กรุงเทพฯ--27 ธ.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี เตือนนักท่องเที่ยว เดินป่า กางเต็นท์รับลมหนาว ระวังภัยจากไข้มาลาเรียและไข้รากสาดใหญ่ แนะหากมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น หรือมีแผลคล้ายรอยบุหรี่จี้ ให้รีบพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเข้าไปในป่า
วันนี้ (23 ธันวาคม 2559) นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี (สคร.10) กล่าวว่า ในช่วงนี้นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปสัมผัสกับอากาศหนาวเย็นตามสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และบางส่วนมักนิยมกิจกรรมการเดินป่า ตั้งแคมป์ นอนกางเต็นท์ หรือส่องสัตว์ในป่า ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวมีโอกาสถูกยุงกัดและเสี่ยงต่อการป่วยไข้มาลาเรีย โดยเฉพาะผู้ที่นิยมเข้าป่าตามแนวชายแดน เนื่องจากยุงก้นปล่องที่นำเชื้อมาลาเรียจะพบมากบริเวณป่าเขาชายแดนของประเท
นพ.ศรายุธ กล่าวต่อไปว่า ไข้มาลาเรียมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค ยุงชนิดนี้มีแหล่งเพาะพันธุ์บริเวณเขาสูง ป่าทึบ สวนยางพารา แหล่งน้ำธรรมชาติ เริ่มออกหากินเวลาใกล้ค่ำจนรุ่งสาง โดยหลังจากถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อมาลาเรียกัดประมาณ 10-14 วัน จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น สลับร้อน เหงื่อออก รู้สึกสบายแล้วกลับมาเป็นไข้ใหม่อีกครั้ง ให้คิดว่าอาจเป็นไข้มาลาเรีย ขอให้รีบไปพบแพทย์ในสถานพยาบาลทุกแห่งใกล้บ้าน เพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรีย และต้องแจ้งประวัติการเข้าป่าหรือไปบริเวณพื้นที่เสี่ยงให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อให้การรักษารวดเร็ว เพราะหากช้าอาจมีอาการแทรกซ้อนร้ายแรงและเสียชีวิตในที่สุด
นอกจากนี้นักท่องเที่ยวที่จะไปกางเต็นท์ หรือตั้งแคมป์ในป่าให้ระมัดระวัง "ตัวไรอ่อน" ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิด โรคสคับไทฟัส หรือไข้รากสาดใหญ่ ที่มักอาศัยในขนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น หนู กระแต เป็นต้น และชอบกัดบริเวณขาหนีบ เอว ลำตัวแถวใต้ราวนม รักแร้ จะปล่อยเชื้อริกเก็ตเซียเข้าสู่คน ทำให้ผู้ที่ถูกกัดมีไข้สูง ตัวร้อนจัด หนาวสั่น ปวดศีรษะบริเวณ ขมับ และหน้าผากอย่างรุนแรง อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตัว ปวดกระบอกตา มีแผลคล้ายถูก บุหรี่จี้มีสีแดงคล้ำ เป็นรอยบุ๋มแต่ไม่คัน และผู้ป่วยประมาณร้อยละ 20 อาจมีอาการแทรกซ้อนอย่างรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
ดังนั้นนักท่องเที่ยวที่จะไปเที่ยวป่า กางเต็นท์ควรทำในบริเวณค่ายพักให้โล่งเตียน หลีกเลี่ยงการนั่ง และนอนบนพื้นหญ้า แต่งกายให้มิดชิด สวมถุงเท้าหุ้มไปจนถึงปลายขากางเกง ทายากันยุง และยาป้องกันแมลงกัดตามแขนขา และควรสังเกตอาการของตนเอง หากกลับจากเที่ยวป่า หรือกางเต็นท์ภายใน 2 สัปดาห์ และพบว่ามีอาการตามที่กล่าวมา ไม่ควรซื้อยากินเอง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเข้าไปในป่า ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422.