กรุงเทพฯ--23 ธ.ค.--ไอแอมพีอาร์
ประเพณีสารทเดือนสิบเป็นงานบุญที่ชาวนครศรีธรรมราชภาคภูมิใจสืบสานกันมาอย่างยาวนาน เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นที่ยังคงดำรงอยู่ มักจะมีพิธีแห่จาด-ชิงเปรตในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี แต่ในพื้นที่อำเภอถ้ำพรรณรา แตกต่างออกไป ที่นี่จะจัดแห่จาดสารทเดือนสิบช้ากว่าที่อื่น 1 วัน คือจะจัดในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า เป็นงานบุญเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ตามคติความเชื่อว่าในวันนั้นผู้จากไปที่ยังไม่ได้ไปอยู่ในสรวงสวรรค์ยังวนเวียนชดใช้กรรมอยู่ พวกเขาจะถูกปล่อยตัวให้กลับมารับผลบุญที่ญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่อุทิศไปให้
สองปีมาแล้วที่ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมให้การสนับสนุน งานบุญแห่จาดสารทเดือนสิบ ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้ "โครงการกระจาดสานใจ เครื่องแกงกู้ภัยเศรษฐกิจบ้านนาแยะเหนือ" ของชาวบ้านนาแยะเหนือ ตำบลคลองเส อำเภอถ้ำพรรณรา จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งประเพณีแห่จาดนี้ ทำให้สมาชิกครอบครัวได้กลับมาพบกันพร้อมหน้าพร้อมตากัน ญาติพี่น้องอยู่ใกล้หรือไกลแค่ไหนก็จะต้องใช้โอกาสนี้กลับมาพบเจอกันให้ได้ คนในชุมชนเองก็ได้ละลายความขัดแย้งขุ่นหมองที่เคยมีต่อกันอย่างรวดเร็ว สร้างการรวมกลุ่มมีผู้นำเข้มแข็งนำไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้แก้ปัญหาเชิงเศรษฐกิจในพื้นที่
"งานแห่จาดเป็นของทุกคน ทุกคนอยากมาทำบุญ ทุกคนต้องช่วยกัน ใครเก่งเรื่องไหนก็ทำเรื่องนั้น ใครเก่งงานไม้ ทำดอกไม้ประดับ ทาสี ตกแต่งกระจาดก็ทำไป มันเป็นงานที่แสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ปราชญ์ชาวบ้านก็ได้ถ่ายทอดภูมิปัญญา คนที่ร่วมงานได้ความอิ่มอกอิ่มใจ เกิดความสบายใจเมื่อได้ทำบุญทำกุศล" สุภาพรณ์ ชูช่วย หนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงของงานบุญแห่จาดบ้านนาแยะเหนือ เล่าอย่างภาคภูมิใจ
เธอเล่าอีกว่าแม้จะเป็นหมู่บ้านเล็กๆ แต่ที่ผ่านมาเกิดความแตกแยกทางความคิดอยู่มาก กระทั่งในหมู่เครือญาติเดียวกัน สาเหตุหลักก็คือการแบ่งฝ่ายทางการเมือง ทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับชาติ จึงมาคิดกับผู้นำชุมชนว่าอยากเห็นชุมชนมีการพัฒนาในเรื่องอาชีพรายได้ ขณะเดียวกันก็ต้องการให้สืบสานประเพณีไปด้วย จึงได้ใช้ประเพณีแห่จาดซึ่งเป็นของทุกคนเชื่อมโยงให้คนในชุมชนได้หันมาพูดคุยกัน
"จาด" หรือ "กระจาด" เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างขึ้น ใช้เป็นภาชนะสำหรับใช้วาง ขนมของกินต่างๆ เช่น ขนมพอง ขนมลา ข้าวสารอาหารแห้งต่างๆ ประดับประดาอย่างสวยงามแล้วร่วมกันแห่ไปถวายวัดในวันสารทเดือนสิบของทุกปี ที่นับวันจะหาผู้ที่ทำจาดได้ยากขึ้นเรื่อยๆ เฉพาะในหมู่บ้านนาแยะเหนือเหลือผู้ที่เชี่ยวชาญในการทำจาดไม่เกิน 5 คน หนึ่งในนั้นคือ คุณตาน้อม เลิศไกร ปราชญ์ชาวบ้าน อายุ 82 ปี หนึ่งในผู้สืบสานการทำจาดเปิดเผยว่า ฝึกฝนการทำกระจาดโบราณหรือจาดตั้งแต่เป็นเด็กวัยรุ่น โดยการเป็นลูกมือผู้ใหญ่ที่เคยทำมาก่อน ฝึกฝนจนมีฝีมือเชี่ยวชาญ มีส่วนในการทำจาดตลอดมารวมระยะเวลาถึงปัจจุบันไม่ต่ำกว่า 50 ปีแล้ว
"เรียนรู้การทำจาดจากบรรพบุรุษ จากผู้เฒ่าผู้แก่เขาสอนให้ทำตั้งแต่ผมอายุได้ 17-18 ปี ตอนนี้อายุ 82 ปีแล้ว เมื่อก่อนมีคนทำเป็นกันเยอะเดี๋ยวนี้ก็ห่างกันไป คนสืบต่อที่เห็นแววก็พอมี เริ่มฝึกให้คนรุ่นใหม่มาทำ 3-4 ปีแล้ว เช่น ให้ทำหัวนาค ใบโพธิ์หางสิงห์ ประดับประดา ตกแต่ง ทาสี ลูกศิษย์ก็มีหลายรุ่น มีผู้ใหญ่ มีเด็ก ผู้หญิงก็มี ต่อไปก็คงจะไม่ทำแล้ว จะให้ลูกศิษย์มาทำกันต่อไป" ปราชญ์ชาวบ้านกล่าว
เมื่อการรวมกลุ่มเกิดขึ้นจากงานบุญ ทำให้สมาชิกในหมู่บ้านนาแยะเหนือได้กลับมาพูดคุยกันมากขึ้น เกิดความคิดในการหารายได้เสริม สร้างอาชีพใหม่ให้เกิดขึ้นในชุมชน เพราะลำพังชาวบ้านมีอาชีพทำสวนยางเพียงอย่างเดียว เมื่อราคายางตกต่ำก็จะได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันเห็นว่าสวนยางเก่าที่ถูกโค่นเมื่อปลูกใหม่ก็ต้องใช้เวลานานถึง 7 ปี กว่าจะให้น้ำยางได้ ดังนั้นในช่วงปีแรกๆ ชาวบ้านจึงสามารถปลูกพืชสวนครัวแซมในพื้นที่สวนยางที่ยังว่างเปล่านั้นได้
"ก็มาคิดว่าจะนำประเพณีวัฒนธรรมพื้นบ้านของเราไปพัฒนาระบบเศรษฐกิจได้อย่างไร ชุมชนนี้มีที่ว่างเปล่าเยอะ สวนยางพาราที่โค่นปลูกใหม่อีก 7 ปี กว่าจะได้กรีดยาง ดังนั้นในช่วง 3 ปีแรกนี้ สามารถปลูกพืชแซมในสวยยางได้ เช่น พริก ตะไคร้ พริกขี้หนู พริกไทยดำ ขมิ้น และยังสามารถปลูกแซมกับต้นไม้ที่อยู่ข้างๆ บ้านได้ ประกอบกับคนใต้เรานิยมบริโภคเครื่องแกงเป็นหลัก ก็เลยคิดกันว่าจะทำเครื่องแกงเป็นอาชีพเสริม คนที่ทำเครื่องแกงจะได้ค่าแรง ได้เครื่องแกงกลับไป คนที่ปลูกวัตถุดิบนอกจากจะใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ก็สามารถนำวัตถุดิบที่ปลูกไว้มาขายให้กับกลุ่มทำเครื่องแกง และเก็บไว้ปรุงอาหารในครัวเรือน ช่วยลดรายจ่ายในครอบครัวได้ด้วย" สุภาพรณ์ ชูช่วย เล่าถึงที่มาการรวมกลุ่มทำเครื่องแกง
ขณะที่ อารมณ์ แจ่มจันทรา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักษ์คลองเส หนึ่งในกำลังหลักของกลุ่มทำเครื่องแกงเล่าว่า แต่เดิมผลิตภัณฑ์ของกลุ่มก็มีเพียงปลาดุกร้า น้ำพริกปลาดุกร้า และในพื้นที่ตำบลคลองเส ส่วนมากชาวบ้านจะปลูกตะไคร้ พริกไทย ขมิ้น กันมากแต่ไม่มีที่จำหน่าย จึงต้องหาวิธีแปรรูปด้วยการทำเครื่องแกงพริก (แกงเผ็ด) และเครื่องแกงส้ม ซึ่งทำให้มีรายได้เสริมเพิ่มจากอาชีพหลัก สมาชิกในกลุ่มมีความรักความสามัคคีกัน ได้ใช้วัตถุดิบสดสะอาดที่สมาชิกปลูกมาทำเครื่องแกงปลอดภัยต่อผู้บริโภค
"คิดกันว่าน่าจะตั้งกลุ่มเพื่อผลิตเครื่องแกง เพราะได้ใช้ผลผลิตที่ชาวบ้านปลูกขึ้นมา ตอนนี้มีสมาชิกทั้งหมด 33 คน มีการลงหุ้น และแยกเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายอำนวยการ มีประธานเลขา เหรัญญิก แล้วก็ฝ่ายควบคุมคุณภาพ เวลาผลิตสินค้าแต่ละครั้งจะต้องคำนึงถึงคุณภาพ เพราะว่าในการผลิตเครื่องแกงแต่ละครั้งจะต้องชั่งน้ำหนักส่วนผสมทุกอย่างไม่มากหรือน้อยจนเกินไป ถ้าทำผิดสูตรรสชาติที่ออกมาจะเพี้ยนไม่อร่อย ลูกค้าส่วนมากจะเป็นร้านค้า ร้านขายข้าวแกง และประชาชนทั่วไป สั่งไปใช้ในงานบวช งานบุญ งานศพ เดือนหนึ่งผลิต 4 ครั้งๆ ละประมาณ 130 กก. รวมแกงส้มและแกงพริก ส่งไปต่างจังหวัดแถวภาคอีสาน ภาคเหนือก็มีเหมือนกัน" ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักษ์คลองเส เล่าอย่างภูมิใจ
จากประเพณีแห่จาดสารทเดือนสิบ ชาวบ้านนาแยะเหนือ สามารถใช้ประเพณีที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนาน สานความสัมพันธ์ชุมชนให้กลับคืนมา และยังต่อยอดไปสู่การสร้างกลุ่มสร้างอาชีพสร้างรายได้ เป็นงานบุญที่หนุนนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนที่มองเห็นความยั่งยืนอยู่ข้างหน้า.