กรุงเทพฯ--23 ธ.ค.--ไอแอมพีอาร์
สสส.เชิญครูเพลงปราชญ์ชาวบ้านเมืองนครศรีธรรมราช สอนเยาวชนฟื้นการขับร้อง "ปันตง" เพื่อเชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ สืบสานประเพณีการละเล่นท้องถิ่น ช่วยเด็กมีกิจกรรมสร้างสรรค์ไม่ยุ่งเกี่ยวยาเสพติดและอบายมุข พร้อมต่อยอดเป็นหลักสูตรในโรงเรียนตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อ "ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้"
น.ส.วณิชญา ฉันสำราญ หัวหน้าโครงการ"ปันตงสร้างสุขสี่แยกวัดโหนด" เปิดเผยว่าพื้นที่บ้านสี่แยกวัดโหนด ต.โพธิ์ทอง อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เป็นหมู่บ้านที่มีประชาชนนับถือศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม ซึ่งต่างก็อาศัยอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข แต่ปัจจุบันพบว่ามีเด็กและเยาวชนใช้ยาเสพติดโดยเฉพาะพืชกระท่อม และปัญหาตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ จึงได้ระดมความคิดเห็นกับผู้นำชุมชน และพบว่าในหมู่บ้านแห่งนี้มีการละเล่นพื้นบ้าน "ปันตง" คือการขับร้องบทกลอนแบบลำตัดมีลูกคู่ขานรับแต่เป็นภาษามาลายู ประกอบกับเครื่องดนตรีกลองตะโพนเป็นหลัก มีท่วงทำนองสนุกสนาน จึงได้ร่วมกันฟื้นการขับร้องปันตงขึ้น โดยใช้ครูเพลงท้องถิ่นซึ่งเป็นปราชญ์ชาวบ้านมาช่วยฝึกสอนให้กับเด็กและเยาวชนในหมู่บ้านได้มีกิจกรรมร่วมกันและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
"ชุมชนมาคิดร่วมกันว่าควรจะมีกิจกรรมที่สามารถให้เด็กมารวมกันได้ มีพื้นที่ให้เด็กได้แสดงออก และในชุมชนแห่งนี้มีโรงเรียนวัดสระประดิษฐ์ จำได้ว่าเมื่อครั้งเรียนอยู่มีวิชาลำตัด จึงได้ค้นหาปราชญ์ท้องถิ่นที่สามารถสอนร้องปันตง ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 5 คนเท่านั้นเนื้อร้องก็จะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์บ้าง เพลงของหนุ่มสาวบ้าง สอดแทรกข้อคิดต่างๆลงไปในรูปแบบภาษาไทย โดยใช้พื้นที่โรงเรียนเป็นสถานที่ทำกิจกรรม" น.ส.วณิชญา กล่าว
หัวหน้าโครงการปันตงสร้างสุขฯ กล่าวต่อว่า เริ่มแรกผู้นำชุมชนและเยาวชนได้ร่วมกันลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลการขับร้องปันตงจากปราชญ์ชาวบ้าน และวางแผนร่วมกันให้มีการสอนการละเล่นปันตงให้แก่เด็กและเยาวชนทุกสัปดาห์ เมื่อเยาวชนมารวมกันมากขึ้น มีความเข้มแข็งเพียงพอจึงได้มีการจัดตั้งเป็นสภาเด็กและเยาวชนขึ้น และขยายผลเข้าสู่โรงเรียนด้วยการจัดทำเป็นหลักสูตร "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ด้วยการละเล่นปันตง" ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารสถานศึกษาและผู้ปกครองของเยาวชนเป็นอย่างดี
"ทุกสัปดาห์เด็กๆ จะมารวมตัวกัน แล้วเชิญปราชญ์ชาวบ้านจะมาสอนการขับร้องปันตง เด็กมีตั้งแต่ชั้นประถม ชั้นมัธยม เมื่อฝึกฝนได้ระดับหนึ่งแล้วก็จะให้เด็กๆ ได้แสดงความสามารถในการเล่นปันตงในงานประเพณีต่างๆ ที่จัดขึ้นในท้องถิ่น ทำให้เด็กมีพื้นที่ในการแสดงออก ขณะที่ผู้สูงวัยก็ได้มีกิจกรรมร่วมกันกับเด็ก เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ ผู้ปกครองเองก็ให้ความสนับสนุน เพราะเห็นว่าสามารถช่วยให้เด็กได้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ ไม่ไปมั่วสุมใช้ยาเสพติด ดึงเด็กให้ห่างจากอบายมุขต่างๆ" หัวหน้าโครงการปันตงสร้างสุขฯ กล่าว.
กิจกรรมการสอนร้องเล่นปันตง นอกจากจะช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชาวบ้านทั้ง 2 ศาสนา สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ครูผู้สอนและเยาวชนแล้ว ยังเป็นการช่วยกันอนุรักษ์สืบสานการละเล่นพื้นบ้านไปสู่คนรุ่นใหม่เพื่อไม่ให้สูญหายไปจากท้องถิ่นอีกด้วย.