กรุงเทพฯ--23 ธ.ค.--กรมส่งเสริมสหกรณ์
กรมส่งเสริมสหกรณ์เพิ่มยาแรงคุมเข้มตรวจตราสหกรณ์ที่ดำเนินงานส่อให้เกิดความเสียหาย ภายใต้มาตรการกำกับดูแลเพื่อยกระดับความเข้มแข็งของสหกรณ์ทั้งประเทศ ยกกรณีตัวอย่างสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุบลราชธานี จำกัด จัดซื้อที่ดินแพงเกินจริง สหกรณ์จังหวัดอุบลราชธานียื่นฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายจากคณะกรรมการดำเนินงานสหกรณ์ ให้ชดใช้ค่าเสียหาย 53 ล้านบาท เพื่อเป็นกรณีตัวอย่าง หลังแจ้งเตือนให้แก้ไขข้อบกพร่องแต่ไม่ปฏิบัติตามข้อแนะนำของนายทะเบียนสหกรณ์
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เดินหน้ามาตรการ คุมเข้มและติดตามการดำเนินงานของสหกรณ์ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ภายใต้แผนพัฒนาความเข้มแข็งสหกรณ์ ปี 2559-60 ซึ่งหนึ่งในมาตรการหลักคือ มาตรการในการกำกับและตรวจสอบการดำเนินงานของสหกรณ์ โดยผู้ตรวจการสหกรณ์แต่ละจังหวัดจะลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงาน โดยประเมินประสิทธิภาพในการจัดการองค์กร การจัดระบบควบคุมภายในของสหกรณ์ เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตหรือดำเนินการออกนอกกรอบวัตถุประสงค์ของสหกรณ์และเร่งแก้ไขข้อบกพร่องในการบริหารงานของคณะกรรมการสหกรณ์ โดยได้สั่งการให้สหกรณ์จังหวัดในฐานะรองนายทะเบียนสหกรณ์ยึดหลักกฎหมายตามพรบ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 หากตรวจสอบพบความผิดปกติในการดำเนินงานของสหกรณ์ที่มีข้อบกพร่องเกี่ยวกับการเงิน การตรวจสอบบัญชีหรือส่อจะทำให้เกิดความเสียหาย จะมีการออกหนังสือสั่งการให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์แก้ไขข้อบกพร่องในระยะเวลาที่กำหนด
สำหรับกรณีที่กรรมการ ผู้จัดการ หรือเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ทำให้สหกรณ์เสียหาย หากสหกรณ์ไม่ร้องทุกข์หรือ ฟ้องร้องดำเนินคดี นายทะเบียนสหกรณ์หรือสหกรณ์จังหวัดในฐานะรองนายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจในการร้องทุกข์หรือฟ้องคดีแทนสหกรณ์ได้ ตามมาตรา 21 ของพรบ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 และมีตัวอย่างของกรณีดังกล่าวแล้วที่จังหวัดอุบลราชธานี ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุบลราชธานี จำกัด เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2554 มีมติให้ซื้อที่ดินเพื่อสร้างสำนักงานสหกรณ์แห่งใหม่ คณะกรรมการสหกรณ์ฯ ชุดที่ 51 ได้ดำเนินการจัดซื้อที่ดิน 15 ไร่ ในราคา 40 ล้านบาท ต่อมามีสมาชิกสหกรณ์ร้องเรียนว่าการซื้อที่ดินดังกล่าวแพงเกินจริง ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และไม่คำนึงถึงความประหยัดและคุ้มค่า ทำให้เสื่อมเสียผลประโยชนแก่สหกรณ์และสมาชิก พร้อมทั้งเอาหลักฐานการซื้อขายที่ดินข้างเคียงมาอ้างอิงเพื่อเปรียบเทียบ ซึ่งสหกรณ์จังหวัดในฐานะรองนายทะเบียนสหกรณ์ได้ตรวจสอบราคาประเมินไปยังสำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานีมีหนังสือแจ้งว่า ราคาประเมินของทางราชการ เป็นเงิน 3.2 ล้านบาทเศษ จึงได้เรียกคณะกรรมการสหกรณ์มาสอบข้อเท็จจริง
ทั้งนี้ ได้มีตัวแทนสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุบลราชธานี จำกัด ยื่นฟ้องสหกรณ์จังหวัดอุบลราชธานี ต่อศาลปกครองอุบลราชธานี โดยอ้างว่าละเลยการปฏิบัติหน้าที่ไม่ดำเนินการสั่งให้คณะกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุบลราชธานี จำกัด ยุติการจัดซื้อที่ดินดังกล่าว ซึ่งศาลปกครองอุบลราชธานี ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559 ให้สหกรณ์จังหวัดอุบลราชธานีดำเนินการตามกฎหมายกับคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ จึงมีหนังสือสั่งการให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุบลราชธานี จำกัด แก้ไขปัญหาเรื่องการจัดซื้อที่ดินดังกล่าว ต่อมาสหกรณ์ฯ โดยยื่นฟ้องประธานกรรมการสหกรณ์ฯ เพียงรายเดียว เรียกค่าเสียหายจำนวน 10 ล้านบาท สหกรณ์จังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะรองนายทะเบียนสหกรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่ามูลค่าความเสียหายไม่เป็นไปตามหลักฐาน จึงได้มีหนังสือสั่งให้สหกรณ์ เพิ่มมูลค่าความเสียหาย จากเดิม 10 ล้านบาท เป็น 36 ล้านบาท และเห็นว่าการที่สหกรณ์ยื่นฟ้องประธานกรรมการสหกรณ์ฯเพียงคนเดียว ไม่ครอบคลุมผู้กระทำความเสียหาย จึงมีหนังสือถึงสำนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2559 ดำเนินการยื่นฟ้องคณะกรรมการชุดที่ 51 ส่วนที่เหลืออีก 14 คน เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 53 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการนัดสืบพยานโจทก์ และเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 ศาลจังหวัดอุบลราชธานี ได้อ่านคำพิพากษา คดีแพ่งให้นายอภิสิทธิ์ บุญยา ประธานกรรมการฯสหกรณ์ฯ ชุดที่ 51 ชดใช้ความเสียหายจากการจัดซื้อที่ดินในราคาสูง ทำให้สหกรณ์และสมาชิกเสื่อมเสียผลประโยชน์ จำนวน 24 ล้านบาท ซึ่งนับว่าคดีดังกล่าวเป็นผลที่เกิดจากการดำเนินการตามมาตรการกำกับดูแลสหกรณ์ที่เข้มงวดของกรมส่งเสริมสหกรณ์ และเร่งแก้ไขปัญหาการดำเนินงานที่บกพร่องของสหกรณ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่สมาชิกและระบบสหกรณ์โดยรวมต่อไป