กรุงเทพฯ--23 ธ.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) เดือนพฤศจิกายน 2559 จำนวน 1,184 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ร้อยละ25.3, 38.2 และ 36.5 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 38.3, 15.6, 15.4, 14.2 และ 16.5 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 82.4 และ 17.6 ตามลำดับ โดยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2559 อยู่ที่ระดับ 87.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 86.5 ในเดือนตุลาคม ทั้งนี้ค่าดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยมีปัจจัยบวกจากผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงปลายปี ทำให้มีการผลิตเพื่อรองรับบรรยากาศการใช้จ่ายภายในประเทศที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น เห็นได้จากดัชนีฯ ปริมาณการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น อาทิ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการมีการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นยอดขายในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลดีต่อภาพรวมของการประกอบการในเดือนนี้
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 102.9 ในเดือนตุลาคม ภายใต้ความกังวลต่อราคาวัตถุดิบ การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน และราคาน้ำมัน ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน แต่อย่างไรก็ตามค่าดัชนียังมีค่าเกิน 100 เนื่องจากผู้ประกอบการเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะมีทิศทางที่ดีขึ้นในปี 2560
ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของกิจการ ในเดือนพฤศจิกายน 2559 ดัชนีความเชื่อมั่นฯของอุตสาหกรรมขนาดย่อม ขนาดกลางและขนาดใหญ่ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม
โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2559 อยู่ที่ระดับ 77.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 75.8 ในเดือนตุลาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมยา, อุตสาหกรรมสมุนไพร และอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 97.5 ปรับตัวลดลงจากระดับ 98.4 ในเดือนตุลาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมขนาดกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2559 อยู่ที่ระดับ 86.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 85.1 ในเดือนตุลาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร, อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ และอุตสาหกรรมแก้วและกระจก เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.1 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 102.9 ในเดือนตุลาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ด้าน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2559 อยู่ที่ระดับ 95.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 94.8 ในเดือนตุลาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมพลาสติก, อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ, อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 105.1 ปรับตัวลดลงจากระดับ 105.9 ในเดือนตุลาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนพฤศจิกายน 2559 จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง, ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคตะวันออก ปรับตัวลดลงจากเดือนตุลาคม
ภาคกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2559 อยู่ที่ระดับ 90.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 89.3 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร (อาหารทะเลแปรรูปประเภทกุ้ง ปลาทะเล ปลาหมึกสดแช่เย็น และ แช่แข็ง มีคำสั่งซื้อจากสหรัฐฯ และตลาด CLMV เพิ่มขึ้น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปมีคำสั่งซื้อจากสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง เพิ่มขึ้น ขณะที่ไก่แปรรูปมีคำสั่งซื้อจากเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น) ขณะที่อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ (บรรจุภัณฑ์กระดาษประเภทกล่อง หีบ ซอง และสินค้าประเภทปฏิทินปีใหม่ การ์ด สติกเกอร์ติดสินค้า แผ่นโฆษณา มียอดสั่งซื้อในประเทศมากขึ้นเนื่องจากใกล้ช่วงเทศกาลปีใหม่ ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษเพิ่มขึ้นจากประเทศเวียดนาม ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้) อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทคอลลาเจน สินค้าบำรุงสุขภาพ วิตามินเสริมอาหาร ที่เกี่ยวกับความงาม มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกมีการคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศจีน มาเลเชียและกลุ่ม CLMV เนื่องจากใกล้ช่วงเทศกาลปีใหม่ ประกอบกับมีผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมรองเท้า (สินค้าประเภทรองเท้าหนัง มีคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศ และต่างประเทศลดลง เช่น ยุโรป สหรัฐ นอกจากนี้ยังมีความกังวลต่อปัญหาราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน ขณะที่ผู้ประกอบการบางรายย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเวียดนาม เนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำกว่า) อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 105.4 เพิ่มขึ้นจากระดับ 102.9 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคเหนือ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2559 อยู่ที่ระดับ 79.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 76.3 ในเดือนตุลาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ (ผลิตภัณฑ์ผ้าผืนสำหรับทำเสื้อผ้าสำเร็จรูปมียอดสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์ผ้าผืนทำจากเส้นใยประดิษฐ์และฝ้าย มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศเวียดนาม สิ่งทออื่นๆ เช่น ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศจีนและสหรัฐฯ) อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ (ผลิตภัณฑ์กระดาษสา กระดาษห่อของขวัญ มีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อใช้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ สำหรับกระดาษสิ่งพิมพ์มีคำสั่งซื้อจากโรงพิมพ์เพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์กระดาษชำระ มีคำสั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่นและจีนเพิ่มขึ้น) หัตถอุตสาหกรรม (ยอดขายผลิตภัณฑ์ประเภท เครื่องปั้นดินเผา ดอกไม้ประดิษฐ์ จักสานและของที่ระลึก ในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยวของไทย) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ (สินค้าประเภทกระเบื้องหลังคาลอน แผ่นฝ้าเพดานมียอดขายในประเทศลดลง ด้านการส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม กัมพูชา มีคำสั่งซื้อลดลงจากผลิตภัณฑ์หลังคาโปร่งแสง)ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 93.3 ลดลงจากระดับ 99.1 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2559 อยู่ที่ระดับ 80.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 78.0 ในเดือนตุลาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ขณะที่อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (เสื้อผ้าสำเร็จรูปโดยเฉพาะเสื้อผ้าสีดำ เสื้อยืด กางเกงมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น สินค้าประเภทเสื้อแจ๊คเก็ต เสื้อกันหนาว มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อจากประเทศจีน และยุโรปเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม (สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทตู้เย็น ตู้แช่ เตาอบ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น จากการทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย สินค้าประเภทเครื่องซักผ้าส่งออกไปยังสหรัฐฯ และยุโรปเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันสินค้า IC ซึ่งเป็นส่วนประกอบของสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงมีการผลิตเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร (เครื่องจักรกลการเกษตร อุปกรณ์การเกษตร เครื่องเกี่ยวนวดข้าว มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่รถแทรกเตอร์ มีการส่งออกไปประเทศในแถบอาเซียน เอเชียใต้ และแอฟริกา มากขึ้น) สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล (น้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์มีการส่งออกไปประเทศแถบเอเชีย และตะวันออกกลางลดลง ประกอบกับอยุ่ในช่วงฤดูปิดหีบอ้อย) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 97.8 ลดลงจากระดับ 103.2 ในเดือนตุลาคมองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤศจิกายน2559 อยู่ที่ระดับ 93.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 99.2 ในเดือนตุลาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น (เครื่องปรับอากาศมียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ทำให้ความต้องการใช้เครื่องปรับอากาศลดลง ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อคอมเพรสเซอร์ ลดลง จากตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และยุโรป) อุตสาหกรรมเหล็ก (ผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่น และเหล็กทรงยาว มีคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศลดลงจากความต้องการใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างลดลง ประกอบกับมีการแข่งขันสูงด้านราคา) อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (ยอดขายอะไหล่รถยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า ตลาดส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์มียอดคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศญี่ปุ่น, อินโดนีเซีย และสหรัฐฯ) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมอลูมิเนียม (ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เช่น กระป๋อง ขวด แผ่นฟอด์ยถนอมอาหาร มีคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศ เพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อาหาร เฟอร์นิเจอร์ ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เวียดนาม เพิ่มขึ้น)
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.3 ลดลงจากระดับ 107.6 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ส่วน ภาคใต้ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2559 อยู่ที่ระดับ 89.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 88.0 ใน เดือนตุลาคม ทั้งนี้ องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง (ผลิตภัณฑ์ยาง ประเภทถุงมือยางการแพทย์, ถุงมือยางเพื่อการทดลอง และถุงยางอนามัย มีคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ยางแผ่นรวมควันมีการส่งออกไปประเทศจีนเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น (ผลิตภัณฑ์ไม้อัด ไม้เส้นสำหรับทำกรอบรูป และไม้แกะสลักสำหรับทำสินค้าหัตถกรรมมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (ปริมาณการผลิตน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการบริโภคเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาล ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อจากประเทศมาเลเซียเพิ่มขึ้น) สำหรับอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ (เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์ ครุภัณฑ์ที่ใช้ในโรงพยาบาล เก้าอี้ทันตกรรมมียอดสั่งซื้อในประเทศลดลง ด้านการส่งออกน้ำยาตรวจโรคมีคำสั่งซื้อลดลงจากตลาดสหรัฐฯ,และญี่ปุ่น ประกอบกับมีต้นทุนประกอบการที่สูงขึ้น) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 103.6 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากในเดือนตุลาคม ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวลดลงจากในเดือนตุลาคม
กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2559 อยู่ที่ระดับ 86.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 84.0 ในเดือนตุลาคม ซึ่งองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมก๊าซ,อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.6 ปรับตัวลดลงจากระดับ 102.5 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2559 อยู่ที่ระดับ 94.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 96.5 ในเดือนตุลาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น, อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 104.9 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
สำหรับด้านปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการ ในเดือนพฤศจิกายน 2559 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก และราคาน้ำมัน ส่วนปัจจัยที่กังวลลดลง ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน สถานการณ์การเมืองในประเทศ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อยู่ในระดับ ทรงตัว
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนพฤศจิกายน คือ ต้องการให้ภาครัฐมีการสนับสนุนการพัฒนาสินค้าที่มีนวัตกรรม และพัฒนาสินค้าอุตสาหกรรมไปสู่ Industry 4.0 มีการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาไทย เพื่อยกระดับคุณภาพแรงงาน รวมถึงมีการเจรจากับประเทศที่มีนโยบายกีดกันทางการค้า เพื่อลดปัญหาและอุปสรรคในการค้าการลงทุน และสนับสนุนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และศูนย์กระจายสินค้าให้เชื่อมโยงในกลุ่มประเทศ CLMV เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าของไทย …