กรุงเทพฯ--22 ธ.ค.--เทศบาลตำบลโนนสูงเปลือย
นายจรูญ เกลียวทอง นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลโนนสูงเปลือย จังหวัดหนองบัวลำภู เปิดเผยว่า ตามที่กรมปศุสัตว์มีนโยบายอาหารปลอดภัยสู่ผู้บริโภค โดยคำนึงถึงการผลิตเนื้อสัตว์คุณภาพ และมุ่งยกระดับมาตรฐานตลอดกระบวนการผลิต ตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ จนถึงโรงฆ่าสัตว์ และการจำหน่ายถึงมือผู้บริโภค ณ จุดขายที่มีความสะอาดปลอดภัยนั้น จังหวัดหนองบัวลำภู ตระหนักดีในความสำคัญของอาหารปลอดภัย จึงเร่งเดินตามนโยบายดังกล่าวเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
โดยในขั้นตอนของโรงฆ่าสัตว์ ซึ่งเป็นส่วนที่เทศบาลตำบลโนนสูงเปลือย เป็นผู้บริหารจัดการนั้น เทศบาลฯ ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทั่วไปเข้ามาร่วมปรับปรุงโรงฆ่าสัตว์ ณ เทศบาลตำบลโนนสูงเปลือย อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อสร้างโครงการนำร่อง "โรงฆ่าสัตว์มาตรฐานเต็มรูปแบบ" ขึ้นสำหรับเป็นต้นแบบให้โรงฆ่าสัตว์ของรัฐในพื้นที่อื่นๆในภาคอีสานได้ใช้เป็นแนวทางพัฒนาต่อไป
"โรงฆ่าสัตว์มาตรฐานเต็มรูปแบบ จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและมีงบประมาณลงทุนเพื่อพัฒนาห้องแช่เย็นที่จะรักษาอุณหภูมิเนื้อสัตว์ ก่อนส่งออกไปยังจุดจำหน่ายด้วยรถขนส่งควบคุมอุณหภูมิ ทางเทศบาลจึงเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่รัฐกำหนด" นายจรูญ เกลียวทอง กล่าวและว่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับมาตรฐานกรมปศุสัตว์ (ฆจส.2) 249 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นของเทศบาล / อบต. อยู่จำนวน 126 แห่ง และโรงฆ่าสัตว์แห่งนี้ก็เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของหน่วยงานในภูมิภาคที่จะยกระดับมาตรฐานเนื้อสัตว์ปลอดภัยสู่ผู้บริโภค หรือ "ปศุสัตว์ OK" ตามนโยบายของกรมปศุสัตว์
ทั้งนี้ ภาคเอกชนจะลงทุนงบประมาณเพื่อปรับปรุงพื้นที่ในมูลค่า 15-20 ล้านบาท ทั้งสร้างตัวอาคาร การจัดสร้างตู้แช่เย็นเพื่อรักษาอุณหภูมิ 0-4 องศาเซลเซียส โดยทรัพย์สินที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ จะยกให้เป็นของรัฐทั้งหมด นอกจากนี้ โรงฆ่ามาตรฐานดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในพื้นที่เข้ามาชำแหละสุกรได้ในอัตราเดิม นับเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายย่อยในภาคอีสานด้วย ซึ่งสุกรที่นำเข้ามาชำแหละนี้จะได้รับตรวจสอบสารตกค้าง โดยต้องไม่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง ตามมาตรฐานของกรมปศุสัตว์ ถือเป็นประโยชน์อย่างมากต่อความปลอดภัยในอาหารของประชาชน ขณะที่รัฐยังคงได้รับประโยชน์ด้านอาญาบัตรฆ่าสุกรที่ตัวละ 28 บาทอีกด้วย
"การที่รัฐเปิดให้ภาคเอกชนเข้าร่วมดำเนินการโรงฆ่าสัตว์ เพื่อการยกระดับความปลอดภัยทางอาหารให้แก่ผู้บริโภคในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่รัฐยังกำกับดูแลการให้บริการผู้ประกอบการรายย่อยด้วยอัตราค่าชำแหละสุกรในระดับราคาเดิม ซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลกระทบใดๆกับผู้ประกอบการที่มีการเลี้ยงอย่างถูกต้อง ปลอดการใช้สารเร่งเนื้อแดงตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด" นายจรูญ เกลียวทอง กล่าวทิ้งท้าย