นนทบุรี--28 พ.ย.--อย.
สธ. รุกงานเศรษฐกิจชุมชน สนับสนุนภูมิปัญญาพื้นบ้าน ถือฤกษ์ 27 พฤศจิกายน 2544 เปิดร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนเป็นแห่งแรก ณ บริเวณโรงอาหาร อย. ก่อนขยายไปทั่วประเทศ ประเดิม 5 จังหวัดนำร่อง (นนทบุรี ปทุมธานี สระบุรี อ่างทอง สมุทรสงคราม) คัดเลือกผลิตภัณฑ์เด่นของจังหวัดมาจำหน่ายทุกวัน ณ บริเวณโรงอาหาร อย. เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น ขยายตลาดให้กับสินค้าชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน ว่า จากการที่กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้จัดทำโครงการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ 2543 เป็นต้นมา โดยร่วมมือกับหน่วยงานพหุภาคีทั่วประเทศ ได้แก่ หน่วยงานสาธารณสุขทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษาในท้องถิ่น องค์กรเอกชนเพื่อสาธารณประโยชน์ สภาหอการค้า ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรชุมชนผลิตภัณฑ์สุขภาพ ประเภท อาหาร ยาจากสมุนไพร และเครื่องสำอาง ให้มีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค ตลอดจนให้ชุมชนเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ช่วยเหลือสนับสนุนแหล่งผลิตในชุมชนครอบคลุมทุกจังหวัดจำนวน 1,221 ชุมชน มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาทั้งอาหาร ยาและเครื่องสำอาง จำนวนกว่า 5,000 ชนิด ปัจจุบันหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประสานและร่วมมือกันในการดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สุขภาพของชุมชนอย่างครบวงจรและต่อเนื่อง ตั้งแต่การส่งเสริมการผลิต การวิจัยภูมิปัญญาเพื่อพัฒนาการผลิต ไปจนถึงการส่งเสริมการตลาด โดยเฉพาะในส่วนของ อย. จะเข้าไปเน้นในเรื่องคุณภาพและความปลอดภัย ตลอดจนให้ผู้ผลิตปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฏหมายเกี่ยวกับการขออนุญาต การขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ และการพัฒนากระบวนการผลิตตามหลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดี
สำหรับในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2544 ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการเปิดร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน เพื่อประชาสัมพันธ์การดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนของกระทรวงสาธารณสุข และประชาสัมพันธ์สัญลักษณ์ของร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข โดยในระยะแรกได้คัดเลือกจังหวัดใกล้เคียง 5 จังหวัด คือ นนทบุรี ปทุมธานี สระบุรี อ่างทอง และสมุทรสงคราม ให้แต่ละจังหวัดจะนำผลิตภัณฑ์เด่นของจังหวัดมาจำหน่ายแก่ผู้บริโภค อาทิ ทุกวันจันทร์ จังหวัดอ่างทอง จำหน่าย กล้วยม้วน ฯลฯ วันอังคาร จังหวัดสมุทรสงคราม จำหน่าย ปลาทอดกรอบ อาหารทะเล ฯลฯ วันพุธ จังหวัดสระบุรี จำหน่าย กุนเชียง หมูหวาน ฯลฯ วันพฤหัสบดี จังหวัดปทุมธานี จำหน่าย น้ำพริกต่างๆ ฯลฯ และวันศุกร์ จังหวัดนนทบุรี จำหน่าย กล้วยอบ ขนมไทย เป็นต้น ทั้งนี้ ในอนาคตจะขยายการดำเนินงานไปในส่วนภูมิภาค ตามโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และจะขอความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นจัดจำหน่ายตามสถานที่ต่าง ๆ อาทิ สนามบิน สถานีขนส่ง โรงเรียน สหกรณ์ ฯลฯ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อไปว่า การดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในเรื่อง หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ กองทุนหมู่บ้านหนึ่งล้านบาทและการพักหนี้เกษตรกร โดยสนับสนุนให้ชุมชนผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบในท้องถิ่น ทำเอง กินเอง ใช้เองสามารถพึ่งตนเองได้ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง และหวังว่าผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เกิดจากภูมปัญญาพื้นบ้านจะได้รับการพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยเป็นที่ยอมรับ สามารถส่งออกไปจำหน่ายทั้งในตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ สร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชน ทำให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการแสดงความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป--จบ--
-อน-