กรุงเทพฯ--28 ธ.ค.--สำนักงาน ป.ป.ช.
ตามที่ สื่อมวลชนได้รายงานข่าวว่า มีผู้ร้องเรียนต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินขอให้ดำเนินการตรวจสอบคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีการออกระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการแต่งตั้งทนายความและการจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความ พ.ศ. ๒๕๕๒ และใช้เงินงบประมาณแผ่นดินจำนวนมากในการว่าจ้างสภาทนายความเพื่อฟ้องคดีต่างๆ ให้กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น
สำนักงาน ป.ป.ช. ขอเรียนชี้แจงว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙๗ วรรคสองประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒๓ (๒) และมาตรา ๑๑ วรรคสอง ได้กำหนดว่า ในกรณีที่คณะทำงานร่วมระหว่างอัยการสูงสุดและคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่อาจหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการฟ้องคดีได้ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจฟ้องคดีเองหรือแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องคดีแทน ดังนั้น เมื่อมีกรณีที่ต้องแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องคดีแทนจึงเป็นเรื่องที่อยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแต่งตั้งทนายความ รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการฟ้องคดีแทน คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้ออกระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการแต่งตั้งทนายความและการจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความ พ.ศ. ๒๕๕๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๒๕ (๔) และมาตรา ๑๐๗ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒
ในการดำเนินการตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการแต่งตั้งทนายความ ฯ ได้กำหนดให้สำนักงาน ป.ป.ช. ประสานงานไปยังสภาทนายความ เพื่อเสนอรายชื่อทนายความที่มีความรู้ ความสามารถในการว่าความมาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแต่งตั้งเพื่อฟ้องคดีแทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๘ ที่ได้กำหนดให้สภาทนายความมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภาทนายความ และอำนาจหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ ดังนั้น การดำเนินการของสภาทนายความตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการแต่งตั้งทนายความ ฯ จึงถือว่าเป็นการกระทำเพื่อส่งเสริม และช่วยเหลือหน่วยงานของรัฐ อันเป็นประโยชน์ต่อทางราชการและสังคม
ในการแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องคดีแทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ผ่านมา เกิดขึ้นในช่วงระยะเริ่มแรกซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ยังไม่สามารถพัฒนาพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ให้ดำเนินการฟ้องคดีแทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เอง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยทนายความที่เป็นผู้มีวิชาชีพโดยเฉพาะ เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินคดีที่เกิดขึ้น ส่วนในเรื่องของการกำหนดเงินรางวัล และค่าใช้จ่ายแก่ทนายความ ตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยการแต่งตั้งทนายความ ฯ กำหนดให้คำนึงถึงความยากง่ายของคดี และระยะเวลาที่ทนายความต้องปฏิบัติ ซึ่งคดีที่มีการแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องคดีแทนล้วนเป็นคดีที่มีความยุ่งยาก เกี่ยวข้องกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ในบางคดีจำเป็นต้องมีการแต่งตั้งทนายความจำนวนหลายรายเข้าร่วมเป็นคณะทนายความ การกำหนดจำนวนเงินรางวัล และค่าใช้จ่ายจึงมีความแตกต่างกันในแต่ละคดี อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันสำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีการจัดให้มีการพัฒนาพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ผ่านการอบรมหลักสูตรวิชาชีพพนักงานไต่สวน และหลักสูตรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีคุณสมบัติเป็นผู้ดำเนินการฟ้องคดีแทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นจำนวนมากขึ้น อันเป็นการดำเนินการที่เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการมอบหมายให้พนักงานไต่สวนดำเนินคดีในชั้นศาล พ.ศ.๒๕๕๔
สำนักงาน ป.ป.ช. จึงขอเรียนว่า การแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องคดีแทนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และการใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน อยู่บนพื้นฐานตามความจำเป็นและเหมาะสมแล้ว โดยในทางปฏิบัติที่ผ่านมา คดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งทนายความให้ฟ้องคดีแทน ทั้งศาลอาญาและศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ยอมรับการทำหน้าที่ทนายความ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งขึ้น
อนึ่ง ในประเด็นร้องเรียนเดียวกันนี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการ ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาประเด็นดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำหนังสือเพื่อแจ้งผลไปยังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินต่อไป