เชิญร่วมงานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต 16-25 ตุลาคม 2544

ข่าวทั่วไป Wednesday October 3, 2001 11:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--ททท.
ประเพณีกินผัก (เจียะฉ่าย) เริ่มเป็นครั้งแรกที่อำเภอกะทู้ ในปี พ.ศ. 2368 พระยาถลาง (เจิม) ได้ย้ายเมืองถลางมาตั้งที่บ้านเก็ตโฮ่ซึ่งอุดมไปด้วยแร่ดีบุก แต่บริเวณดังกล่าวเป็นป่าทึบ มีไข้ป่าชุกชุม ดังนั้น เมื่อมีคณะงิ้วเร่ (ปั่วฮี่) จากเมืองจีนมาเปิดการแสดงและเกิดล้มเจ็บลง คณะงิ้วจึงได้ประกอบพิธีกินผักขึ้นเพื่อบวงสรวงเทพเจ้า "กิ๋วอ๋องไต่เต" และ "ยกอ๋องซ่งเต" หลังจากนั้นปรากฏว่าโรคภัยไข้เจ็บได้หมดไป ชาวกะทู้สอบถามได้ความเช่นนั้นเกิดศรัทธา จึงประกอบพิธีกินผักขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 รวม 9 วัน 9 คืน เพื่อความเป็นมงคลแก่ตนเองและบ้านเมือง ต่อมามีผู้รู้รับอาสาไปอัญเชิญเหี่ยวโห้ยหรือเหี่ยวเอี้ยน (ควันธูป) และเลี่ยนตุ่ย (ป้ายชื่อ) พร้อมทั้งคัมภีร์ต่าง ๆ ที่ใช้ในพิธีกินผักที่มณฑลกังไส ประเทศจีนและได้เดินทางกลับมาถึงในวันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 9 เมื่อชาวบ้านทราบข่าวจึงได้จัดขบวนไปรับที่บ้านบางเหนียวอันเป็นกำเนิดของพิธีรับพระนั่นเอง ในพิธีกินผักนั้น ช่วงบ่ายก่อนวันพิธีหนึ่งวันจะมีพิธียกเสาโกเต้งไว้หน้าศาลเจ้าเพื่อประกอบพิธีอัญเชิญเจ้า "ยกอ๋องซ่งเต" (พระอิศวร) และ "กิ๋วอ๋องไต่เต" (ผู้เป็นใหญ่ทั้งเก้า) มาเป็นประธานในพิธี และจะนำตะเกียง 9 ดวง ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มพิธีไว้บนเสาโกเต้งเวลาเที่ยงคืน นอกจากนี้ตลอด 9 วันของพิธีกินผัก จะมีพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น พิธีอัญเชิญ ลำเต้า-ปักเต้า (เทวดาผู้กำหนดเวลาเกิดและตาย) พิธีอิ้วเก้ง (พิธีแห่พระ) พิธีอาบน้ำมัน ขึ้นบันไดมีด พิธีโก้ยโห้ย (ลุยไฟ) พิธีโก้ยห่าน (สะเดาะเคราะห์) ตลอดจนการทรงพระ ซึ่งเป็นการอัญเชิญเจ้ามาประทับในร่างของม้าทรงและแสดงอิทธิฤทธิ์ด้วย การทรมานร่างกายในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งนี้ก็เพื่อรับทุกข์แทนผู้ถือศีลกินผักและเพื่อความเป็นสิริมงคล แก่บ้านเมือง กล่าวกันว่าผู้ที่จะเป็นม้าทรงได้มีอยู่ด้วยกัน 2 กรณีคือ ผู้ที่ชะตาขาดแต่ยังไม่ถึงฆาต ดังนั้น การเป็นม้าทรงจึงเปรียบเสมือนการต่ออายุขัย อีกกรณีคือผู้ที่พระเห็นว่าเหมาะสมเนื่องจากประพฤติตัวอยู่ในศีลธรรม และในระหว่างเทศกาลจะมีการประโคมด้วยกลอง ล่อโก๊ะ และจุดประทัด โดยเฉพาะในวันส่งพระซึ่งถือเป็นวันสิ้นสุดของพิธีกินผัก ทั้งนี้ด้วยความเชื่อว่าเสียงดังจะทำให้สิ่งชั่วร้ายหมดไป สำหรับผู้เข้าร่วมพิธีกินผักนั้น นอกจากจะได้รับผลบุญและความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองแล้ว ยังทำให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง จิตใจมีเมตตาไม่ฆ่าสัตว์ ละเว้นอบายมุขทั้งปวง อันก่อให้เกิดความสะอาด สว่าง สงบในจิตใจ
ข้อควรปฏิบัติ 10 ประการสำหรับผู้ถือศีลกินผัก
1. ชำระร่างกายให้สะอาดตลอดช่วงงานประเพณีถือศีลกินผัก
2. ทำความสะอาดเครื่องครัวและแยกใช้คนละส่วนกับผู้ที่ไม่ได้ถือศีลกินผัก
3. ควรสวมชุดขาวตลอดช่วงงานประเพณีถือศีลกินผัก
4. ประพฤติตนดีทั้งกายและใจ
5. ห้ามบริโภคเนื้อสัตว์
6. ห้ามมีเพศสัมพันธ์ในช่วงงานประเพณีถือศีลกินผัก
7. ห้ามดื่มสุราและของมึนเมา
8. ผู้ที่อยู่ระหว่างไว้ทุกข์ไม่ควรร่วมงานประเพณีถือศีลกินผัก
9. หญิงมีครรภ์ไม่ควรดูพิธีกรรมใด ๆ ในช่วงงานประเพณีถือศีลกินผัก
10. หญิงมีประจำเดือนไม่ควรร่วมพิธีกรรมใด ๆ ในช่วงงานประเพณีถือศีลกินผัก--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ