ.สุรินทร์ ในโครงการ จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน รุ่นที่ 10" หลังจากเรียนจบได้กลับไปทำงานที่ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นบ้านเกิดปัจจุบันเป็นพยาบาลอยู่หน่วยส่งเสริมด้านพัฒนาการเด็กและด้านเวชศาสตร์ครอบครัว รพ.ตากใบ จ.นราธิวาส เล่าว่า "อาชีพพยาบาลเป็นอาชีพที่เราทำแล้วมีความสุข มีความภาคภูมิใจ แต่ก่อนเห็นเลือดแล้วกลัว ตอนนี้เห็นเลือดเห็นคนเจ็บป่วยแล้วอยากเข้าไปช่วยเหลือ ทุนจีเอสเคฯ ทำให้เราได้กลับมาทำงานที่บ้านเลี้ยงดูพ่อแม่ และยังได้ช่วยดูแลคนในชุมชนของเราจริงๆ ใช้ความถนัดด้านภาษา และความเข้าใจคนในชุมชนที่เรามีอยู่ มาดูแล ให้ความรู้เพื่อให้เขาเหล่านั้นสามารถดูแลตัวเองได้ ยิ่งทำงานในพื้นที่เสี่ยงภัย ทำให้เราเห็นว่ายังมีพื้นที่ห่างไกลอีกจำนวนมากที่ขาดแคลนบริการด้านสาธารณสุข การที่เราได้ไปช่วยเหลือชาวบ้าน เราได้เห็นรอยยิ้มของคนเหล่านั้นแล้วเรามีความสุข"