กรุงเทพฯ--29 ธ.ค.--สภาวิศวกร
?สภาวิศวกรมุ่งลดอุบัติเหตุบนท้องถนน เตรียมพร้อมรับมือการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ เชิญชวนเปิดไฟหน้ารถเวลากลางวัน พร้อมขอความร่วมมือจากผู้ผลิตรถยนต์ติด DRL (Daytime Running Lights) เป็นอุปกรณ์มาตรฐานสามารถลดความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุกว่า 30%
นายไกร ตั้งสง่า อุปนายกสภาวิศวกร คนที่ 1 กล่าวว่า ประเทศไทยได้ชื่อว่ามีอุบัติเหตุบนถนนที่สูงเป็นอันดับที่ 2 ของโลก สถิติการเสียชีวิตบนถนน 44 คนต่อประชากร 100,000 คนต่อปี ที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วงเทศกาล เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ ซึ่งภาครัฐมักจะมีโครงการ 7 วันอันตราย หรือ 10 วันอันตรายแต่สถิติอุบัติเหตุยังสูงต่อเนื่อง สภาวิศวกรจึงจัดโครงการเปิดไฟหน้ารถช่วยลดอุบัติภัย เป็นการเสริมทางเลือกให้แก่ ภาครัฐ ราชการ ได้สร้างมาตรการเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยความร่วมมือจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ขสมก. กรมการขนส่งทางบก สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม สสส. และบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
การดำเนินงานแบ่งออกเป็นการสร้างความตระหนัก และความร่วมมือใน 2 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1.ภาคประชาชน ซึ่งจะแนะนำผ่านสื่อสารมวลชนทุกช่องทาง เพื่อให้เห็นความสำคัญของการเปิดไฟเวลากลางวัน หรือการติดตั้งอุปกรณ์ DRL(Daytime Running Lights)ที่ร้านประดับยนต์ ซึ่งราคาไม่สูงเมื่อเทียบกับความปลอดภัยเพราะเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้มองเห็นได้ในทุกสภาพอากาศ ตลอดจนการเปิดไฟหน้ารถยังช่วยเพิ่มระยะการมองเห็นจาก 670 เมตร เป็น 1,400 เมตร 2.ภาคอุตสาหกรรม ในด้านการประชาสัมพันธ์ให้มีการติดตั้งไฟส่องสว่างในเวลากลางวัน DRL เป็นอุปกรณ์มาตรฐานเนื่องจากรถยนต์ในประเทศไทยส่วนใหญ่มากกว่า 95% ไม่มีไฟส่องสว่างในเวลากลางวัน DRL เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน สภาวิศวกรจะได้ร้องขอให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศไทยให้ติดตั้ง DRL เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรถยนต์ และขอให้ภาครัฐโดยกระทรวงอุตสาหกรรม สถาบันยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก ให้เป็นกฎหมายบังคับใช้ ให้แก่ ผู้ผลิตรถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทยทุกคัน ตั้งแต่ปี 2560 ผู้ประกอบการผลิตรถยนต์จะต้องติดตั้งไฟส่องสว่างในเวลากลางวัน DRL เป็นอุปกรณ์มาตรฐานให้แก่รถยนต์ทุกคัน ทุกรุ่น
สภาวิศวกรมีความมั่นใจว่า " โครงการเปิดไฟหน้ารถ ช่วยลดอุบัติเหตุ " เปิดไฟหน้ารถในเวลากลางวันจะสามารถลดอุบัติเหตุอันอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บบนท้องถนนได้ หากโครงการนี้สามารถทำให้ช่วยชีวิตได้แม้เพียง 1 ชีวิต ก็ถือได้ว่า โครงการนี้ประสบความสำเร็จแล้ว มิใช่เฉพาะหน้าเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ แต่ทุกวันทั้งปีคือ 365 วันอันตราย.