กรุงเทพฯ--23 ธ.ค.--ไอแอมพีอาร์
"ขยะ" เป็นปัญหาของสังคมไทยในทุกระดับทั้งชุมชนเมืองหรือสังคมชนบท ถ้าหากขาดการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งเรื่องของการจัดเก็บและกำจัดอย่างถูกวิธีแล้ว ก็จะนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ อย่างมากมายที่ล้วนแต่กระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคม
"ชุมชนป้อมหก" ซึ่งเป็นชุมชนแออัดริมทางรถไฟหน้าโรงพยาบาลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่ในอดีตถูกตราหน้าว่าเป็น "สลัม" และมีภาพลักษณ์ในทางที่ไม่ดีในทุกๆ ด้านมานานหลายปี แต่ภาพในเชิงลบเหล่านี้ได้ถูกลบหายไปในระยะเวลาไม่ถึง 5 ปี เมื่อชุมชนแห่งนี้ได้นำ"ขยะ" ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของชุมชนมาใช้เป็นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนให้ชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในชุมชนแห่งนี้ดีขึ้น
จาก "โครงการแนวทางร่วมสร้างชุมชนป้อมหกให้น่าอยู่" ที่เกิดขึ้นปี 2555-2556 และได้ถูกขยายผลต่อเนื่องมาจนเป็นปีที่ 2 ในชื่อว่า "โครงการแนวทางร่วมสร้างชุมชนป้อมหกให้น่าอยู่ปีที่ 2 : ป้อมหก Eco Planet ปฏิบัติการชุมชนรักษ์โลก(ต่อเนื่อง)" ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้หยิบยกเอาปัญหาขยะมาสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นต่อชุมชนในทุกๆ ด้าน เกิดการประสานความสัมพันธ์ของสมาชิกในชุมชน จนขยายผลนำไปสู่การทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านอื่นๆ ได้อย่างต่อเนื่อง
น.ส.คณิชชา ผอมเอียด ผู้รับผิดชอบโครงการฯเล่าว่า ในอดีตชุมชนแห่งนี้เคยถูกขนานนามว่าเป็น "ชุมชนมักง่าย" บ้านไหนมีขยะก็จะขว้างเหวี่ยงโยนออกมากองทิ้งไว้ฝั่งตรงข้ามบ้านของตนเอง นานวันเข้าก็สะสมเป็นภูเขาขยะส่งกลิ่นเน่าเหม็น ตกกลางคืนก็มีหนูจำนวนมากออกมาเต้นระบำวิ่งเล่นกันบนกองขยะ พอมากขึ้นบางบ้านก็แก้ปัญหาด้วยการเผา ทำให้ชุมชนแห่งนี้กลายเป็นชุมชนในหมอก(ควัน)
"จากปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งเชื่อว่าไม่มีใครอยากเห็นภาพเช่นนี้ รวมไปถึงสรรพนามที่คนอื่นๆ กล่าวขานถึงชุมชนในเชิงลบ ทำให้เกิดแรงกระตุ้นที่อยากจะแก้ไขปัญหา ประกอบกับทาง สสส. เปิดโอกาสให้ได้พัฒนาโครงการและหาแนวทางการสร้างชุมชนให้น่าอยู่ จึงเป็นที่มาของวาระแห่งชุมชนป้อมหกที่ทุกบ้านเห็นตรงกันในเรื่องการจัดการปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อม"
จากจุดเริ่มต้นก็ได้เกิดเป็นข้อตกลงหรือกติการ่วมกันของชุมชน เช่น การจัดเก็บทิ้งเป็นเวลา การนำขยะใส่ถุงแล้วมัดปากถุงให้แน่นก่อนทิ้ง มีการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง มีการนำขยะอินทรีย์จากครัวเรือนไปเพาะเลี้ยงไส้เดือน ทำน้ำหมักชีวภาพ มีแปลงปลูกผักของชุมชนฯลฯ รวมไปถึงสร้างแรงจูงใจให้คนอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมกับสิ่งที่แกนนำทำอยู่เช่น กิจกรรมขยะแลกไข่ ตลาดนัดขยะ ทอดผ้าป่าขยะ เป็นต้น
ลองผิดลองถูก คิดและพัฒนากิจกรรมต่างๆ กับสมาชิกในชุมชน เสาะแสวงหาแนวทางสร้างความร่วมมือขึ้นมาตามลำดับจนเกิดเป็น "ธนาคารขยะ" และต่อยอดมาจนถึง "กองทุนขยะสร้างสุข" ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันเพื่อเป็นสวัสดิการในด้านต่างๆ ให้กับสมาชิกและลูกหลานของคนในชุมชน
โดยผลการดำเนินงานของธนาคารขยะในปี 2557 มีการคัดแยกและซื้อขายขยะ 332 กิโลกรัม และเพิ่มขึ้นเป็น 616 กิโลกรัมในปี 2558 โดยล่าสุดในปี 2559 ปริมาณขยะที่ถูกจัดเก็บโดยเทศบาลนครหาดใหญ่ของชุมชนยังลดลงถึงร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับปีแรกที่เริ่มทำโครงการ ซึ่งนอกจากปริมาณขยะในชุมชนจะลดลงอย่างเห็นได้ชัดแล้ว สภาพแวดล้อมของชุมชนก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เพราะสมาชิกในชุมชนป้อมหกเกิดจิตสำนึกในการจัดการขยะที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาของชุมชนร่วมกัน
นางสมพร จันทรวงศ์ หนึ่งในแกนนำที่นอกจากจะร่วมขับเคลื่อนโครงการแล้ว ยังเปิดบ้านเป็นพื้นที่เรียนรู้ของเด็กๆ ในชุมชนเพื่อให้เกิดการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เล่าว่าจากการทำงานมาอย่างต่อเนื่องทำให้ปริมาณขยะในชุมชนลดลง คนในชุมชนรู้จักวินัยในการออม มองเห็นประโยชน์และคุณค่าของขยะ อย่างกิจกรรมขยะแลกไข่นั้น นอกจากจะทำให้ท้องอิ่มแล้ว ยังเกิดวินัยและเรียนรู้ในเรื่องการคัดแยกขยะไปในตัว
"การรู้จักคัดแยกขยะทำให้หลายครอบครัวสามารถเลี้ยงชีพได้ในปัจจุบัน ด้วยการมีอาชีพเก็บขยะขาย ซึ่งแม้จะดูต้อยต่ำแต่ก็เป็นอาชีพสุจริตที่สามารถสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในครอบครัวได้"
นางสมหมาย นิลโชติ หนึ่งในแกนนำเล่าถึงกองทุนขยะสร้างสุขของชุมชนแห่งนี้ว่า นอกจากทำให้มีรายได้จากการขายขยะประมาณ 200-300 บาทต่อสัปดาห์แล้ว กองทุนแห่งนี้ยังมีเงินสวัสดิการสำหรับสมาชิกที่เสียชีวิตถึงรายละ 3,000 บาท และมีเงินหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน
"ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือชุมชนของเราสะอาดขึ้น แต่ละบ้านก็จะตกแต่งหน้าบ้านให้น่าปลูกต้นไม้ดอกไม้ คนในชุมชนสามัคคีกันมากขึ้น มีแปลงผักสวนครัวที่ทุกคนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้"
"ทุกบ้านที่เข้าร่วมโครงการจะมีถุงคัดแยกขยะตั้งอยู่หน้าบ้าน เมื่อถึงเวลาก็จะมาช่วยกันคัดแยกประเภทขยะก่อนที่จะส่งขาย กำไรที่ได้จากการขายก็เก็บไว้เป็นทุนหมุนเวียนและสวัสดิการให้กับชุมชน วันนี้คนภายนอกก็มองชุมชนของเราดีขึ้น ภาพที่ไม่ดีต่างๆ ก็เริ่มหายไป เราไม่ใช่สลัมเพราะวันนี้เราพัฒนาแล้ว" นางสาวเจริญรัตน์ ศิรินุพงศ์ กรรมการชุมชนเล่าอย่างภูมิใจ
ระยะเวลากว่า 5 ปีที่ชุมชนแห่งนี้ได้พยายามปรับเปลี่ยนตนเอง และร่วมกันลบภาพ "สลัม" ออกไปจากสายตาของคนทั่วไปนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้เพียงชั่วข้ามคืน แต่เกิดขึ้นจากการที่ทุกครัวเรือนได้รับการสื่อสารประชาสัมพันธ์ พูดคุย อบรมให้ความรู้ การหากิจกรรมตามที่แต่ละคนถนัดให้ได้เข้ามามีส่วนร่วม จนเกิดการรับรู้ เกิดความเข้าใจในกติกา และเปลี่ยนจาก "วิธี" ไปสู่ "วิถี" การปฏิบัติจนเป็นกิจวัตรประจำวัน
"อยากจะฝากไปกับชุมชนใกล้เคียงหรือชุมชนอื่นๆ ถึงการมองความฝันที่ไกลและยิ่งใหญ่ มันเป็นสิทธิ์ของชุมชนนั้นอยู่แล้ว ฝันไปเลยแล้วก็หาทางเดินไป แม้จะพลาดพลั้งบ้างไม่เป็นไร นั่นคือบทเรียนที่ต้องเรียนรู้ มันไม่ใช่เรื่องเคราะห์ร้าย แต่มันคือบทเรียนที่จะทำให้เรากระโดดก้าวไปสู่การพัฒนาที่ก้าวใหญ่กว่าเดิม และภาพของชุมชนป้อมหกวันนี้ แม้ใครๆ จะเรียกเราว่าสลัม เราห้ามใครๆ เรียกเราอย่างนั้นไม่ได้ แต่เราสามารถจัดการให้สลัมแห่งนี้ เป็นสลัมที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ด้วยความรักและความสามัคคี" น.ส.คณิชชา ผอมเอียด กล่าวให้กำลังใจกับชุมชนอื่นๆ ในการลุกขึ้นมาแก้ปัญหาของชุมชน
วันนี้ "ป้อมหก" จึงเป็นชุมชนต้นแบบในการจัดการปัญหาขยะ ที่ใช้ "จิตสำนึก" และ "ความสามัคคี" ร่วมกันเปลี่ยนแปลงชุมชนจนสามารถลบภาพของคำว่าสลัมออกไปได้อย่างถาวร.