กรุงเทพฯ--27 ธ.ค.--กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยการจัดอันดับความยั่งยืนและความรับผิดชอบทางสังคมของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋อง ประจำปี 2559 ระบุว่า บริษัทปลาทูน่ากระป๋องในประเทศไทย โดยรวมมีแนวโน้มการพัฒนาด้านความยั่งยืนในทางที่ดีขึ้นจากปีที่แล้ว แต่ยังต้องปรับปรุงในเรื่องการจัดหาปลาทูน่าจากการทำประมงที่ไม่ยั่งยืนและความโปร่งใสในการให้ข้อมูลต่อผู้บริโภค
รายงาน "จากทะเลสู่กระป๋อง: การจัดอันดับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2559" จัดทำขึ้นเป็นปีที่สองโดยกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพิจารณาถึงห่วงโซ่อุปทานของบริษัทผลิตปลาทูน่ากระป๋องและความสอดคล้องต้องกันของห่วงโซ่อุปทาน และใช้เกณฑ์ประเมิน 7ข้อ ประกอบด้วย การตรวจสอบย้อนกลับ ความยั่งยืน ความถูกต้องตามกฎหมาย ความเป็นธรรม นโยบายการจัดหาแหล่งวัตถุดิบ ความโปร่งใสและข้อมูลเพื่อผู้บริโภค และการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ผลการประเมินประเมินผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า 12 แบรนด์ พบ 1 แบรนด์อยู่ในเกณฑ์
"ควรปรับปรุง" และ 11 แบรนด์อยู่ในเกณฑ์ "พอใช้" แบรนด์ที่อยู่ในเกณฑ์ "ควรปรับปรุง" คือ อะยัม และเป็นที่น่าสังเกตว่าไม่มีแบรนด์ปลาทูน่ากระป๋องแบรนด์ใดเลยที่ถูกจัดอันดับอยู่ในเกณฑ์ "ดี" ถึงแม้ว่าการจัดอันดับครั้งนี้เป็นการจัดอันดับเป็นปีที่ 2 ก็ตาม
เป็นที่น่าสังเกตว่า การจัดอันดับผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องปี 2559 นี้ แบรนด์ปลาทูน่ากระป๋องในประเทศไทยมีความสนใจให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมมากขึ้นซึ่งถือเป็น จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืนของธุรกิจอุตสาหกรรมปลาทูน่า "
แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเลือกชนิดพันธุ์ปลาทูน่าและการใช้เครื่องมือจับทูน่า เช่น เครื่องมือล่อปลา (FADs) นั้นยังคงเป็นข้อกังวล
อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำสำนักงานประเทศไทย กล่าวว่า "ปริมาณปลาทูน่าที่เหลืออยู่ทั่วโลกขณะนี้น่าวิตก และบริษัทปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่หลายบริษัทยังคงใช้ทูน่าบางชนิดพันธุ์ที่ตกอยู่ในความเสี่ยง ในการสูญพันธุ์สูง"
ปริมาณปลาทูน่าที่ลดน้อยลงในปัจจุบันบ่งบอกสถานะของการทำประมงเกินขนาด บัญชีแดงของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) ได้ขึ้นทะเบียนปลาทูน่าครีบยาว (Thunnus alalunga)และ ปลาทูน่าครีบเหลือง (T. albacares) อยู่ในสถานะ "ใกล้ถูกคุกคาม" และ ปลาทูน่าตาโต(T. obesus) อยู่ในข่ายใกล้สูญพันธุ์ นอกจากนี้ รายงานของกรีนพีซยังระบุถึงบริษัทปลาทูน่ากระป๋องหลายแห่ง และเป็นส่วนใหญ่ที่ยังจับปลาทูน่าสายพันธุ์ที่สุ่มเสี่ยงเหล่านี้อยู่
ผลจากการสำรวจเพื่อจัดอันดับนี้พบว่าบางบริษัทใช้มาตรฐานต่างระดับซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดผู้บริโภคขั้นสุดท้าย ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องที่มีตลาดปลายทางเป็นผู้บริโภคขั้นสุดท้ายในประเทศไทยมักจะไม่ค่อยมีข้อมูลว่าในกระป๋องนั้นบรรจุปลาทูน่าชนิดใด ในขณะที่เมื่อส่งออกไปยังประเทศอังกฤษ บริษัทเดียวกันนี้จะทำทุกวิถีทางที่จะทำให้แน่ใจว่าทุกกระป๋องมีข้อมูลทุกๆ อย่างบนฉลาก ซึ่งรวมถึงชนิดของปลาทูน่า แหล่งทำประมง และวิธีการทำประมง ผู้บริโภคในประเทศไทยควรจะได้รับข้อมูลเช่นเดียวกันกับผู้บริโภคในตลาดอื่นๆ
"บริษัทผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องต้องเปิดเผย โปร่งใส และประชาสัมพันธ์ข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมให้ผู้บริโภค กล่าวง่ายๆคือ ผู้บริโภคควรต้องรู้และสืบหาด้วยตัวเองด้วยว่า ปลาทูน่ากระป๋องแบรนด์โปรดนั้นน่าเชื่อถือมากแค่ไหน และบริษัทผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องแบรนด์โปรดนั้นมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคมมากเพียงใด" อัญชลี กล่าวเพิ่มเติม
กรีนพีซเรียกร้องให้บริษัทผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องในประเทศไทยดำเนินการจัดการให้มีระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่สาธารณชนเข้าตรวจสอบได้ภายในปี 2563หรือเร็วกว่านั้น เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลการประมงให้ผู้บริโภคได้รับรู้ให้มากขึ้นถึงแหล่งจับปลาทูน่า ทำประมงที่ไหนและเมื่อไหร่ ด้วยเรือประเภทใด และนำขึ้นฝั่งแปรรูปที่ไหนและเมื่อไหร่