กรุงเทพฯ--27 ธ.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
การพัฒนาคน เป็นจุดเริ่มต้นสู่การพัฒนาสังคมและประเทศชาติอย่างยั่งยืน... บ๊อช เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาคน โดยเฉพาะเยาวชนผู้ด้อยโอกาส เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองในอนาคตได้อย่างยั่งยืน จึงร่วมมือกับคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดตั้งโครงการ "ฝึกอบรมจากรุ่นสู่รุ่น" (Train the Trainers) โครงการระยะยาวเพื่อพัฒนาทักษะวิชาชีพด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนชาวเขาที่อยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิทักษะเพื่อชีวิต (Skills for Life Foundation) จังหวัดเชียงใหม่ ได้ฝึกทักษะด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างสร้างสรรค์และการผลิตชิ้นงานเพื่อนำไปใช้จริง หวังจุดไอเดียต่อยอดการประกอบอาชีพในอนาคต
มร. โจเซฟ ฮง กรรมการผู้จัดการ บ๊อช ประเทศไทย กล่าวถึงเจตจำนงของบ๊อช ในการสนับสนุนมูลนิธิทักษะเพื่อชีวิต และการประสานความร่วมมือกับคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่า "บ๊อชมีจุดมุ่งหมายในการช่วยเหลือเยาวชน ให้มีความสามารถในการพึ่งพาตัวเองได้ หนึ่งในนั้นคือ การร่วมมือกับมูลนิธิทักษะเพื่อชีวิตในการสนับสนุนและฝึกฝนทักษะที่จะสร้างอาชีพในอนาคตให้แก่เยาวชนผู้ด้อยโอกาส ทั้งนี้ เป้าหมายของเราจะสำเร็จลุล่วงได้ จำเป็นจะต้องมีพันธมิตรที่ดี ดังนั้นเราจึงได้ร่วมมือกับ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งทั้งคณาจารย์และนักศึกษามีความเชี่ยวชาญในทักษะด้านการออกแบบอย่างสร้างสรรค์ เราได้ออกแบบโครงการ "ฝึกอบรมจากรุ่นสู่รุ่น" ซึ่งเป็นการสร้างชิ้นงานแบบ DIY ขึ้นมา เพื่ออบรมให้น้องๆ จากมูลนิธิฯ ได้เรียนรู้การประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ขึ้นมาด้วยตนเอง อาทิ เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งภายใน และของใช้สอยต่างๆ โดยใช้เครื่องมือไฟฟ้าของบ๊อชในการสร้างสรรค์ชิ้นงาน อาทิ สว่าน เลื่อยวงเดือน กบไฟฟ้า เครื่องมือไฟฟ้าเดรเมล ที่บ๊อชได้บริจาคให้กับมหาวิทยาลัยและมูลนิธิฯ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หลังจากที่น้องๆ ได้เรียนรู้จากคณาจารย์และพี่ๆ แล้ว จะสามารถนำความรู้ ความสามารถ มาผลิตสินค้างานฝีมือได้ด้วยตนเอง และนำความรู้นี้ถ่ายทอดไปยังเพื่อนๆ ในมูลนิธิฯ และท้ายที่สุด ทุกคนจะสามารถนำความรู้นี้ไปสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพในอนาคต เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน"
รศ. ดร. วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า "นับเป็นโอกาสดีที่นักศึกษาของเราที่เข้าร่วมโครงการนี้ จะได้ประสบการณ์ที่มีค่ายิ่งและได้เห็นพลังของการให้ จากการที่เขาได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้อื่น ดิฉันคิดว่าความร่วมมือระหว่างคณะฯ และบ๊อชเป็นส่วนผสมที่ลงตัวมาก เพราะบ๊อชมีเทคโนโลยีและเครื่องมือที่ทันสมัยและตอบโจทย์ ในขณะที่เรามีความเชี่ยวชาญในด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ คณะของเรายังทำงานร่วมกับชุมชนอย่างใกล้ชิด เพื่อร่วมสร้างเมืองเชียงใหม่ให้เป็นเมืองแห่งงานฝีมือที่สร้างสรรค์ ซึ่งโครงการ "ฝึกอบรมจากรุ่นสู่รุ่น" นับเป็นก้าวย่างหนึ่งที่ทำให้เราเข้าใกล้จุดมุ่งหมายมากยิ่งขึ้น"
ดร. สุมนัสยา โวหาร ประธานหลักสูตรสาขาการออกแบบ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า "หนึ่งในภารกิจของคณะฯ คือการบริการวิชาการให้กับสังคม การร่วมงานกับบ๊อชและมูลนิธิทักษะเพื่อชีวิต จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับเยาวชนของมูลนิธิได้เป็นจำนวนมาก เพราะน้องๆ หลายคนมีความคุ้นเคยในการใช้เครื่องมือบางชนิดอยู่แล้ว แต่ยังขาดไอเดียในการออกแบบผลิตภัณฑ์ การที่เราเข้าไปเสริมทักษะด้านการออกแบบ รวมถึงแนวคิดในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ จึงทำให้น้องๆ สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นเพื่อไว้ใช้งานเอง และยังสามารถนำไปจำหน่ายในอนาคตได้อีกด้วย"
โครงการฝึกอบรมจากรุ่นสู่รุ่น เริ่มดำเนินกิจกรรมเมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเยาวชนจากมูลนิธิทักษะเพื่อชีวิตและนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ได้เรียนรู้วิธีใช้เครื่องมือไฟฟ้าต่างๆ จากวิทยากรของบ๊อช และได้เรียนรู้ขั้นตอนการทำงานออกแบบจากอาจารย์ประจำภาควิชาการออกแบบ รวมถึงความรู้ด้านหลักการตลาดเบื้องต้น เพื่อขยายมุมมองด้านการตลาดของผลิตภัณฑ์ โดยอาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อีกด้วย
นายธนพล หนันตา หรือน้องเพียว นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิจิตรศิลป์ สาขาการออกแบบ เล่าความรู้สึกหลังจากได้ร่วมโครงการว่า "ผมรู้สึกดีใจที่ได้นำความรู้ที่เรียนมาช่วยพัฒนาน้องๆ ในเรื่องการออกแบบและการทำผลิตภัณฑ์ โดยให้เขาได้คิด ได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ชิ้นงาน ผ่านการทำงานเป็นกลุ่ม เราเปิดโอกาสให้น้องๆ นำเสนอคอนเซ็ปต์จากสิ่งที่ตัวเองชอบ แล้วนำคอนเซปต์ รวมถึงฟังก์ชั่นการใช้งานที่น้องอยากได้มาใส่ในงานออกแบบเพื่อให้ตรงตามที่น้องๆ ต้องการ จากนั้นเราก็ใช้เครื่องมือไฟฟ้าต่างๆ ช่วยกันผลิตชิ้นงาน เกิดเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่กลุ่มของเราต้องการคือ ชั้นวางของที่มีที่แขวนเสื้อผ้าดีไซน์น่ารักดูน่าใช้งานมากขึ้น น้องๆ ทุกคนให้ความสนใจและร่วมมือในการทำกิจกรรมดีมาก ทำให้เรามีความสุขที่เราได้ให้ช่วยน้องๆ ได้ทำให้สิ่งที่เขาต้องการและนำไปต่อยอดได้"
นายวสันต์ ลีปอ หรือน้องสันต์ นักศึกษาชั้นปวส. 2 สาขาวิชาไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ ตัวแทนเยาวชนจากมูลนิธิทักษะเพื่อชีวิตที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เล่าว่า "ผมรู้สึกสนุกกับการเข้าร่วมเวิร์คช็อปมากครับ เป็นประสบการณ์ที่ดีมากที่เราได้ฝึกทำงานเป็นกลุ่มร่วมกับพี่ๆ ได้เรียนรู้วิธีใช้เครื่องมือใหม่ๆ ของบ๊อช ได้คิดออกแบบ แล้วลงมือสร้างสรรค์ชิ้นงาน โดยมีพี่ๆ แนะนำอย่างใกล้ชิด ทำให้สิ่งที่เราวาดไว้ในหัวคือโคมไฟ ออกมาเป็นของใช้ได้จริงๆ ผมอยากจะนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้น้องๆ ที่ยังไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรม และนำไปต่อยอดกับวิชาที่ผมเรียน ผมขอขอบคุณบ๊อช และทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พี่ๆ และอาจารย์ทุกคน ที่จัดกิจกรรมดีๆ แบบนี้ขึ้นมาครับ"
นางสาวดลนภา จะกอ หรือน้องแนน นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนหอพระ จังหวัดเชียงใหม่ ตัวแทนเยาวชนจากมูลนิธิทักษะเพื่อชีวิต เล่าว่า "การเข้าร่วมกิจกรรมนี้ ทำให้หนูได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ และได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ได้แก่ ทักษะการเข้าสังคม การทำงานเป็นกลุ่มกับรุ่นพี่ ความรู้ด้านการตลาดจากอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งยังได้เรียนรู้การใช้เครื่องมือ รวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นครั้งแรก หนูชอบการแกะสลัก เราเลยแกะสลักไม้เป็นผลไม้ต่างๆ เช่น ส้ม แตงโม กีวี แก้วมังกร โดยใช้เครื่องมือของบ๊อชที่มีหัวสำหรับการแกะสลักไม้โดยเฉพาะ พอเสร็จ เราก็ใช้อุปกรณ์เผาไม้ จนออกมาสวยงาม ถ้าเป็นไปได้หนูอยากทำของที่ระลึก เล็กๆ น้อยๆ ไปจำหน่าย เพื่อเป็นทุนการศึกษาค่ะ"
นอกเหนือจากการฝึกประดิษฐ์ของใช้ DIY ที่เยาวชนจากทั้งสองฝ่ายได้ทำร่วมกันแล้ว บ๊อชและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังได้ร่วมกันประดิษฐ์ของเล่นสำหรับเด็ก เพื่อส่งต่อความสุขให้แก่น้องๆ ผู้ด้อยโอกาสจากมูลนิธิมือต่อมือ (Hand to Hand) ในพัทยา อีกหนึ่งมูลนิธิที่บ๊อชให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเร็วๆ นี้
มร. โจเซฟ ฮง กรรมการผู้จัดการ บ๊อช ประเทศไทย และพนักงานจิตอาสาของบ๊อช ร่วมกับ คุณโดมินิค ลอยต์วีเลอร์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิทักษะเพื่อชีวิต ร่วมกันบริจาคของเล่นทำมือจากโครงการ "ฝึกอบรมจากรุ่นสู่รุ่น" รวมทั้งสิ่งของจำเป็นอื่นๆ ให้กับทางมูลนิธิมือต่อมือ เพื่อช่วยเหลือน้องๆ ด้อยโอกาส ในด้านการศึกษา และความเป็นอยู่ประจำวัน
ปัจจุบัน มูลนิธิมือต่อมือ มีเด็กก่อนวัยเรียนในความดูแลประมาณ 50 คน มูลนิธิฯ ยังก่อตั้งชมรมเพื่อเยาวชน โดยมีเด็กเฉลี่ยประมาณ 70 คน เข้าร่วมกิจกรรมในวันหยุดสุดสัปดาห์ และยังมีโครงการเยี่ยมเรือนจำอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ มูลนิธิยังให้ความสำคัญต่อการให้ความรู้และอบรมเด็กนักเรียนเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ต รวมถึงให้ความช่วยเหลือแก่องค์กรบริหารท้องถิ่นในการวางนโยบายเพื่อคุ้มครองเด็กอีกด้วย