กรุงเทพฯ--22 ธ.ค.--ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2560 จะเผชิญทั้งโอกาสและความท้าทาย เปรียบเหมือนสายรุ้งที่มีทั้งด้านสดใสและด้านอึมครึม จากสีม่วงไปจนถึงสีแดง
ม่วง – การส่งออก l คราม – การลงทุนภาคเอกชน l น้ำเงิน – ครัวเรือนรายได้ระดับล่าง และธุรกิจ SMEs l เขียว – ครัวเรือนรายได้ระดับกลางถึงบน และธุรกิจขนาดใหญ่ l เหลือง – ค่าเงินบาทและอัตราดอกเบี้ยนโยบาย l ส้ม – การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน l แดง – การท่องเที่ยว
จากการที่เศรษฐกิจไทยปี 2559 เผชิญความท้าทายจากเศรษฐกิจภายใน ทั้งภัยแล้งที่กดดันรายได้ภาคเกษตรให้ชะลอลงต่อเนื่อง ทั้งกำลังซื้อระดับฐานรากอ่อนแอ ที่ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมมีปัญหา และรายได้ภาคเกษตรของคนในต่างจังหวัดได้รับผลกระทบต่อเนื่อง แต่ปลายไตรมาส 3 เป็นต้นมา ปัญหาภัยแล้งเริ่มคลี่คลาย รายได้ภาคเกษตรเริ่มขยับขึ้น สนับสนุนให้กำลังซื้อภาคเกษตรโดยรวมปรับตัวดีขึ้น สิ่งที่พอจะเป็นความหวังสำหรับเศรษฐกิจปี 2560 ได้แก่ กลุ่มเอสเอ็มอีที่เริ่มได้รับปัจจัยเชิงบวกมากขึ้น และเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ปัจจัยภายในจะคลี่คลาย แต่ความท้าทายที่ไทยจะเผชิญในปี 2560 จะมาจากภายนอกเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายกีดกันการค้าของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ เศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะชะลอตัวลงต่อเนื่อง ความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนจากโอกาสที่สหรัฐฯจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงราคาน้ำมันที่จะขยับสูงขึ้น เหล่านี้อาจส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศ
ปัจจัยท้าทายเศรษฐกิจไทยปี 2560
1) ปัจจัยท้าทายแรกที่หนีไม่พ้น คือ การส่งออก จากการที่การส่งออกสินค้ามีสัดส่วน 60% ของจีดีพี ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูง แม้ว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ จะไม่ได้มีมาตรการกีดกันทางการค้าโดยตรงกับไทย โดยไทยส่งออกไปสหรัฐราว 11% ของการส่งออกทั้งหมด ซึ่งเชื่อว่าการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯในปีหน้าจะเติบโตต่อเนื่องตามเศรษฐกิจสหรัฐฯที่จะเร่งตัวได้ดี เพียงแต่ต้องจับตาสินค้าส่งออกที่เป็นห่วงโซ่อุปทาน หรือเป็นสินค้าบริโภคที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯมีทีท่าที่จะกีดกันทางการค้ากับจีน ซึ่งอาจทำให้การส่งออกสินค้าของไทยไปยังจีนและอาเซียนโดยรวมอาจจะชะลอได้ เพราะฉะนั้นในปี 2560 จึงยังคงมีความเสี่ยงที่การส่งออกจะติดลบเป็นปีที่ 5 ติดต่อกันยังมีความเป็นได้ เพียงแต่ว่าการติดลบคงไม่ได้รุนแรงมากนัก เพราะไทยยังมีการส่งออกไปยังกลุ่ม CLMV ที่น่าจะเข้ามาช่วยประคับประคองไม่ให้การส่งออกไปอาเซียนโดยรวมติดลบได้แรง เมื่อรวมกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่น่าจะขยับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันที่คาดว่าราคาน้ำมันในปี 2560 น่าจะอยู่ราวๆ 50-55 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งอย่างน้อยก็ยังสูงกว่าปีนี้ และน่าที่จะเป็นผลบวกกับสินค้าส่งออกของไทยที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียม สินค้าที่ราคาเกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน
แม้ TPP จะถูกปรับเปลี่ยนหรือยกเลิก ซึ่งก็ไม่ได้ส่งผลให้ไทยเสียเปรียบด้านการแข่งขันการส่งออก สืบเนื่องจากไทยไม่ได้เข้าร่วมกับ TPP ตั้งแต่ต้น ในทางตรงกันข้าม นโยบายไม่ต้องการ TPP ของประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ กำลังช่วยสลายจุดอ่อนของไทยในเชิงการค้า ซึ่งแต่เดิมนั้นส่งผลให้ไทยเสียความน่าสนใจในการลงทุนให้แก่เวียดนามซึ่งเข้าร่วมกับ TPP ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ขณะเดียวกันไทยและอาเซียนยังคงมีโอกาสในการเดินหน้าด้านความร่วมมือทางการค้า ผ่าน RCEP หรือ อาร์เซป ซึ่งคือความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) ที่เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง ASEAN 10 ประเทศ กับคู่ภาคีที่มีอยู่ 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาขั้นสุดท้าย ก็เป็นอีกหนึ่งความหวังของไทยที่จะช่วยสนับสนุนการขยายการค้าและการลงทุนในภูมิภาค รวมทั้งส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมโยงเศรษฐกิจของอาเซียนเข้ากับเศรษฐกิจโลก (Global Supply Chain) ครอบคลุมมิติการค้าและการลงทุน เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตให้สอดคล้องและมีความสะดวกทางการค้าและการลงทุนมากขึ้น
2.) เป็นห่วงการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งชะลอการลงทุนมาสามปีซ้อน (2556-2558) ส่วนปี 2559 ยังมีความเสี่ยงที่การลงทุนเอกชนอาจติดลบในไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ได้ และอาจจะยังแผ่วลงต่อในปีหน้า เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับไทย คือ ปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่เอกชนไทยหยุดลงทุนมาเป็นเวลานาน กำลังการผลิตยังเหลือ การพัฒนาทักษะแรงงาน นวัตกรรมการผลิต เรื่องการย้ายฐานยังมีอยู่ และเป็นห่วงการก่อสร้าง ที่ยังไม่ฟื้นจากปัญหาอุปทานส่วนเกินที่ยังล้นในหลายๆอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้น ยังเป็นห่วงว่าถ้าภาคเอกชนยังไม่ฟื้นจากความเชื่อมั่นต่อทั้งเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก ก็อาจนำไปสู่ปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งก็เป็นปัญหาเดิมๆของเศรษฐกิจไทย
อย่างไรก็ดี ยังพอมีความหวังอยู่บ้างสำหรับการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะด้านการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ คือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ไปสู่ "Value–Based Economy" หรือ "เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม" หรือประเทศไทย 4.0 โดยมีหัวใจอยู่ที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor Development หรือเรียกย่อ ๆ ว่า EEC เพื่อส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เป็นเครื่องยนต์ใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth)
3.) ขณะที่เศรษฐกิจภูมิภาคส่งสัญญาณขยายตัวได้ต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2559 เป็นต้นมา นำโดยภาคตะวันออกและภาคใต้ ตามแรงขับเคลื่อนของการบริโภคสินค้าและบริการ โดยเฉพาะสินค้าคงทนของผู้มีรายได้น้อย นอกจากนี้ รายได้จากการเยี่ยมเยือนของนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีในเกือบทุกภูมิภาค จะช่วยให้เศรษฐกิจภูมิภาคยังคงมีการขยายตัวต่อเนื่อง แต่ที่ยังน่าเป็นห่วงคือ ครัวเรือนรายได้ระดับล่างและธุรกิจ SMEs แม้ราคาน้ำมันที่ขยับตัวสูงขึ้น จะสนับสนุนมุมมองที่ว่ากำลังซื้อจะขยับขึ้นได้ปีหน้า เพราะโดยปกติราคาน้ำมันจะขยับเคลื่อนไหวไปตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์และสินค้าเกษตร แต่กำลังซื้อคงไม่ได้ขยับขึ้นแรงมากนัก เพราะปัญหาหนี้ครัวเรือนยังสูง จึงกดดันการบริโภคไม่ให้เร่งตัวได้แรงเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แต่เชื่อว่าภาครัฐจะออกมาตรการมากระตุ้นต่อเนื่องเพื่อประคับประคองช่วงที่การบริโภคชะลอตัวได้บ้าง ดังเช่น การออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศในช่วงปลายปีที่ผ่านมาทั้ง โอท็อปช่วยชาติ เที่ยวช่วยชาติ และช้อปช่วยชาติ
สำนักวิจัยมองว่า ภาวะหนี้ครัวเรือนสูงยังกดดันกำลังซื้อของผู้บริโภคโดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมให้อยู่ในระดับต่ำ แม้ภาครัฐมีมาตรการระยะสั้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่ก็คงช่วยชดเชยรายได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เมื่อมองไปข้างหน้า รายได้และความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นตามรายรับจากการท่องเที่ยว แต่อาจต้องรออีกระยะสำหรับรายได้เกษตรกรที่คาดว่าน่าจะฟื้นตัวขึ้นเมื่อผลผลิตของพืชสำคัญกลับเข้าสู่ตลาด
สำหรับทางออกสำหรับกลุ่ม SMEs ขอแนะนำกลุ่มใช้แรงงานเข้มข้นหรือใช้เทคโนโลยีไม่สูง อาจจะมีการเตรียมตัวย้ายฐานไปกลุ่ม CLMV ต่อเนื่อง แนะนำว่าธุรกิจขนาดใหญ่ก็ไปลงทุนแล้ว กลุ่ม SMEs น่าจะจับกลุ่มกันไปเป็นคลัสเตอร์และเป็นห่วงโซ่อุปทานให้ธุรกิจขนาดใหญ่ และเข้าไปลงทุนอย่างเป็นพันธมิตร เชื่อว่าจะเป็นทางออกให้ธุรกิจได้ หรือถ้าไม่ย้ายฐานก็ต้องมีการอัพเดทเทคโนโลยี หรือมีการพัฒนาเทคโนโลยีให้สูงขึ้น เพื่อเชื่อมห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจขนาดใหญ่ได้ หรืออาจมองตลาดใหม่ที่มีโอกาสในการเติบโตได้ ซึ่งได้แก่ ตลาดอินเดีย ตลาดออสเตรเลีย หรือตลาดประเทศในแถบตะวันออกกลาง ที่จะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ขยับตัวขึ้น ยังมองว่าเป็นโอกาสสำหรับเอกชนไทยในการหาตลาดใหม่ เพื่อมาชดเชยการกีดกันทางการค้าที่จะมีมากขึ้นในตลาดโลก
4.) ครัวเรือนรายได้ระดับกลางถึงบน และธุรกิจขนาดใหญ่ มองว่ากลุ่มผู้มีรายได้ประจำที่น่าจะได้รับประโยชน์จากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ การงานมั่นคง กำลังซื้อจึงยังอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่น่าจะฟื้นตัวได้เร็วกว่ากลุ่มเอสเอ็มอี แต่การฟื้นตัวจะแตกต่างกัน ที่น่าจับตาคือ เอกชนไทยจะมีการย้ายฐานเข้าและออก กลุ่มที่ย้ายฐานออกคือ กลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้น โดยอาจจะไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ต้องย้ายออกไปเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและการส่งออก แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมรับมือกลุ่มที่ย้ายเข้ามาในประเทศในปี 2560 เช่นกัน จากปัจจัยสำคัญได้แก่ การที่ถ้าสหรัฐไม่ร่วมทำ TPP จะส่งผลให้โอกาสสำหรับประเทศไทยในการจะรับมือนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาในประเทศ และจะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่มีนวัตกรรมหรือมีประสิทธิภาพในการผลิตสูง ซึ่งไม่สามารถที่จะลงทุนในกลุ่ม CLMV ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเหล่านั้น แม้แต่อุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วน ที่จะได้รับอานิสงส์ด้วย ซึ่งเดิมไทยขาด FDI เป็นเวลาหลายปี แต่หลังจากนี้ มองว่าจะได้เห็น FDI ใหม่เข้ามา โดยเฉพาะที่ย้ายฐานมาจากจีน หรือมาเลเซีย สิงคโปร์ ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสดีในการลงทุนแต่น่าจะเริ่มชัดเจนมากขึ้นในช่วงกลางปีหน้าเป็นต้นไป
5.) ด้านค่าเงินบาท มีโอกาสที่จะอ่อนค่าต่อเนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐเกิดเงินไหลออก และสิ่งสำคัญปีหน้าเกิดความผันผวนจากภายนอกสูงไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทางด้านยุโรปที่อาจจะมีความเสี่ยงจากการที่บางประเทศมีการเลือกตั้ง เช่น ฝรั่งเศสและเยอรมนี ซึ่งอาจจะนำไปสู่คาดการณ์ที่จะมีการออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งตรงนี้เองจะเป็นประเด็นต่อเนื่องหลังจากอังกฤษ ที่คาดว่าจะเริ่มกระบวนการทางกฎหมายที่จะออกจากสหภาพยุโรปในเดือนมีนาคม ซึ่งหลังจากมีนาคมจะมีแรงกดดันต่อตลาดเงินตลาดทุนให้ผันผวนได้ มองว่าความหวังของเศรษฐกิจปี 2560 ตัวขับเคลื่อนหลักๆยังเป็นการลงทุนภาครัฐและการท่องเที่ยว ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อเนื่อง
สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนั้น แม้สหรัฐฯจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยปีหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะปรับขึ้นสองครั้งในช่วงกลางปีและปลายปี แต่ก็คาดว่าอัตราดอกเบี้ยไทยจะคงที่ต่อเนื่องตลอดทั้งปีหน้า เงินบาทอาจอ่อนค่า และมีเงินไหลออกไป แต่ก็น่าจะช่วยสนับสนุนผู้ส่งออกผ่านเงินบาทที่อ่อนค่ามากกว่า
6.) สำนักวิจัยมองว่าโครงการเมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่จะกระตุ้นให้ภาคเอกชนลงทุนตาม การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐหลายโครงการที่กำลังก่อสร้างและคาดว่าจะทยอยประมูลและเริ่มการก่อสร้างมากขึ้นในปี 2560 อาทิ รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า และมอเตอร์เวย์ จะส่งผลเชิงบวก (Crowding In Effect) ต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม โดยในระยะสั้นจะช่วยให้เกิดการจ้างงานและส่งผลดีต่อกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมไปถึงกลุ่มผู้ค้าวัสดุก่อสร้างทั่วประเทศทั้งผู้ผลิตและผู้จำหน่ายวัสดุก่อสร้างในประเภทปูนซิเมนต์ เสาเข็ม หิน ทราย เหล็ก เป็นต้น ขณะที่ในระยะถัดไป การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และช่วยหนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศให้กลับมาลงทุนมากขึ้น
สำนักวิจัยฯมองว่า ถ้าความเชื่อมั่นฟื้น และนโยบายภาครัฐในการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่บรรลุผลได้ จะเป็นผลดีให้ความเชื่อมั่นของเอกชนฟื้น และเอกชนน่าจะกลับมาลงทุน โดยคาดว่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปี 2560 ตามความเชื่อมั่นที่ฟื้นจากนโยบายภาครัฐ และจากเศรษฐกิจโลกที่น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นปีใน 2560 แม้การลงทุนภาครัฐจะยังคงขยายตัวได้ดี แต่อาจขยายตัวช้าลงบ้างจากปีนี้ เพราะมาจากฐานที่สูงขึ้น และจากนโยบายที่จะเน้นโครงการขนาดใหญ่ มากกว่าขนาดเล็ก ซึ่งโครงการขนาดใหญ่จะสามารถกระตุ้นความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคเอกชนได้ จากการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแนวทางการก่อสร้าง และจากต้นทุนการขนส่งที่ลดลง
7.) ด้านที่มีความสดใสที่สุดคงหนีไม่พ้นด้านการท่องเที่ยว ที่ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อีกปี โดยรายได้จากการท่องเที่ยวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ แม้นักท่องเที่ยวจากจีนมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลง แต่คาดว่านักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรปโดยเฉพาะจากรัสเซียจะมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี แม้การท่องเที่ยวในปีหน้าจะยังคงสดใส แต่ไม่ใช่ว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะดีไปทั้งหมด ประเทศไทยยังมีปัญหาราคาห้องพักต่ำ อัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นก็เพียงเล็กน้อย แสดงให้เห็นถึงการแข่งขันที่รุนแรง โดยปัจจัยสำคัญมาจากอุปทานส่วนเกินของห้องพัก โดยเฉพาะโรงแรมระดับ 3 ดาวลงมาที่มีมาก นักลงทุนจึงควรระมัดระวังในส่วนนี้ด้วย ที่ดีอาจจะเป็นอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เช่นการขนส่ง ร้านอาหาร และสถานบันเทิง
คาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2560
แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะมีทิศทางขยายตัวต่อเนื่องแต่อัตราการขยายตัวจะอยู่ในระดับที่ไม่ได้เร่งแรงมากนัก สำนักวิจัยมองว่าการขยายตัวเช่นนั้น ยังต้องอาศัยดอกเบี้ยที่ต่ำในการประคับประคองเศรษฐกิจได้อยู่ จึงคาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะคงที่ตลอดทั้งปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่แนะนำผู้ประกอบการเพิ่มความระมัดระวัง เพราะแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยไม่ได้ขยับแต่การระดมทุนผ่านตลาดเงินตลาดทุนอาจจะต้องมีการเตรียมตัวเพราะว่าต้นทุนทางการเงินอาจจะขยับสูงขึ้น เพื่อให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรขยับตัวสูงขึ้น จากเงินทุนที่ไหลออก สภาพคล่องที่เริ่มตึงตัวมากขึ้น เพราะฉะนั้นต้องเริ่มเตรียมตัวในการระดมทุนผ่านตลาดพันธบัตรให้เร็ว เพื่อจะได้ระดมทุนด้วยต้นทุนถูกลง เพราะถ้ารอนานเกินไปต้นทุนจะสูงขึ้นได้
โดยสรุป เศรษฐกิจไทยในปี 2559 น่าจะเติบโตได้ราว 3.3% ส่วนปี 2560 ได้มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจลงจาก 3.5% เหลือ 3.2% โดยสาเหตุหลักมาจากความเสี่ยงตลาดโลกเป็นหลัก แม้ว่าเศรษฐกิจในประเทศจะฟื้นตัวได้บ้างจากการบริโภคแต่ก็ไม่อาจชดเชยแรงกดดันจากภายนอกได้ สุดท้ายนี้ หากจะเปรียบเศรษฐกิจไทยปีหน้าที่อาจเผชิญทั้งความสดใสและความท้าทายก็อาจเปรียบเหมือนสายรุ้งที่มีสีทั้งด้านอึมครึม และด้านสดใส จากสีม่วงไปจนถึงสีแดง ซึ่งเราต้องพร้อมรับมือกับปีไก่สายรุ้งนี้ให้ดี