อุตสาหกรรมบริการกำลังจะได้รับอานิสงส์มากที่สุดจากการค้าโลก

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday December 26, 2016 16:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--ธนาคารเอชเอสบีซี ภาคบริการคาดว่าจะเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ของการค้าโลกภายในปี 2573 โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการขยายตัวของธุรกิจ B2B และธุรกิจไอซีที ภาคบริการของประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น บทวิจัยล่าสุดของเอชเอสบีซี ระบุว่าจากการที่ปัจจัยฉุดรั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองทำให้การค้าสินค้าโภคภัณฑ์และสินค้าอุตสาหกรรมทั่วโลกชะลอตัวลง ธุรกิจส่งออกที่ต้องการเพิ่มยอดขายควรมองหาโอกาสจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการ ขณะที่การส่งออกสินค้าทั่วโลกมีโอกาสหดตัวประมาณร้อยละ 3 ในปีนี้ (ในรูปดอลลาร์สหรัฐ) ยอดขายในต่างประเทศของภาคบริการ อย่างเช่น การท่องเที่ยว การธนาคาร การก่อสร้าง และการพัฒนาซอฟต์แวร์ ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากบทวิจัยคาดการณ์การค้าโลกของธนาคารเอชเอสบีซี ซึ่งได้มีการวิเคราะห์เจาะลึกการค้าภาคบริการรายประเทศอย่างครอบคลุมที่สุด หากรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ไม่ได้ออกมาตรการกระตุ้นใหม่ ๆ สำหรับการค้า มูลค่าการส่งออกสินค้าทั่วโลกคาดว่าจะฟื้นตัวทีละน้อย โดยจะขยายตัวร้อยละ 3 ในปี 2560 และจากนั้นจะขยายตัวร้อยละ 6 ต่อปีไปจนถึงปี 2573 ขณะเดียวกัน ภาคบริการจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี คิดเป็นมูลค่า 12.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐของกระแสการค้าโลกในปี 2573 เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 4.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้ อย่างไรก็ตาม หากมีการบังคับใช้อุปสรรคทางการค้าใหม่ ๆ ทั้งที่เป็นมาตรการทางภาษีและมิใช่มาตรการทางภาษี ไม่ว่าจะสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสหรัฐจากแนวคิดของนายโดนัลด์ ทรัมป์ หรือการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปแบบแข็งขันจริงจัง (Hard Brexit) ในสหราชอาณาจักร น่าจะมีผลทำให้มูลค่าการค้าสินค้าและบริการรวมกันในปี 2573 ลดลงร้อยละ 3 ไปอยู่ที่ 48.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐจากคาดการณ์ปัจจุบันที่ 50 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ นางนาตาลี บลายท์ ผู้อำนวยการบริหาร ธุรกิจบริการการค้าและเครือข่ายธุรกิจระหว่างประเทศ สายงานระดับโลก ธนาคารเอชเอสบีซี กล่าวว่า "ภาพรวมการค้าทั่วโลกทั้งทางด้านสินค้าและบริการสะท้อนอย่างชัดเจนถึงมูลค่าการค้าระหว่างประเทศที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเรา และมูลค่าการกระจายความเสี่ยงในการเติบโตธุรกิจในระยะยาว เราได้เห็นว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวที่ลดลง กำลังกระตุ้นการขยายตัวของภาคบริการ ในขณะเดียวกันก็มีหลายปัจจัยที่มีผลต่อการเติบโตของการค้าสินค้า เช่น ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และการใช้จ่ายด้านการลงทุนที่ซบเซา" ในการวิเคราะห์การค้าทวิภาคีระหว่างประเทศคู่ค้าสำคัญ 25 ประเทศ ธนาคารเอชเอสบีซีและบริษัท Oxford Economics ซึ่งเป็นบริษัทพันธมิตรวิจัย พบว่าตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินของโลก การส่งออกบริการขยายตัวแซงหน้าการขยายตัวของการค้าสินค้า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความผันผวนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในภาคบริการน้อยกว่าการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้า ในช่วงปี 2543-2558 การค้าในธุรกิจ B2B และธุรกิจไอซีทีขยายตัวได้ดี โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 9 และร้อยละ 12 ต่อปีตามลำดับ เนื่องจากมีการพัฒนาแบบจำลองธุรกิจเพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น การแบ่งปันข้อมูลผ่านระบบ cloud ในปี 2558 สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร จีน เยอรมนี และฝรั่งเศส เป็นผู้ส่งออกบริการรายใหญ่ที่สุดของโลก และจะยังคงเป็นเช่นเดิมในปี 2573 แต่ตลาดที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะเสียส่วนแบ่งการตลาด เนื่องจากทุกวันนี้หลายประเทศในตลาดเกิดใหม่ได้พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น อินเดียได้กลายเป็นผู้ส่งออกกิจการรับจ้างบริหารธุรกิจ (Business Process Outsourcing: BPO) และบริการสนับสนุนทางการเงิน เภสัชกรรม และวิศวกรรมที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง และมีแนวโน้มที่จะส่งออกธุรกิจเหล่านี้เพิ่มขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม ในขณะที่การค้าภาคบริการยังเติบโตต่อเนื่อง แต่ก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับการค้าสินค้าในตลาดโลก โดยการค้าสินค้าคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 37 ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2573 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75 ของการค้ารวม สำหรับการค้าภาคบริการในอาเซียนก็มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน และจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของ จีดีพีอาเซียนอย่างต่อเนื่อง สำหรับภาคบริการของไทยในปี 2558 มีสัดส่วนร้อยละ 58 ของจีดีพี ตามหลังสิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 76.5 และร้อยละ 62 ตามลำดับ การส่งออกบริการของประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าภาพรวมสำหรับการส่งออกสินค้าจะอ่อนแอ การเติบโตที่แข็งแกร่งของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย และแผนการเปิดเสรีภาคการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย บ่งชี้ว่าการขยายตัวของภาคบริการของไทยมีแนวโน้มจะยังคงดำเนินต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ