กรุงเทพฯ--27 ธ.ค.--มหาวิทยาลัยนเรศวร
ศูนย์เรียนรู้การใช้ประโยชน์และอนุรักษ์ ความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น" ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์และภาคีเครือข่าย จัดโครงการ "ปลูกส้มซ่า 99 ต้น ตามรอยองค์ภูมิพล เพื่อชุมชนแห่งการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน" ขึ้น เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2559 ณ แปลงปลูกพืชสมุนไพร วัดสะกัดน้ำมัน บ้านวังส้มซ่า ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก โดยมีนางณัฏฐิยาภรณ์ ศรีสุบรรณ์ พัฒนาการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานในงาน มีผู้แทนจากภาครัฐและเอกชน ตลอดจนผู้นำชุมชน และชาวบ้านวังส้มซ่า ร่วมใจกันปลูกต้นส้มซ่า จำนวน 99 ต้น เพื่อดำเนินตามรอยพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั้งยังเป็นการปลูกจิตสำนึกของคนในชุมชนในการอนุรักษ์ต้นส้มซ่าพืชสมุนไพรดั้งเดิมของท้องถิ่นให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ตลอดจนเป็นการสร้างสานความสัมพันธ์อันดีกับองค์กรต่าง ๆ ในจังหวัดพิษณุโลก เกิดความร่วมมือกันในการพัฒนา ต่อยอดพืชสมุนไพรส้มซ่าต่อไป
นาเผอิญ พงษ์สีชมพู ประธานศูนย์เรียนรู้การใช้ประโยชน์และอนุรักษ์ ความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า "ชุมชนบ้านวังส้มซ่าเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่น้อมนำปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม กล่าวคือ การอนุรักษ์ 'ส้มซ่า' พืชสมุนไพรดั้งเดิมของท้องถิ่นที่มีมาแต่อดีต โดยการรณรงค์ปลูกส้มซ่าอย่างน้อยบ้านละ 1 ต้น ตลอดจนนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม ในนามกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์ทรัพยากรชีวภาพเพื่อเศรษฐกิจชุมชนบ้านวังส้มซ่า ภายใต้การดูแลของสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) และความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน พร้อมเปิดให้บริการส้มซ่าสปาเพื่อสุขภาพ ทั้งยังได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การใช้ประโยชน์และอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เพื่อมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรชีวภาพในท้องถิ่น ตลอดจนการสืบสาน ประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ทั้งยังเป็นขุมความรู้ เป็นคลังแห่งปัญญาสำหรับนักเรียน นักศึกษา ประชาชน เป็นศูนย์ต้นแบบให้กับชุมชนและองค์กรอื่น ๆ"
โครงการปลูกส้มซ่า 99 ต้น ตามรอยองค์ภูมิพล เพื่อชุมชนแห่งการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืนในครั้งนี้ นับเป็นกิจกรรมที่แสดงถึงการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทาง การพลิกฟื้น อนุรักษ์ ส่งเสริมการปลูกต้นส้มซ่าพืชสมุนไพรดั้งเดิมของท้องถิ่นที่มีมาแต่อดีต สร้างคุณค่าทรัพยากรท้องถิ่น ให้เกิดนวัตกรรม สร้างรายได้ในชุมชน เสริมสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในรูปแบบสานพลังประชารัฐ เป็นแบบอย่างในการดำเนินวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพ อีกทั้งเป็นการแสดงถึงความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช