กรุงเทพฯ--22 ธ.ค.--WWF –Thailand
งูหัวสีสายรุ้งเหลือบเงิน ตุ๊กแกรูปร่างหน้าตาคล้ายมังกร และกะท่างหรือจิ้งจกน้ำ ซึ่งมีจุดเด่นคือผิวหนังที่นูนเป็นปุ่มเรียงยาว เหล่านี้คือ 1 ใน 3 สัตว์ชนิดพันธุ์ใหม่ในบรรดา 163 ชนิดพันธุ์ที่พบในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง โดยจากรายงาน สิ่งมหัศจรรย์ใหม่แห่งลุ่มน้ำโขง (Species Oddity) ฉบับล่าสุดของ WWF เผยให้เห็น การค้นพบอันน่าตื่นเต้นของทีมนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งทำงานวิจัยในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ทั้งนี้ สามารถแบ่งสิ่งมีชีวิตที่ค้นพบใหม่ออกได้เป็น สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 9 ชนิดพันธุ์ ปลา 11 ชนิดพันธุ์ สัตว์เลื้อยคลาน 14 ชนิดพันธุ์ พืช 126 ชนิดพันธุ์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีก 3 ชนิดพันธุ์ โดยพื้นที่ที่ค้นพบได้แก่ ประเทศกัมพูชา ประเทศลาว ประเทศพม่า ประเทศเวียดนาม และประเทศไทย
การสำรวจซึ่งดำเนินการโดย WWF เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน รวมจำนวนสัตว์และพืชสายพันธุ์ใหม่ที่ค้นพบทั้งหมดในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง มีจำนวนมากถึง 2,409 ชนิดพันธุ์
Jimmy Borah ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์สัตว์ป่าของ WWF ประจำภูมิภาคลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า "พื้นที่ลุ่มน้ำโขง เปรียบเสมือนสนามแม่เหล็กที่ดึงดูดนักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์จากทั่วโลก ให้เข้ามาสำรวจและศึกษาถึง ความหลากหลายทางชีวภาพอันน่ามหัศจรรย์ในพื้นที่ นักวิทยาศาสตร์เองก็เป็นเหมือนวีรบุรุษผู้อยู่เบื้องหลัง เพราะต้องทำงานอย่างหนักเพื่อแข่งขันกับเวลาที่เหลือน้อยลง และเพื่อช่วยอนุรักษ์สัตว์หายากเหล่านี้"
จุดเด่นที่น่าสนใจของรายงาน สิ่งมหัศจรรย์ใหม่แห่งลุ่มน้ำโขง (Species Oddity) มีดังนี้
• งูหัวสีสายรุ้งเหลือบเงิน หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Parafimbrios สามารถพบได้ตามพื้นที่หน้าผาที่สูงชันทางตอนเหนือของประเทศลาว โดยมีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า สามารถพบงูชนิดดังกล่าวได้เพียงพื้นที่เดียว แต่จากการค้นพบล่าสุด พบว่ามีงูหัวสีสายรุ้งเหลือบเงินอยู่ในพื้นที่อื่นด้วยเช่นกัน ซึ่งสร้างความหวังให้กับนักวิทยาศาสตร์ถึงโอกาสการอยู่รอดที่มากขึ้น
· กิ้งก่าเขาหนามภูเก็ต หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ Acanthosaura phuketensis มีจุดเด่นคือแผงหนามยาวจากหัวถึงกลางสันหลัง สามารถพบได้ในป่าของจังหวัดภูเก็ต ปัจจุบันจำนวนมีจำนวนลดลง โดยมี สาเหตุจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยและตกเป็นเหยื่อของการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย
· กล้วยศรีน่าน หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ Musa nanensis เป็นกล้วยพันธุ์หายาก สามารถพบได้ทางภาคเหนือของประเทศไทย แต่จากปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าที่มากขึ้นส่งผลให้กล้วยศรีน่านอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
· อึ่งขนาดเล็กซึ่งมีขนาดลำตัวยาวเพียง 3 เซนติเมตร หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ Leptolalax isos สามารถพบได้ในประเทศกัมพูชาและประเทศเวียดนาม แต่จากสถานการณ์การทำป่าไม้ การขยายพื้นที่เกษตรกรรม และการก่อสร้างโครงการพลังงานน้ำขนาดใหญ่ ทำให้จำนวนของอึ่งชนิดพันธุ์ดังกล่าวมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง
· กะท่าง หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ Tylototriton anguliceps มีลักษณะเด่นคือ ผิวหนังสีส้มสลับดำที่นูนขึ้นมาเป็นทางยาว โดยสามารถพบได้ในจังหวัดเชียงราย ผิวหนังส่วนที่นูนขึ้นมานี้มีความอ่อนไหวอย่างมากต่อสารกำจัดศัตรูพืช และปัจจุบันกะท่างกำลังอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งมีสาเหตุมาจากแหล่งที่อยู่อาศัยที่ถูกทำลายลง
· ตุ๊กแก หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ Gekko bonkowskii มีลักษณะเด่นคือ ส่วนหางจะเป็นปล้องสีฟ้าอ่อนสลับปล้องสีดำ สามารถพบได้ตามเทือกเขาที่ห่างไกลในประเทศลาว นักวิทยาศาสตร์ซึ่งศึกษาและสำรวจหินย้อยภายในถ้ำเป็นผู้ค้นพบตุ๊กแกชนิดพันธุ์ดังกล่าว การค้นพบครั้งนี้ เชื่อกันว่าอาจเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความเข้าใจที่มากขึ้นถึงวัฒนาการของสัตว์เลื้อยคลานในบริเวณเทือกเขาอันนัม
· ดอกไม้ ซึ่งมีลักษณะพิเศษที่มีวงกลีบเลี้ยง 2 ด้านยื่นขึ้นมาด้านข้างคล้ายกับหูของตัวการ์ตูนมิกกี้ เม้าส์หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า kingdon-wardii โดยสามารถพบได้บริเวณยอดเขาวิกตอเรีย ซึ่งตั้งอยู่บนแนวเทือกเขาชิน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศพม่า การค้นพบนี้สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของประเทศพม่า ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับการปกป้อง
· ค้างคาว ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือมีขนาดเล็กและมีขนหนาปกคลุมหัวและช่วงแขนด้านหน้า หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ Murina kontumensis สามารถพบได้บนที่ราบสูงตอนกลางของประเทศเวียดนาม
ปัจจุบัน ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างมากจากกระแสการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการทำเหมือง การสร้างถนน ไปจนถึงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ รวมไปถึงปัญหาการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ซึ่งกำลังคุกคามความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่หลายหมื่นหลายพันให้อาจต้องสูญหายไปก่อนจะได้รับการค้นพบ
"นักสะสมสัตว์ป่าและพืชพันธุ์ที่หายาก ยินยอมจ่ายเงินจำนวนหลายล้านบาท เพื่อให้ได้ครอบครองสัตว์ป่าและพืชพันธุ์ที่มีคุณค่าเหล่านี้ ตลาดใหญ่ที่สำคัญคือบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างประเทศจีน ประเทศลาว ประเทศไทย และประเทศพม่า เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาและปรับการทำงานเพื่อปิดตลาดการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ให้หมดไป รวมไปถึงปิดฟาร์มเพาะเลี้ยงเสือและหมี ที่คอยป้อนสัตว์ให้กับตลาดค้าสัตว์ป่า" Jimmy Borah ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม
เมื่อเร็ว ๆ นี้ WWF ได้นำเสนอ โครงการ เพื่อหยุดยั้งการค้าขายสัตว์ป่าและปิดตลาดค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเป็นการทำงานร่วมกับพันธมิตรจากประเทศต่าง ๆ WWF มีปณิธานที่ชัดเจนว่าจะลดจำนวนการค้าสัตว์ป่า ซึ่งกำลังคุกคามความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น ช้าง เสือ และแรด ผ่านการทำงานสนับสนุนกลไกด้านกฎหมาย การประสานความร่วมมือระหว่างชายแดน และการเพิ่มมาตรการกดดันการซื้อขายสินค้าจากสัตว์ป่าข้ามชายแดนให้เข้มข้นมากขึ้น
ข้อมูลเพิ่มเติม
· รายงานภาษาอังกฤษฉบับเต็ม สามารถดาวน์โหลดได้ที่ http://www.panda.org/species_oddity
· สำหรับภาพ คำบรรยายประกอบภาพ และเครดิตภาพ สามารถดาวน์โหลดได้ที่ http://bit.ly/2hrMsOt
· ในทางปฏิบัติ มีการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ใหม่มาตั้งแต่ปี 2558 แต่วิธีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ จำเป็นต้องมีการยืนยันชนิดพันธุ์ของพืชและสัตว์อย่างเป็นทางการและการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญอีกครั้งหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ ระยะเวลาระหว่างการค้นพบในขั้นต้นกับการประกาศอย่างเป็นทางการในรายงานจึงมีช่วงเวลาที่ห่างกันค่อนข้างมาก
· รายงาน สิ่งมหัศจรรย์ใหม่แห่งลุ่มน้ำโขง (Species Oddity) ฉบับนี้ นับเป็นฉบับที่ 8 โดยเน้นที่การค้นพบสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับรายก่อนฉบับก่อนหน้า ไปที่http://bit.ly/2hwTMF5