กรุงเทพฯ--27 ธ.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
โดย ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)
การที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคไปอย่างสิ้นเชิง และผลักดันให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวเข้าสู่การค้าในโลกยุคดิจิทัล ผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า Online Marketplace หรือที่เรารู้จักกันในรูปแบบของ E-Commerce ซึ่งเป็นกระแสที่กำลังมาแรงทั่วโลกรวมถึงไทย ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ที่ทำการสำรวจมูลค่าตลาด E-Commerce ในประเทศไทยโดยการสำรวจผู้ประกอบการกว่า 5 แสนราย พบว่า ในปี 2559 มูลค่า E-Commerce อยู่ที่ราว 2.52 ล้านล้านบาท ขยายตัวเฉลี่ย 48% ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมาและคิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของมูลค่าการค้าสินค้าและบริการทั้งหมดของผู้ประกอบการกลุ่มสำรวจ ซึ่งกระแสดังกล่าวกำลังเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าส่งค้าปลีกอย่างสิ้นเชิง
ขณะเดียวกัน E-Commerce ยังก้าวเข้ามามีบทบาทต่อการค้าระหว่างประเทศมากขึ้นเป็นลำดับ โดยมูลค่าการค้าระหว่างประเทศผ่านช่องทาง E-Commerce หรือที่เรียกกันว่า Cross-border E-Commerce เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดย Alibaba ผู้ประกอบการ E-Commerce รายใหญ่ของโลกคาดว่า Cross-border E-Commerce ทั่วโลกในปี 2559 จะมีมูลค่าราว 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 30% จากปี 2558 และคาดว่ามูลค่า Cross-border E-Commerce จะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 หรือคิดเป็นอัตราขยายตัวเฉลี่ยราว 25% ต่อปี สวนทางกับภาวะการค้าโลกที่กำลังอยู่ในช่วงซบเซา
การที่ Cross-border E-commerce ก้าวเข้ามามีบทบาทต่อการค้าระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นดังกล่าว ทำให้รูปแบบของธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไปตลอดทั้ง Value Chain อาทิ
- ภาคการผลิต กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตจาก Mass Production หรือการผลิตสินค้าชนิดเดียวปริมาณมากเพื่อให้ต้นทุนต่อหน่วยถูกลง ไปสู่รูปแบบการผลิตแบบ Mass Customization ที่เน้นการผลิตสินค้าที่เฉพาะเจาะจงตามความต้องการของลูกค้าและผลิตสินค้าที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีความซับซ้อนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์ ขนาด สี รวมถึงฟังก์ชั่นการใช้งาน เนื่องจาก Cross-border E-Commerce ทำให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบสินค้าจากผู้ผลิตทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วและเลือกซื้อสินค้าที่ตรงกับความต้องการของตนเองได้ง่ายขึ้น
- ธุรกิจขนส่งสินค้า จากภาวะการค้าโลกที่กำลังซบเซา ทำให้ธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือ โดยเฉพาะเรือคอนเทนเนอร์ที่เน้นขนส่งสินค้าปริมาณมากกำลังประสบปัญหา ดังเช่นที่มีข่าวการล้มละลายของบริษัทสายการเดินเรือยักษ์ใหญ่ของโลกในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สวนทางกับธุรกิจขนส่งทางอากาศ รวมถึงธุรกิจบริการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (Courier Service) ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วตามการเติบโตของ Cross-border E-Commerce ที่มักเป็นการซื้อสินค้าปริมาณไม่มาก และผู้บริโภคเน้นความรวดเร็วและปลอดภัยในการขนส่งเป็นหลัก
- ตัวกลางทางการค้า ในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการค้าโลก ได้แก่ Trading Company ซึ่งทำธุรกิจในลักษณะซื้อมาขายไป แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกซบเซาในปัจจุบัน ทำให้ Trading Company จำนวนมากต้องประสบปัญหา แต่ด้วยการเติบโตของ E-Commerce ทำให้เกิดตัวกลางทางการค้ารูปแบบใหม่ในการเป็น Platform Provider ซึ่งก็คือเว็บไซต์ E-Commerce ต่างๆ ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและก้าวเข้ามามีอิทธิพลในโลกการค้ายุคปัจจุบัน
สำหรับประเทศไทย แม้มูลค่า E-Commerce จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วดังที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่ส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายสินค้าภายในประเทศเป็นหลัก ขณะที่ Cross-border E-Commerce ยังมีไม่มากนัก ซึ่งจากผลสำรวจของ ETDA พบว่า Cross-border E-Commerce ของประเทศไทยในปี 2558 มีสัดส่วนเพียง 7% ของมูลค่า E-Commerce ทั้งประเทศ ซึ่งถือว่ายังน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่า Cross-border E-Commerce รวมทั้งโลกซึ่งมีสัดส่วนราว 20% ของมูลค่าตลาด E-Commerce ทั้งหมด ดังนั้น Cross-border E-Commerce จึงถือเป็นความท้าทายและเป็นอีกช่องทางสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ส่งออกในการขยายตลาดส่งออกเพื่อช่วยลดผลกระทบจากการส่งออกในรูปแบบเดิมที่กำลังซบเซา