กรุงเทพฯ--22 ธ.ค.--สมิติเวช
20 ธันวาคม 2559 รพ. สมิติเวชได้จัดงานแถลงข่าว วิวัฒนาการใหม่ของการป้องกันไข้เลือดออกครั้งแรกในประเทศไทยด้วยวัคซีนที่ครอบคลุมไข้เลือดออก ทั้ง4 สายพันธุ์ ลดความรุนแรงของโรค เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย
แพทย์หญิงสุรางคณา เตชะไพฑูรย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเด็กสมิติเวช กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่จำกัดอายุ เพศ สภาวะทางสุขภาพ หรือเศรษฐสถานะ โรงพยาบาลสมิติเวช ตระหนักถึงปัญหาของโรคไข้เลือดออกทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก และให้ความสำคัญในการป้องกันโรคไข้เลือดออก พร้อมทั้งมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ในประเทศไทยจะมีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกเป็นครั้งแรก
โรคไข้เลือดออกเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและประเทศอื่นๆทั่วโลก โดยองค์การอนามัยโลกได้ประมาณการว่ามีประชากรประมาณ 3,900 ล้านคนอาศัยอยู่เขตที่มีการระบาดของเชื้อ ในแต่ละปีมีประชากรติดเชื้อไข้เลือดออก 390 ล้านคน มีอาการจากการติดเชื้อ 96 ล้านคน นอน รพ. 500,000 คน และเสียชีวิตประมาณ 2.5%
ดังนั้นเกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมโดย จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขพบว่า ในปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่พบการระบาดของโรคไข้เลือดออกครั้งใหญ่ทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อโรคไข้เลือดออกในประเทศไทยเป็นจำนวนสูงถึง 142,925 ราย ซึ่งมากกว่าปี 2557 ถึง 247 % และในปี 2559 ล่าสุดพบว่า มีผู้ติดเชื้อทั้งหมดกว่า 5 หมื่นราย เสียชีวิต 57 ราย ถึงแม้อัตราการเสียชีวิตจะยังไม่มาก แต่ผู้ป่วยที่ตรวจพบว่าเป็นไข้เลือดออกจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ในกลุ่มเด็กนักเรียนพบว่าเด็กนักเรียนต้องขาดเรียนถึง 4-6 วัน ในขณะที่กลุ่มผู้ใหญ่ต้องขาดงาน 7-10 วัน ถ้าเกิดมีการเจ็บป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกและต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จึงทำให้เป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขจากค่าใช้จ่ายในการรักษา และวันนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดีมากๆ ที่เรามีวัคซีนไข้เลือดออก ให้บริการครั้งแรกในเมืองไทย ณ ที่สมิติเวช และอีกหนึ่งความภูมิใจคือ ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่เริ่มต้นในการพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกนี้
แพทย์หญิงอรอุมา บรรพมัย อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย จากสถิติของทวีปเอเชีย ประเทศไทยมีผู้ป้วยไข้เลือดออกเป็นอันดับที่ 2 รองจากประเทศฟิลิปปินส์ กลุ่มอายุที่พบว่าเป็น
ไข้เลือดออกมากที่สุดคืออายุ 10 – 14 ปี รองลงมาคืออายุ 5 – 9 ปี , 15 – 24 ปี และ 25 – 34 ปี ตามลำดับ ภาคกลางพบว่ามีอัตราการป่วยสูงที่สุด
เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกเดงกี่นั้นมีอยู่ 4 สายพันธุ์ ประกอบด้วยสายพันธุ์ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 ซึ่งการกระจายของเชื้อไวรัสทั้งสี่สายพันธุ์นี้มีการเปลี่ยนแปลงไปในช่วงเวลาต่างๆอย่างไม่สามารถทำนายได้ จึงเป็นการยากลำบากในการทำให้สามารถป้องกันได้ครบ แต่วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกนี้ ประกอบด้วย DENV 1, 2, 3, 4 มารวมกันให้อยู่ในเข็มเดียวกันถือเป็นนวัตกรรมที่ถูกคิดค้นจากความร่วมมือของหลายประเทศและมี ประสิทธิภาพในการป้องกันโรค 65.6 % และยังมีประสิทธิภาพลดความรุนแรงของโรคได้ 93.2 % และสามารถลดอัตราการนอนโรงพยาบาลได้ 80.8 % สามารถฉีดได้ในกลุ่มอายุ 9-45 ปี
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์เสน่ห์ เจียสกุล ประธานคณะกรรมการป้องกัน และควบคุมการติดเชื้อ รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์ กล่าวว่า มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสูงสุดในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน ด้วยสภาวะอากาศเช่น ฝนตก อุณหภูมิและความชื้นมีผลต่อวงจรชีวิตของยุงลายชนิด Aedes aegypti จึงพบมีการระบาดของโรคสูงสุด ฉนั้นการที่จะป้องกันโรคได้ดีที่สุดจึงควรฉีดวัคซีน ได้รับวัคซีนเร็ว ก็มีภูมิคุ้มกันเร็ว ยิ่งป้องกันโรคได้เร็ว
วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกที่ใช้ในประเทศไทยนี้ได้ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก ซึ่งได้มีการแนะนำให้เริ่มใช้วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา มีความปลอดภัยโดยมีงานวิจัยรองรับถึง 18 งานวิจัย ทำในอาสาสมัครอายุ 9 – 60 ปี ที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม พบว่าวัคซีนมีความปลอดภัยในอาสาสมัครอายุ 9 -60 ปี ปัจจุบันวัคซีนมีการขึ้นทะเบียนแล้วทั้งหมด 13 ประเทศรวมทั้งประเทศไทย วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกเป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ ใช้สำหรับป้องกันโรคไข้เลือดออกที่เกิดจากเชื้อไวรัสเด็งกี่สายพันธุ์ 1, 2, 3 และ 4 ฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ระยะเวลาห่างกัน 0 ,6 , 12 เดือน วัคซีนทำงานโดยการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันซึ่งเป็นระบบการป้องกันของร่างกายโดยธรรมชาติ ให้ร่างกายผลิตแอนติบอดีขึ้นเอง
เนื่องจากระยะเวลาในการเกิดภูมิคุ้มกันในแต่ละคนไม่เท่ากัน โดยประมาณคือหลังจากการได้รับวัคซีนไปแล้ว 2 เข็ม ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี พ.ศ.2563 จะลดอัตราการตายจากโรคไข้เลือดออกลงให้ได้มากกว่าหรือเท่ากับ 50% และลดอัตราการเข้าโรงพยาบาลจากไข้เลือดออกมากกว่าหรือเท่ากับ 25 %
เป็นเวลามากกว่า 20 ปี ในการค้นคว้าและพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออก มีการทำการศึกษาใน 2 ภูมิภาค ที่มีความชุกของโรค 10 ประเทศโดย ทำการศึกษาในคนไข้อายุ 2-14 ปี ในเอเชีย รวม 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม และทำการศึกษาในคนไข้อายุ 9-16 ปีในลาตินอเมริกา ได้แก่ บราซิล โคลอมเบีย ฮอนดูลัส เม็กซิโก เปอโตริโก้ และยังมีการติดตามการศึกษาอย่างต่อเนื่อง