กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--
สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 (สสพ.2) ดำเนินโครงการส่งเสริมสหกรณ์ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยจัดทำโครงการเสริมสร้างประสบการณ์ด้านการสหกรณ์ให้แก่นักเรียนในโครงการฯ เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์งานสหกรณ์ให้กับนักเรียนและครูในโรงเรียนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายจำนวน 17 โรงเรียน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กและชุมชนให้ดีขึ้น โดยการเสริมสร้างความรู้และทักษะให้แก่เด็กและเยาวชน เพื่อเกิดเป็นแรงผลักดันที่จะพัฒนาในทุกๆ ด้านต่อไป เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้วิธีการบริหารจัดการสหกรณ์ที่ประสบผลสำเร็จ เพื่อนำความรู้ไปปรับใช้ในการพัฒนากิจกรรมสหกรณ์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นายธนิต จันทร์ประทีป ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 (สสพ.2) กล่าวว่า ทาง สสพ.2 ได้ดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งในปีนี้ถือว่าพิเศษกว่าทุกปี เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสวรรคต ซึ่งปัจจุบันโดยเฉพาะเด็กในสังคมเมืองคิดว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่ที่จริงแล้วเกี่ยวข้องโดยตรง และเมื่อเร็วๆ นี้ ทาง สสพ.2 ได้จัดกิจกรรมทัศนศึกษาดูงานของเด็กนักเรียน ณ ศูนย์การเรียนรู้ทฤษฎีใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ กองทัพเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้เด็กๆ ได้เรียนรู้นอกห้องเรียน เรียนรู้วิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง และน้อมนำเอาพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านมาใช้กับชีวิตประจำวันได้ หรือสามารถนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อีก
"เด็กรุ่นใหม่ๆ จะเรียนรู้การใช้ชีวิตแบบเดินตามรอยพ่อสอน เพราะทุกคนเกิดในรัฐกาลที่ 9 ทำไมเราเป็นลูกพ่อจึงไม่นำเอาหลักแนวคิดมาใช้กับตัวเรา และทำอย่างที่พ่อสอน ซึ่งเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน ปัจจุบันจะเห็นว่าเราหนีคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงมากจนเกินไป จนทำให้กลายเป็นสังคมเศรษฐกิจแบบไขว่คว้า ทำให้เกิดปัญหาตามมาทีหลัง ทำให้บางครั้งเราอาจทำอะไรเกินตัว ไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือคนรวย สามารถใช้เศรษฐกิจพอเพียงได้ เพียงแต่ให้ตัวเองรู้ว่าเป็นอย่างไรและอยู่ในฐานะที่เราทำได้ ขยายงานได้ เติบโตได้ แต่ต้องรู้ความพอเพียงได้ไม่เกินตัว ที่สำคัญเราต้องรู้ว่าเรามีความรู้ด้านไหนถนัดอะไร หากเราลงมือทำโดยไม่มีความรู้ ไม่ศึกษา งานที่ออกมานั้นอาจจะเสียงาน เสียเวลาได้" ผอ.สสพ.2 กล่าว
ส่วนการทัศนศึกษาของเด็กนักเรียนในครั้งนี้ คาดว่าเด็กนักเรียนจะได้ศึกษาเรียนรู้การใช้ชีวิตนอกห้องเรียนว่ามีความแตกต่างอย่างไร ใช้ชีวิตพอเพียงและนำเอาหลักทฤษฎีใหม่มาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันได้ เนื่องจากศูนย์การเรียนรู้ทฤษฎีใหม่แห่งมีเนื้อที่ให้เด็กนักเรียนได้ศึกษาอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเรื่องของการทำเศรษฐกิจพอเพียง ทำเกษตรครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการเกษตรด้านประมง ปศุสัตว์ การปลูกข้าว การเลี้ยงสัตว์ การปลูกพืชระยะสั้น การเผาถ่านอัดแท่ง เป็นต้น โดยมีโรงเรียนเป้าหมายเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้รวมทั้งสิ้น 17 โรงเรียน นักเรียน 204 คน ครู 17 คน รวมทั้งข้าราชการ และลูกจ้างของ สสพ.2 จำนวน 29 คน รวมทั้งสิ้น 250 คน
ด.ญ.ศุจิพรรณ ไกรญาณสม นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ร.ร.ศิริวังวิทยาคาร กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นประธานนักเรียนและเป็นตัวแทนนักเรียนในการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ บอกเล่าความรู้สึกในใจว่า "หนูมีหน้าที่คอยดูแลกรรมการสหกรณ์นักเรียนและคอยดูแลลูกค้าที่เข้ามาซื้อของในร้านสหกรณ์ การมีสหกรณ์ในโรงเรียนทำให้เราได้คิดเลขเละรู้จักการออมทรัพย์ รู้จักการทำบัญชีรายรับรายจ่าย ซึ่งการมาทัศนศึกษาในครั้งนี้ได้ประโยชน์หลายอย่างและได้ความรู้เรื่องการทำการเกษตร และการแก้ไขปัญหาครอบครัว หนูจะกลับไปบอกน้องๆ ที่โรงเรียนในเรื่องของการทำเกษตรด้านต่างๆ ให้อยู่อย่างพอกินพอใช้ ส่วนครอบครัวของหนู จะให้พ่อกับแม่ปลูกผักสวนครัว เพื่อเก็บผักมารับประทานและเอาผักไปขายได้ ส่วนกิจกรรมที่ชอบในวันนี้คือ การเลี้ยงควาย เพราะควายเคยช่วยประเทศไทยไว้ มีประโยชน์กับชาวนา เคยช่วยคนให้สามารถกู้ประเทศไทย เคยออกรบได้"
ส่วน ด.ญ.ศิริวรรณ นุตมะหะหมัด นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ร.ร.สุเหร่าลำแขก กรุงเทพฯ บอกว่า "เริ่มรู้จักการออมตั้งแต่อยู่ชั้นอนุบาล 2 โดยพ่อแม่สอนให้รู้จักการออมไว้สำหรับเวลาจำเป็น ปกติหนูได้เงินไปโรงเรียนวันละ 40 บาท เงินออมของหนูเป็นเงินที่เหลือจากการใช้จ่ายในแต่ละวัน ซึ่งการออมในแต่ละวันจะไม่เท่ากัน บางวันก็เหลือมาก บางวันก็เหลือน้อย หนูจะหยอดกระปุกวันละ 10 บาทบ้าง 20 บาทบ้าง และกระปุกหนูจะเปิดออกไม่ได้ ต้องรอให้เงินเต็มกระปุกถึงทุบกระปุกออก แล้วนำไปฝากธนาคาร หนูจะออมแบบนี้ทุกวัน เพื่อให้ติดเป็นนิสัยและรักการออม รวมแล้วหนูมีเงินออมประมาณ 20,000 บาท วันนี้หนูดีใจมากที่ได้มาทัศนศึกษารู้สึกสนุกสนานและได้ความรู้มากค่ะ ได้เพื่อนต่างโรงเรียน ได้เรียนรู้วิถีชีวิตแนวทฤษฎีใหม่ และจะนำกลับไปบอกเพื่อนๆ น้องๆ และพ่อกับแม่ที่อยู่ที่บ้านว่าจะนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในด้านเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การใช้เงินอย่างประหยัด การปลูกผักสวนครัว การเลี้ยงสัตว์ ทุกวันนี้บ้านหนูมีเนื้อที่อยู่หน้าบ้านไม่มากนัก แต่ก็สามารถปลูกผักไว้รับประทานได้ค่ะ วันนี้หนูประทับใจเรื่องความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่น ซึ่งแตกต่างจากคนในเมืองมากค่ะ"
ด้าน ด.ญ.นิภาพร หนูเผือก นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ร.ร.สุเหร่าลำแขก กรุงเทพฯ เผยว่า "หนูมีหน้าที่อยู่ 2 หน้าที่คือ หน้าที่สหกรณ์การเกษตรและสหกรณ์ร้านค้า สำหรับสหกรณ์ร้านค้ามีหน้าที่เป็นกรรมการจัดเวรให้กับคนในสหกรณ์ คอยดูเวรทุกวันในตอนเช้าและตอนเที่ยงและมาจัดของทุกวัน ส่วนหน้าที่ในสหกรณ์การเกษตรฯ คือ ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งเป็นการปลูกพืชไม่ใช้ดิน แต่ต้องให้น้ำทุกวัน และหมั่นคอยสังเกตุไม่ให้แมลงเข้าไปเจาะกินใบผักได้ เมื่อเก็บผักมาได้จะส่งให้โรงอาหารเพื่อทำอาหารให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนรับประทาน ส่วนที่เหลือจะส่งขายให้กับชุมชนที่อยู่รอบๆ โรงเรียน เพื่อนำรายได้จากการขายผักมาหมุนเวียนซื้ออาหารในโครงการอาหารกลางวันของนักเรียนต่อไป และตอนนี้หนูมีที่ดินของย่าอยู่ที่ต่างจังหวัด จะเอาเนื้อที่ไปปลูกผักและจะกลับไปพัฒนาบ้านเกิดที่นั่นค่ะ หนูชอบเศรษฐกิจแบบพอเพียง ชอบเดินตามรอยเท้าพ่อ"
ส่วนความหมายของคำว่า เศรษฐกิจแบบพอเพียง คือไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย สิ่งของที่เราอยากได้ต้องเก็บเงินเอง ไม่ต้องไปรบกวนพ่อกับแม่ มันเป็นของๆ เรา เราต้องเก็บเอง อย่าขอเงินคนอื่น เราต้องใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ ให้เหมาะสมกับวัยของเรา ทำตามแรงของเรา เพราะในสังคมปัจจุบันมีการแข่งขันสูง หนูจะนำหลักของพ่อมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้ทันเขา อย่างเช่นการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ เราจะต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ จากที่เราใช้เครื่องไฟฟ้า เราอาจใช้พลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลมเข้ามาช่วย เพื่อประหยัดไฟฟ้า
"วันนี้หนูได้ความรู้เรื่องราวของพ่อในด้านต่างๆ ว่าท่านทรงงานหนักมากแค่ไหน รู้ถึงเกษตรทฤษฎีใหม่ รู้จักความพอเพียง หนูชอบการสาธิตปั่นจักรยานเพื่อให้น้ำออกมาตามสายสปริงเกอร์ หากเราปั่นจักรยานช้า น้ำก็จะออกน้อย หากเราปั่นเร็ว น้ำก็จะออกมามาก สามารถรดน้ำต้นไม้ได้เรย ซึ่งสมัยก่อนไม่มีไฟฟ้าใช้ หากหนูเกิดทันสมัยก่อน หนูคงไม่มานั่งก้มเล่นโทรศัพท์ ไปไหนทีต้องก้มเล่นโทรศัพท์ ดังนั้น ในฐานะที่หนูเป็นเยาวชนรุ่นใหม่ สิ่งหนึ่งที่หนูอยากฝากถึงน้องๆ คือให้ทุกคนเดินรอยเท้าพ่อไปเรื่อยๆ เราต้องใช้ชีวิตแบบของเรา และเอาชีวิตของเขามาประยุกต์ใช้กับเราไม่ให้ซ้ำกับของคนอื่น หนูดีใจที่ได้เกิดมาเป็นคนไทยในแผ่นดินไทย เรามีทุกอย่างสมบูรณ์แบบ หนูคิดถึงพ่อหลวง หนูเห็นประวัติตอนทรงงานที่โทรทัศน์ได้นำกลับมาฉายให้เราได้ดูใหม่ หนูถึงรู้ว่าพ่อหลวงทรงงานหนักมากน้อยแค่ไหนค่ะ" ด.ญ.นิภาพร กล่าวอย่างซาบซึ้งใจ
การจัดกิจกรรมทัศนศึกษาในโครงการเสริมสร้างประสบการณ์ด้านการสหกรณ์ให้แก่ครูและนักเรียนตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ของทาง สสพ.2 ครั้งนี้ ถือเป็นแบบอย่างที่ดีในการปลูกฝังความคิดของเด็กนักเรียนได้นำเอาหลักทฤษฎีใหม่ หรือหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า เพื่อสร้างความเข้มแข็งและการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป