กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้คาดการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ปี พ.ศ. 2560 (ค.ศ. 2017) ว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี พ.ศ. 2560 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2559 โดยอัตราการเติบโตจะอยู่ที่ 3.3-3.6% ในปีหน้า (พ.ศ. 2560) ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาที่มีอัตราการเติบโตสูงเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงตัวเลขเฉลี่ยจีดีพีโลกให้ปรับตัวดีขึ้น คาดว่าประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ระดับ 1.8-2% และ ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศตลาดเกิดใหม่มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 4.6-5% ระบบการค้าโลกจะเผชิญแรงกดดันของลัทธิกีดกันทางการค้าและความเป็นชาตินิยมทางเศรษฐกิจมากขึ้น กระแสโลกาภิวัตน์การเปิดเสรีจะหันมาให้น้ำหนักกับการทำข้อตกลงทางการค้าและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจแบบทวิภาคีมากขึ้นกว่าระบบพหุภาคี ความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในยุโรปจะถูกสั่นคลอนโดยพรรคการเมืองขวาจัดหรือซ้ายจัดที่กำลังก้าวเข้ามามีอำนาจของรัฐบาลในยุโรปหลายประเทศ
ดร. อนุสรณ์ คาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาปีหน้า (พ.ศ. 2556) จะสูงกว่าที่สำนักวิจัยทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ประเมินไว้ โดยมองว่าจะมีอัตราการเติบโตสูงถึง 2.3-2.8% (ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ไว้ที่ 2.2%) เป็นผลมาจากภาคการบริโภค ภาคการลงทุน การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมไอที ธุรกิจเวชภัณฑ์ การปรับลดภาษีนิติบุคคลและการลงทุนโครงสร้าง
พื้นฐานทางเศรษฐกิจใหม่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลจะเผชิญแรงกดดันปัญหาหนี้สาธารณะและเผชิญกับปัญหาเพดานหนี้หากเศรษฐกิจไม่โตตามเป้า การตัดลดค่าใช้จ่ายสวัสดิการทางด้านสาธารณสุขและการศึกษาทำให้ความเหลื่อมล้ำในสหรัฐอเมริกาเพิ่มมากขึ้นอีก แรงกดดันเงินเฟ้อจะมากขึ้นพร้อมกับการเติบโตที่มากขึ้น ทำให้อาจมีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯส่งสัญญาณไว้ในช่วงปลายปีนี้ (พ.ศ. 2559) แนวโน้มของรัฐบาลสหรัฐในการใช้นโยบายกีดกันทางการค้ามากขึ้นเพิ่มความเสี่ยงของระบบการค้าโลกและสร้างแรงกดดันต่อภาคส่งออกของจีนและเอเชียตะวันออก
ส่วนเศรษฐกิจยุโรปนั้น ตนมองว่า จะอ่อนแอมากกว่าที่หน่วยงานทางเศรษฐกิจของโลกประเมินไว้ค่อนข้างมากโดยคาดว่า อัตราการเติบโตเศรษฐกิจยุโรปจะขยายไม่เกิน 1.4% เป็นผลมาจากผลกระทบของ Brexit และ ความเสี่ยงของประเทศอื่นในอียูจะขอแยกตัวออกมาจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ผลกระทบผู้อพยพจากตะวันออกกลางและแอฟริการเหนือ การก่อการร้ายสร้างความผันผวนต่อเศรษฐกิจ ปัญหาระบบสถาบันการเงินอ่อนแอ หนี้สาธารณะในระดับสูง โครงสร้างประชากรสูงอายุ และความสามารถในการแข่งขันที่ถดถอย อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย เยอรมันยังคงเติบโตได้ดีรวมทั้งเศรษฐกิจสเปนยังคงกระเตื้องขึ้นต่อเนื่อง
ปีหน้า (พ.ศ. 2560) เศรษฐกิจจีนยังคงชะลอตัวลงต่อเนื่อง ความเสี่ยงจากภาวะฟองสบู่แตกเพิ่มเติมลดลง เศรษฐกิจรัสเซียขยายตัวเป็นบวกเป็นครั้งแรกหลังจากติดลบต่อเนื่องมาสองปี
กลุ่มประเทศอาเซียนมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยที่ 5-6% โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอินโดจีนและพม่ามีอัตราการเติบโตสูงต่อเนื่อง ส่งผลบวกต่อการค้าชายแดนภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ปีหน้า (พ.ศ. 2560) น่าจะเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีที่สุดในรอบสี่ปีนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 (เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 6.5% ในปี พ.ศ. 2555 หลังมหาอุทกภัยน้ำท่วม) โดยคาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยโดยภาพรวมจะอยู่ที่ 3.6-4.2% ภาคการลงทุนเอกชนและภาคการท่องเที่ยวจะแรงขับเคลื่อนสำคัญ ภาคส่งออกฟื้นตัวเป็นบวกเล็กน้อยและภาคการบริโภคกระเตื้องขึ้นต่อเนื่อง ดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 33.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลไม่ต่ำกว่า 42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การนำเข้าเพื่อการลงทุนมากขึ้น อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นจากราคาพืชผลเกษตร การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและราคาพลังงานโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว กิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากจะเป็นปีที่จะมีการเลือกตั้ง โดยคาดว่า ภาคการลงทุนโดยรวมจะเติบโตได้อย่างน้อย 5.5% การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่ำ 3% การส่งออกเริ่มฟื้นตัวทำให้กำลังการผลิตลดลงและเริ่มกระตุ้นให้เกิดความต้องการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต ความมีเสถียรภาพในระยะเปลี่ยนผ่านทำให้เกิดความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของบรรษัทข้ามชาติที่ต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตส่งออกในประชาคมอาเซียนเริ่มขยับเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น การลงทุนก่อสร้างของเอกชนมีความสัมพันธ์ตามการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบคมนาคมขนส่ง หากมีความคืบหน้าตามเป้าหมาย
จะดึงให้การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการลงทุนในเครื่องจักรอุปกรณ์ที่มีความสัมพันธ์ในระดับสูงทางบวก (Positive Correlation) กับการขยายตัวของภาคส่งออก ภาคบริโภคกระเตื้องขึ้นโดยขยายตัวได้ที่ระดับ 2.5-3% ภาคการบริโภคฟื้นตัวไม่มากเพราะระดับรายได้ประชาชนโดยทั่วไปไม่เพิ่มขึ้นมาก ความไม่มั่นคงในงานลดลงจากการนำเทคโนโลยีมาทดแทนในการทำงานมากขึ้น ตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมหรือกิจการที่มีภาวะฟองสบู่ เช่น สื่อสารมวลชนโดยเฉพาะทีวีดิจิตอล ธุรกิจโฆษณาประชาสัมพันธ์ กิจการอุดมศีกษา กิจการธนาคารธุรกิจการเงินแบบเดิม เป็นต้น นอกจากนี้ภาคการบริโภคยังได้รับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง การนำเงินรายได้ในอนาคตมาบริโภค รวมทั้งมาตรการกระตุ้นการบริโภคโดยลดหย่อนภาษีกระตุ้นการบริโภคได้เพียงชั่วคราวระยะสั้น และได้ทำมี Stock Inventory เก็บไว้จำนวนมากในภาคครัวเรือนและส่งผลให้ตัวเลขภาคการบริโภคชะลอลงอย่างชัดเจนในไตรมาสแรกปี พ.ศ. 2560
อัตราการขยายตัวของการส่งออกอยู่ที่ 2-3% การนำเข้าอยู่ที่ 4-5% ดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุลมากจากรายได้การท่องเที่ยว เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิต่อเนื่อง
ส่วนตลาดการเงินและภาคการเงินนั้น ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวว่า ตลาดการเงินโลกและไทยจะเผชิญกับจุดเปลี่ยนของนโยบายการเงินจากยุคสมัยดอกเบี้ยต่ำและการผ่อนคลายทางการเงินมากเป็นพิเศษหลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินโลกเมื่อปี พ.ศ. 2551-2552 มาเป็น ยุคสมัยอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ในส่วนของเงินบาทน่าจะอ่อนค่าต่อเนื่องโดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์คาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 34-37 แม้นจะเกินดุลการค้าแต่เงินทุนเคลื่อนย้ายยังคงไหลออกสุทธิจากการออกไปลงทุนมากขึ้นของนักลงทุนและบริษัทสัญชาติไทยในต่างประเทศ
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยน่าจะสามารถทำสถิติสูงสุดใหม่ได้หากสหรัฐอเมริกาไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงเกินไปและทำให้เม็ดเงินในตลาดการเงินไหลกลับสหรัฐฯจำนวนมาก อัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรเพิ่มสูงขึ้น
อัตราการว่างงานโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยโดยเฉพาะสาขาที่เทคโนโลยีจะเข้ามาทดแทนการทำงาน ขณะที่ยังคงมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านช่วงเทคนิคและแรงงานระดับล่างต่อไป
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจที่กระเตื้องขึ้นต่อเนื่องยังไม่สามารถเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ เนื่องจากขาดนวัตกรรม ระบบการศึกษา ระบบวิจัย คุณภาพทรัพยากรมนุษย์ยังคงอ่อนแอ จึงมีเพดานจำกัดในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะปานกลางและระยะยาว นอกจากนี้ยังไม่ได้เป็นประเทศที่มีระบบนิติรัฐและนิติธรรมเข้มแข็งนัก ขาดยุทธศาสตร์ในการบูรณาการทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ประเทศที่ชัดเจน แม้นมียุทธศาสตร์ก็ไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดขึ้นจริง
ขณะที่ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ปัญหาความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ ลดเหลื่อมล้ำยังไม่ดีนักและมีแนวโน้มแย่ลงได้อีกหากยังแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยมาตรการประชานิยมระยะสั้นเพราะจะสร้างวัฒนธรรมอุปถัมภ์เป็นอุปสรรคต่อความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ
มีข้อเสนอแนะในทางนโยบายต่อรัฐบาล ดังต่อไปนี้
ข้อแรก แรงกดดันจากลัทธิกีดกันทางการค้าเพิ่มสูงขึ้น ระบบการค้าพหุภาคีและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอ่อนแอลงในบางภูมิภาค พลวัตนี้เป็นความเสี่ยงต่อภาคการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของไทย ขณะเดียวกันทำให้เกิดโอกาสของการเปิดเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีในระดับทวิภาคีเพิ่มขึ้น รัฐควรเร่งกำหนดทบทวนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่ วางยุทธศาสตร์การค้าการลงทุนระหว่างประเทศเพื่อให้ "ไทย" พัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน
ข้อสอง ต้องเปลี่ยนแนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยมาตรการประชานิยมระยะสั้น มาเป็น ระบบสวัสดิการโดยรัฐที่มีประสิทธภาพและมีความยั่งยืนทางการเงินการคลัง
ข้อสาม เร่าดำเนินการปฏิรูปการศึกษาและระบบวิจัย ตาม ยุทธศาสตร์แผนการศึกษาชาติ 15 ปี และ แผนยุทธศาสตร์ฉบับ 8 ของสภาวิจัยแห่งชาติ
ข้อสี่ เพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณพร้อมกับเร่งให้เกิดความคืบหน้าในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งคมนาคม และ ระบบบริหารจัดการน้ำ
ข้อห้า ใช้มาตรการภาษี มาตรการการเงิน มาตรการลงทุนทางด้านวิจัย มาตรการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้ภาคส่งออกไทยกลับมาขยายตัวเป็นบวกและสามารถแข่งขันได้
ข้อหก พัฒนาระบบนิติรัฐให้เข้มแข็งโดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับการค้า การลงทุนและการแข่งขันที่เป็นธรรม มีความคงเส้นคงวาของการดำเนินนโยบาย สร้างระบบธรรมาภิบาล ขจัดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน การติดสินบน ลดขั้นตอนในการทำงานและลดอำนาจดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ลดต้นทุนของภาคธุรกิจอันเกิดจากความประสิทธิภาพและความล่าช้าของระบบราชการและรัฐวิสาหกิจ
ข้อเจ็ด ปรับขนาดของระบบราชการและรัฐวิสาหกิจให้ลดลง (Smaller Government) และ เพิ่มประสิทธิภาพสูงขึ้น จ่ายค่าตอบแทนให้สูงขึ้นในระดับเดียวกับเอกชน ทำให้แปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization) ในกิจการที่เอกชนทำได้ดีกว่าและบรรลุภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า
ข้อแปด ส่งเสริมให้มีการปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมผ่านกลไกประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง และ เพิ่มอำนาจให้กับคนที่มีอำนาจน้อยเพื่อให้เกิดดุลยภาพทางอำนาจของกลุ่มต่างๆในสังคม สิ่งนี้จะนำมาสู่การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมต่างๆ
ข้อเก้า นโยบายต่อภาคเกษตรกรรม มีมาตรการเพิ่มผลิตภาพ มาตรการลดต้นทุน มาตรการทางการตลาด ควรมีการกำหนดการเพดานการถือครองที่ดินและจัดตั้ง ธนาคารที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
ข้อสิบ ควรมีการทบทวนเพื่อให้มีการปรับเพิ่มค่าแรงขึ้นต่ำอย่างเหมาะสม ปรับเปลี่ยน "กองทุนประกันสังคม" ให้เป็นองค์กรมหาชน จัดตั้งธนาคารเพื่อผู้ใช้แรงงานโดยให้กองทุนประกันสังคมถือหุ้น
ข้อสิบเอ็ด เร่งรัดการก่อหนี้เพื่อนำมาลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย ศึกษาและพิจารณาเพื่อปรับเปลี่ยน หน่วยงานจัดเก็บภาษี จากหน่วยงานราชการ มาเป็น องค์กรมหาชน ภายใต้การกำกับของรัฐบาล
ข้อสิบสอง ดำเนินการเพื่อให้ "ประเทศไทย" กลับคืนสู่ประชาธิปไตยและมีการเลือกตั้งตามโรดแมฟ หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามกรอบเวลาต้องมีคำอธิบายที่มีเหตุผลเพื่อไม่กระทบต่อความเชื่อมั่น หากทำไม่ได้จะกระทบภาคการลงทุนอย่างมากโดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศ