กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์
เมื่อความพอเพียงเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตให้อยู่ดีมีสุข อยู่บนทางสายกลาง ช่วยแก้ปัญหาหนี้สินและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน อย่างเช่น "ชุมชนซาเล้งอ่อนนุช 14 ไร่" ที่ประกอบอาชีพหลักเก็บของเก่าหรือเก็บขยะขาย แต่มีการบริหารจัดการทรัพยากรในชุมชนอย่างเป็นระบบ โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแกนหลัก จนสามารถต่อยอดเป็นพื้นที่นำร่องให้แก่ผู้สนใจได้เข้ามาศึกษาดูงาน โดยมีกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย นวัตกรรมทางสังคมใช้ขยะรีไซเคิลแทนเงิน หรือ "ร้านศูนย์บาท" แห่งแรกของประเทศไทย ที่ซึ่งร้านค้าสะดวกซื้อสามารถใช้ขยะแทนเงินสด และกิจกรรมอื่นๆ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงเน้นย้ำในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะเป็นรากฐานของชีวิตและรากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน
ด้วยเหตุนี้ โครงการทูตความดีแห่งประเทศไทย 2559 Gen A "พลังพลเมืองจิตอาสาเปลี่ยนประเทศ" (Empower Active Citizen) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในโครงการ Active Citizen เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้ใช้ทักษะและศักยภาพของตัวเองสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม โดยเกิดจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิธรรมดี และองค์กรภาคีเครือข่าย อาทิ มูลนิธิอาสาเพื่อสังคม บริษัท โสสุโก้ แอนด์ กรุ๊ป (2008) และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จึงได้นำคณะเยาวชนในโครงการลงพื้นที่ศึกษาแนวคิด และร่วมทำกิจกรรมจิตอาสา ณ ชุมชนซาเล้งอ่อนนุช 14ไร่ เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยที่เข้าร่วมโครงการได้สัมผัสพื้นที่จริงร่วมเรียนรู้เรื่องราว พร้อมแนวทางการแก้ไขปัญหาของชุมชนอย่างยั่งยืนตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง อีกทั้งยังได้เรียนรู้วิธีการคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง เพื่อนำขยะไปแลกสินค้าอุปโภคบริโภคที่ร้านศูนย์บาท รวมถึงการลงพื้นที่พูดคุยกับคนในชุมชน ศึกษาเรียนรู้การใช้ชีวิตของคนในชุมชน เพื่อนำไปต่อยอด ปรับใช้กับโครงการจิตอาสาของตนเองให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และประเทศชาติอย่างแท้จริง
นายพีรธร เสนีย์วงศ์ ที่ปรึกษากลุ่มซาเล้งชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของแหล่งเรียนรู้การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ กรุงเทพมหานครว่า เดิมชุมชนนี้มาจากกลุ่ม "ชุมชนใต้สะพาน" เมื่อถูกกรุงเทพฯ เวนคืนที่ดิน จึงย้ายมาอยู่ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ ตั้งแต่ปี 2544 ชาวบ้านช่วยกันจัดสรรพื้นที่ให้เป็นประโยชน์ อาทิ การทำบ่อเลี้ยงปลา การสร้างเล้าหมู เล้าเป็ด รวมถึงปลูกผักสวนครัว ต่อมาได้มีหลายหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนในเรื่องการให้องค์ความรู้ต่างๆ และการบริหารจัดการทรัพยากรชุมชน จนเกิดเป็น "ร้านศูนย์บาท" ซึ่งลูกค้าสามารถซื้อของได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินแม้แต่บาทเดียว เพียงนำขยะรีไซเคิลมาคัดแยกประเภท แล้วนำมาชั่งน้ำหนักเพื่อตีราคาเป็นจำนวนเงิน จากนั้นนำใบราคาไปเลือกซื้อสินค้าได้ตามต้องการ เช่น สบู่ ยาสระผม อาหารแห้ง เครื่องดื่ม เป็นต้น นอกจากนี้ หากอยากเป็นเจ้าของร้านศูนย์บาทร่วมกัน ก็สามารถนำขยะมูลค่า 100บาท มาลงหุ้นกัน ครอบครัวละ 1 สิทธิ์ และครอบครัวนั้นจะได้รับเงินปันผล และสวัสดิการต่างๆ อาทิ ทุนการศึกษาบุตร เงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลหรือกรณีเสียชีวิต เป็นต้น เมื่อดำเนินการมาได้สักระยะ จึงได้มีโครงการ "ธนาคารคนจน" เกิดขึ้น เพื่อให้ชาวบ้านนำขยะมาทำประกันชีวิตได้อีกด้วย โดยจะได้รับสิทธิ์ต่างๆ เช่นเดียวกับร้านศูนย์บาท ดังนั้นคนในชุมชนนี้จะได้เห็นแล้วว่าขยะทุกชิ้นมีค่า สามารถช่วยตัวเองให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างพอเพียง และช่วยสังคมในการลดขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ เยาวชนได้เรียนรู้วิธีการคัดแยกขยะของจริง โดยขยะจะถูกแบ่งเป็นหลายประเภท อาทิ ขวดแก้ว ขวดพลาสติก กระดาษทั่วไป และลังกระดาษ เป็นต้น จากนั้นนำขยะที่แยกได้ไปตีเป็นเงินเพื่อแลกสินค้าในร้านศูนย์บาท นอกจากนี้ เยาวชนยังได้เรียนรู้วิธีการเพิ่มมูลค่าให้กับขยะด้วยการผลิตสินค้าจากวัสดุรีไซเคิล สร้างรายได้เสริมให้คนในชุมชนอีกด้วย ปิดท้ายด้วยกิจกรรมเดินสำรวจชุมชนและเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งกิจกรรมนี้ทำให้น้องๆ ได้เห็นพลังของชาวชุมชนอ่อนนุช14 ไร่ ที่แม้ว่าจะมีความเป็นอยู่ที่คนภายนอกมองว่าไม่ค่อยสะดวกสบายนัก แต่คนที่นี่กลับพอใจและพอเพียงกับสิ่งที่พวกเขาเป็นอยู่ และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
ซาวานี มามะ หรือ น้องหลง ตัวแทนเยาวชนนักจิตอาสาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เล่าถึงประสบการณ์จริงที่ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ ในครั้งนี้ว่า "เป็นการลงพื้นที่ที่ได้ทั้งความรู้และประสบการณ์ที่แปลกใหม่ เริ่มแรกจากเราได้ฟังประวัติความเป็นมาของชุมชน ทำให้เรารู้สึกได้ว่ากว่าจะมีวันนี้นั้นคนในชุมชนต้องมีความเข้มแข็งและความสามัคคีกัน ชุมชนไม่ทิ้งกันและพยายามปรับปรุงพื้นที่และช่วยเหลือคนในชุมชนในทุกๆ ด้าน ที่สำคัญการช่วยเหลือนั้นมีจุดเริ่มต้นมาจาก "ขยะ" ที่คนภายนอกอย่างเรามองว่าไร้ค่าจึงทิ้งขว้างกันอย่างไร้สำนึก จนนำมาซึ่งปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาขยะล้นเมือง ปัญหามลพิษ ปัญหาน้ำเน่าเสีย แต่คนที่นี่นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาด้วยการแยกขยะแล้วนำมาสร้างคุณค่าแล้ว ทุกคนยังช่วยเหลือกันให้ยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งหาได้ยากในสังคมปัจจุบัน ทำให้รู้สึกคุ้มค่าและมีความสุขมากที่ได้มาเรียนรู้ชุมชนอ่อนนุช 14ไร่ จะจดจำวิธีการบริหารจัดการที่ดีและเรื่องราวดีๆ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาต่อยอดโครงการและชุมชนของตนที่ภาคใต้ให้มีความน่าอยู่และทัศนคติที่ดีในการใช้ชีวิตอย่างที่ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่"
หากเลือกได้ทุกคนต่างอยากมีชีวิตที่สุขสบายและสุขสมหวัง แต่หากวันนี้เรายังมีสองมือสองเท้า เพียงใช้มือเพื่อทำงานและใช้เท้าเพื่อก้าวให้ชีวิตดำเนินต่อไปข้างหน้า ให้ทุกวันในชีวิตมีความสุข เพียงเท่านี้ ต่อให้มีเงินมากมายเพียงใดก็เติมเต็มใจที่มีความสุขไม่ได้ เยาวชนนักจิตอาสา โครงการทูตความดีแห่งประเทศไทย 2559 หรือ Gen A (Generation Active) ขอเป็นส่วนหนึ่งในการให้กำลังใจ และจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่นี้ไปเป็นต้นแบบ พัฒนาต่อยอดให้สังคมของเราน่าอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป