กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
"จะมีสักกี่คนที่อดทนซ้อม จนได้ใส่ชุดโขน" ตัวอักษรสีขาวประโยคสั้น ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนด้านหลังเสื้อยืดสีดำของนักศึกษา ชมรมโขน-ละคร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตตรัง
หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่า 'คนไทยไม่ได้สนใจเรื่องโขนมากมายเท่าใดนัก' กระทั่งเกิดประเด็นร้อนจากโฆษณาโปรโมทการท่องเที่ยวชุดหนึ่งนำมาสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชี่ยลอย่างแพร่หลาย
แต่สำหรับนักศึกษา ชมรมโขน-ละคร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง "โขน" ถือเป็นชีวิตส่วนหนึ่งในรั้วมหาวิทยาลัยของพวกเขา เจษ – เจษฎา ฉิมสุด ประธานชมรมฯ บอกว่า นอกจากใจรักแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการฝึกโขน คือ ความอดทนแต่น้อยคนนักที่จะมีความอดทนพอ กระทั่งได้ใส่ชุดโขนขึ้นแสดงบนเวทีจริงได้
เจษ กล่าวว่า เพราะนักศึกษาในมหาวิทยาลัยถูกกำหนดให้ต้องเลือกเก็บชั่วโมงในวิชาชมรม เขาจึงสมัครเข้าชมรมที่ต่อแถวสั้นที่สุด จุดเริ่มต้นด้วยความไม่ใส่ใจ นำมาสู่บทบาทการเป็นประธานชมรม เพราะหลงใหลในเสน่ห์ของท่วงท่าและทำนองการเล่นโขน
เจษ บอกว่า ปัญหาหลักที่ชมรมประสบมาอย่างต่อเนื่อง คือ จำนวนสมาชิกที่ลดน้อยลงทุกปี ด้วยเหตุนี้เมื่อมีโอกาสได้รู้จักโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาปี 3 โดยสงขลาฟอรั่ม ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่ขยายขอบเขตพื้นที่การดำเนินงานในภูมิภาคมาสู่จังหวัดตรังในปีนี้ เจษและเพื่อนสมาชิกในชมรมจึงจับมือกันยื่นเสนอโครงการ ด้วยหวังกอบกู้สถานการณ์ให้ชมรมโขน-ละคร กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
"แต่ละปีแรกเปิดรับสมัครมีนักศึกษาสมัครเข้ามาเป็นร้อย บางปีถึง 300 คน ฝึกไปฝึกมาเหลือในรายชื่อ 20 คน มาฝึกซ้อมกันจริงๆ ไม่ถึง 10 คน เราเลยคิดว่าถ้าทำให้เด็กและเยาวชน รวมถึงคนทั่วไปทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ดูโขนเป็น คนจะสนใจหันมาเล่นโขนมากขึ้น" เจษ กล่าว
"ทำอย่างไรให้คนรู้จักโขน และทำให้โขนไม่เป็นเพียงแค่ภาพการแสดงบนเวที?"
โจทย์คิดสำคัญที่มาของโครงการรวมพลคนรักษ์โขน ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการแสดงโขนให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มเด็กและเยาวชนในจังหวัดตรัง ด้วยหวังว่าความรู้จะกระตุ้นให้เด็กและเยาวชน "ดูโขนเป็น" กล่าวคือ เมื่อมีโอกาสได้รับชมการแสดงโขน เด็กจะเข้าใจถึงที่มาที่ไปของตัวละครและเรื่องราวตามบทละครในแต่ละตอน จนมีอารมณ์ร่วมไปกับการแสดงได้
เจษ บอกว่า ความเข้าใจนี้ช่วยส่งเสริมและเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนสนใจเข้ามาเรียนรู้เรื่องการแสดงโขนต่อไปในอนาคตได้อีกทางหนึ่ง
ขั้นตอนการดำเนินโครงการรวมพลคนรักษ์โขนของทีมงานกลุ่มเด็กโขน เริ่มตั้งแต่ตระเวนไปให้ความรู้เรื่องการแสดงโขนแก่น้องๆ นักเรียนในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาภายในจังหวัดตรัง 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนเทศบาล 6 (วัดตันตยาภิรม) โรงเรียนสภาราชินี 2 และโรงเรียนเทศบาล 2 (วัดกะพังสุรินทร์) ตามลำดับ โดยจัดกิจกรรมเป็นฐานการเรียนรู้
เพื่อให้น้องๆ ได้ทำความรู้จักกับตัวละครและชื่อเฉพาะของการรำที่สำคัญแต่ละท่า โดยเฉพาะท่าเต้นเสา ท่าพื้นฐานสำคัญที่จะฝึกให้ผู้เรียนมีกำลังขาคงที่ สามารถเคลื่อนไหวเท้าได้อย่างหนักแน่นมั่นคงและเป็นจังหวะที่สม่ำเสมอกัน หลังจากนั้นจึงเปิดรับสมัครนักเรียนที่สนใจเข้ามาฝึกซ้อมและเรียนรู้ร่วมกันกับรุ่นพี่แกนนำโครงการต่อไป ทั้งนี้ ปัจจุบันมีนักเรียนสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการแล้วราว 40 คน
"เราไม่ได้มองแค่เผยแพร่องค์ความรู้ในมหาวิทยาลัย เพราะมันสั้นไป แต่เราเลือกทำโครงการกับน้องๆ ชั้นมัธยมเพราะในระยะยาวเมื่อน้องๆ ไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัย เขาอาจสนใจอยากเรียนหรืออยากเข้าชมรมแบบที่พวกเราทำอยู่ตอนนี้ หรือถ้าไม่เรียน อย่างน้อยความรู้ที่ได้จะทำให้เขาดูโขนได้อย่างเข้าใจ"
เจษ กล่าวต่อไปว่า ประสบการณ์จากการจัดฐานการเรียนรู้ให้กับน้องๆ นักเรียนในโรงเรียน ทำให้ทีมงานแกนนำโครงการรวมพลคนรักษ์โขน เห็นความสำคัญของการปูพื้นฐานความรู้และการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโขนให้แก่สมาชิกชมรม ก่อนการฝึกฝนท่ารำจริงด้วย
"อย่างน้อยนักศึกษาที่เข้ามาในชมรมจะได้ทำความรู้จักโขนก่อนเลยว่าโขนคืออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร ส่วนจะอดทนฝึกซ้อมจนเล่นโขนเป็นได้หรือเปล่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง" เจษ กล่าวถึงวิธีคิดของเขา
ด้าน สมโภช เกตุแก้ว อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการรวมพลคนรักษ์โขน หัวหน้าภาควิชาวิทยาลัยนวัตกรรมการแสดงและการจัดการ ม.อ.วิทยาเขตตรัง กล่าวว่า "โขน" เป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยที่มีมานานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ท่ารำโขนมีความสง่างาม ด้วยความเข้มแข็งผนวกกับความอ่อนช้อยของท่วงท่า
โดยตัวละครเอกในการแสดงโขน แบ่งออกเป็น 3 ฝ่ายด้วยกัน ได้แก่ ฝ่ายมนุษย์เทวดา เรียกว่า ตัวพระ-ตัวนาง ฝ่ายยักษ์ และฝ่ายลิง โดยการแสดงโขนทั่วไปนิยมแสดงเรื่อง "รามเกียรติ์" ตัวละครเอกซึ่งเป็นที่รู้จัก ได้แก่ พระราม พระลักษณ์ นางสีดา ทศกัณฑ์ (ยักษ์) และหนุมาน (ลิง) เป็นต้น
ทั้งนี้ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า การเข้าร่วมโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ไม่เพียงแค่สร้างความตระหนักรู้ถึงเรื่องราวเกี่ยวกับโขนให้แก่เด็กและเยาวชนกลุ่มเป้าหมายเท่านั้น แต่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นภายในจิตใจของทีมงานเด็กโขน ชมรมโขน-ละคร ด้วยเช่นเดียวกัน
"ที่ผ่านมาบอกเด็กตลอดว่าทุกคนไม่ใช่แค่นักแสดงบนเวที แต่มีหน้าที่ทำให้โขนลงมาสัมผัสกับคนดูให้ได้ จากเดิมที่เรารู้สึกว่านักศึกษากลุ่มนี้ดีนะ สนใจและตั้งใจเข้ามาอยู่ในชมรม มีความรับผิดชอบฝึกซ้อมพัฒนาตัวเองจนออกไปแสดงได้ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แค่นั้น...พวกเขามีจิตวิญญาณความเป็นโขนอยู่ในตัว แล้วสามารถสื่อสารสิ่งนั้นออกมาถึงผู้ชมได้ จบออกไปแล้วไม่ว่าจะไปอยู่ไหนทำอะไร สิ่งนี้จะติดตัวเขาไปตลอด ไม่มีทางหายไปไหน" สมโภช กล่าวอย่างภาคภูมิใจ
แม้เกิดข้อถกเถียงกันในวงกว้างถึงความเหมาะสมและไม่เหมาะสมของการนำเสนอภาพความเป็นโขนไทยออกสู่สาธารณชนในช่วงที่ผ่านมา นำมาสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์จากหลากหลายมุมมอง อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหากมองข้ามความขัดแย้งนี้ไปอีกระดับหนึ่ง การรังสรรค์ผลงานชิ้นหนึ่งขึ้นมาด้วยความตั้งใจจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้เสมอ ดีเสียอีกที่กระแสวิจารณ์กระตุ้นให้เกิดความสนใจของผู้คนในวงกว้าง จนเกิดการค้นคว้าข้อมูลและสร้างการตระหนักรู้แก่ผู้ที่พบเห็นในหลากหลายกลุ่มและวัยมากขึ้น
มองในทางกลับกัน หากไม่มีใครคนใดลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง "โขน" ศิลปะการแสดงอันทรงคุณค่าอย่างหนึ่งของไทยอาจสูญหายไป หรืออาจกลายเป็นวัฒนธรรมแช่แข็งที่มีให้เห็นแค่ในวิดีโอหรือในหนังสืออย่างที่ว่ากันจริงๆ ก็ได้
เช่นเดียวกับที่โครงการรวมพลคนรักษ์โขน โดยกลุ่มเด็กโขน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง แสดงให้เห็นแล้วว่า การอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมให้ดำรงอยู่ได้นั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากเพียง "คำพูด" แต่เกิดจาก "การลงมือทำ" ให้เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจและความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ที่มีอยู่ ทั้งนี้ เพื่อทำให้คนรู้จัก ช่วยสร้างความเข้าใจ และดึงดูดใจให้เยาวชนรุ่นหลังเข้ามาเรียนรู้ ซึ่งจะช่วยสืบสานศิลปวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืน
"จะมีสักกี่คนที่อดทนซ้อม จนได้ใส่ชุดโขน"
ตัวอักษรสีขาวประโยคสั้น ปรากฏอย่างชัดเจนด้านหลังเสื้อยืดสีดำ สะท้อนให้เห็นภายในจิตใจของผู้สวมใส่เสื้อยืดตัวนั้นได้เป็นอย่างดี...หัวใจที่มีความรักในมรดกอันล้ำค่าของแผ่นดิน หัวใจของเยาวชนที่มีสำนึกความเป็นพลเมือง.