กรุงเทพฯ--29 ธ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดของขวัญผู้ประกอบการปี 2560 กว่า 830 ล้านบาท เปิดตัว 35 โครงการ ส่งเสริมผู้ประกอบการ 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 1. กลุ่ม Startup มีบริการไฮไลท์ อาทิ โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (NEC) โครงการสร้างธุรกิจใหม่ (NBC) กิจกรรม Plan To Biz กิจกรรมเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี 2. กลุ่ม S-Curve และ Super Cluster มีบริการไฮไลท์ อาทิ การพาผู้ประกอบการไปแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ กิจกรรมการพัฒนาหุ่นยนต์และเครื่องจักร การสนับสนุนงบประมาณด้านชิ้นส่วนอากาศยาน การแพทย์ ยานยนต์ ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี 3.กลุ่ม SMEs มีบริการไฮไลท์ อาทิ โครงการเอสเอ็มอีสปริงอัพ กิจกรรมพัฒนาผู้ประกอบการแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ โครงการ Fashion Next 2017 4. กลุ่ม OTOP และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรม มีบริการไฮไลท์ อาทิ การให้บริการด้านเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบคัวและหัตถกรรมไทยในวงเงินสูงสุด 2 ล้านบาทต่อราย การจัดตั้งหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้กระจายครบทุกจังหวัดใน 5 ปี บริการ OTOP Networking เป็นต้น ทั้งนี้ บริการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับโอกาสอันดีเพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงการดำเนินธุรกิจและนำพาประเทศสู่ฐานะผู้นำทางเศรษฐกิจในอนาคต โดยนอกจากโครงการดังกล่าวนี้ ในปี 2560 ผู้ประกอบการยังสามารถใช้บริการจากศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรม (BSC) ที่มีอยู่จำนวน 14 ศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหา SMEs ในทุกๆ ด้านโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร.02-202-4414 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th
ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตลอดปี 2559 ที่ผ่านมา กสอ. ได้ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ในทุกระดับผ่านกิจกรรมและการดำเนินโครงการด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง จนสมารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้กว่า 8,555 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นการติดอาวุธด้วยการใช้ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเป็นตัวขับเคลื่อนและยกระดับขีดความสามารถเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้ในยุคที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ยังเร่งเดินหน้าภาคอุตสาหกรรมด้วยการปรับแก้ จัดระบบและปรับทิศทาง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถประยุกต์ใช้โอกาสพร้อมทั้งรับมือกับความท้าทายที่กำลังจะมาถึง โดยขณะนี้สัญญาณการแข่งขันทางเศรษฐกิจบนโลกที่ไร้พรมแดนได้เกิดขึ้นแล้ว เมื่อทุกภาคส่วนมีความพร้อมที่จะปรับธุรกิจตามการเปลี่ยนแปลงและความต้องการของตลาดโลกได้อย่างเท่าทัน ก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากที่จะทำให้ SMEs ไทยสามารถนำพาประเทศสู่ฐานะผู้นำทางเศรษฐกิจต่อไปได้ในอนาคต
ดร.พสุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2560 กสอ. ได้จัดทำโครงการภายใต้งบประมาณกว่า 830 ล้านบาท รวมกว่า 35 โครงการ ที่เป็นเสมือนการจัดแพ็กเกจของขวัญเพื่อตอบสนองความต้องการและเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ในทุกมิติผ่านบริการและกิจกรรมเพื่อยกระดับขีดความสามารถในรูปแบบที่ไม่มีค่าใช้จ่ายโดยมีจุดประสงค์ในการมอบโอกาสและผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถหยิบยกกลยุทธ์และบริการฟรีที่เป็นประโยชน์ต่างๆเหล่านี้ มาใช้แข่งขันบนเวทีการค้าตามระดับขีดความสามารถ ซึ่งได้รวบรวมโครงการจากหน่วยงานภายใต้กำกับของ กสอ. จัดเป็นของขวัญในศักราชใหม่ให้ผู้ประกอบการใน 4 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่ม Startup เป็นการสร้างแรงผลักดันเพื่อให้ผู้ประกอบการกล้าที่จะเริ่มต้นธุรกิจ โดยเริ่มจากโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (NEC) โครงการสร้างธุรกิจใหม่ (NBC) และโครงการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม มีกิจกรรมไฮไลท์ ได้แก่ กิจกรรม Plan to Biz ที่เปิดโอกาสให้ผู้มีความพร้อมในการจัดตั้งธุรกิจได้แสดงวิสัยทัศน์และนำเสนอแนวคิดหรือผลงานการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่จากความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีต่อแหล่งเงินทุน เพื่อสนับสนุนให้ได้รับเงินทุนในรูปแบบเงินให้เปล่าสู่การจัดตั้งธุรกิจอย่างมืออาชีพ และกิจกรรมเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี ที่ให้บริการการจัดสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจดิจิทัล-เทคโนโลยี อาทิ จัดพื้นที่สำนักงานและเครื่องอำนวยความสะดวก การจัดฝึกอบรมขั้นพื้นฐานในการประกอบธุรกิจ การให้คำปรึกษาด้านเทคนิค กฎหมาย การตลาด การบริหารจัดการองค์กรและบุคลากร และอื่น ๆ โดยในปี 2560 ตั้งเป้าพัฒนาให้เกิดผู้ประกอบการในกลุ่มดังกล่าวนี้ไม่ต่ำกว่า 4,000 ราย ภายใต้งบประมาณกว่า 80 ล้านบาท
กลุ่ม S-Curve และ Super Cluster กสอ. จัดงบประมาณ 190 ล้านบาทผ่าน 2 กิจกรรมหลัก โดยบริการแรกเริ่มต้นด้วยการมอบงบประมาณกว่า 70 ล้านบาท ผ่านกิจกรรมเฟ้นหานักออกแบบผลิตภัณฑ์ทางวิศวกรรมจากการเชื่อมโยงกับสถาบันเครือข่ายภายใต้สังกัด รวมทั้งดึงดูดนักวิจัยที่มีประสบการณ์มาร่วมพัฒนาเพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ตามด้วยการจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายและซูเปอร์คลัสเตอร์ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาธุรกิจ รวมทั้งนำพาผู้ประกอบการไปแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ และกิจกรรมที่ 2 อีกกว่า 120 ล้านบาท มุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการด้านชิ้นส่วนอากาศยาน การแพทย์ ยานยนต์ ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี ไปใช้ในการพัฒนาบุคลากรและสถานประกอบการ อีกทั้งยังมุ่งนำมาสร้างและพัฒนาหุ่นยนต์และเครื่องจักร เพื่อช่วยให้กระบวนการทางอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการในกลุ่มนี้เกิดประสิทธิภาพและความเข้มแข็งมากขึ้น โดยทั้ง 2 กิจกรรมวางเป้าหมายให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการพัฒนาประสิทธิภาพไม่ต่ำกว่า 430 กิจการ
กลุ่ม SMEs เป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการรายเดิมที่มีอยู่กว่า 2.7 ล้านรายในแต่ละสาขา กสอ.ได้จัดสรรงบประมาณให้กับกลุ่มนี้รวมทั้งสิ้นกว่า 390 ล้านบาท โดยตั้งเป้าส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและต่อยอดถึงการส่งออกในระดับต่างประเทศได้ โดยมีบริการรองรับผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ฟรีกว่า 14 โครงการ เริ่มต้นด้วยโครงการไฮไลท์ที่ประสบความสำเร็จในปี 2559 อย่างโครงการเอสเอ็มอีสปริงอัพ เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการที่มีศักยภาพแบบก้าวกระโดดในปี 2560 อีกประมาณ 345 ราย กิจกรรมการพัฒนาผู้ประกอบการแฟชั่นและไลฟ์สไตล์เพื่อให้เกิดการสร้างกิจการและผลิตภัณฑ์กว่า 50 ล้านบาท ผ่านโครงการ Thai Touch Project โครงการ Fashion Next 2017 โครงการ TIFA เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีงบประมาณอีกกว่า 80 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะพัฒนาประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ด้วยการออกแบบ การสร้างตราสินค้าและการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ โดยยังต่อยอดการนำสินค้าที่พัฒนาแล้วเข้าสู่ระบบ e-commerce พร้อมนำไปจัดแสดงและจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย โดยโครงการทั้งหมดผู้ประกอบการจะได้รับบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น
กลุ่ม OTOP และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรม สำหรับในกลุ่มสุดท้ายนี้ กสอ. มุ่งจัดกิจกรรมการยกระดับผู้ประกอบการใน 5 ภูมิภาค เพื่อสร้างความคึกคัก เข้มแข็ง และความน่าดึงดูดใจให้แก่เศรษฐกิจในระดับชุมชน เริ่มด้วยการให้บริการด้านเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทยในวงเงินสูงสุด 2 ล้านบาท ตลอดจนกิจกรรมส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์เพื่อส่งออกสินค้าโอทอปไปยังต่างประเทศ รวมถึงยังมีกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะการผลิตในหลักสูตรวิชาชีพทั้งในระยะสั้นและระยะยาวให้แก่ผู้ประกอบการและทายาทวิสาหกิจชุมชน และการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมโดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา รวมทั้งการส่งเสริมราษฎรในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นอกเหนือจากนี้ยังเดินหน้าโครงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรม (CIV) เพื่อจัดตั้งหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้กระจายครบทุกจังหวัดภายใน 5 ปี และยังมีการจัดกิจกรรมทดสอบตลาดภายในงาน OTOP City และ OTOP Midyear 2017 และบริการ OTOPNetworking เพื่อจับคู่ธุรกิจและเปิดตลาดใหม่ๆ ให้กับวิสาหกิจชุมชนได้ส่งสินค้าไปยังศูนย์การค้าชั้นนำและประเทศที่ให้ความนิยมในสินค้าโอทอปของไทยโดยเบื้องต้นได้วางเป้าหมายให้เกิดการพัฒนาในกลุ่มดังกล่าวนี้ไม่ต่ำกว่า 2,125 ราย และส่งเสริมราษฎรอีกจำนวน 920 คน จากการจัดสรรงบประมาณกว่า 170 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากบริการดังกล่าวข้างต้น กสอ. ยังคงเดินหน้าการพัฒนา SMEs ด้วยการให้บริการศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรม (BSC) ที่มีอยู่ทั้งหมดจำนวน 14 ศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อแก้ปัญหาในทุกๆ ด้าน และให้บริการคำปรึกษาที่ครบวงจรในจุดเดียว ซึ่งหลังจากที่เปิดให้บริการตลอดปี 2559 ที่ผ่านมา มีผู้เข้ามาขอรับบริการเพื่อการดำเนินธุรกิจแล้วกว่า 2,600 ราย โดยในปี 2560 กสอ. ได้จัดเตรียมผู้เชี่ยวชาญที่คอยให้คำปรึกษามากกว่าหนึ่งร้อยคน ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถให้คำปรึกษาแก่บรรดาผู้ประกอบการ SMEs ได้อย่างเต็มที่และมีคุณภาพ นอกจากนี้ยังเตรียมเปิดบริการอย่างเต็มรูปแบบจากศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Thailand Industrial Design Center) ซึ่งจะนำเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบการจัดการที่ทันสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพสินค้าเพื่อยกระดับและสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ประกอบการจะนำบริการดีๆ ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้มาปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจเพื่อสานฝันให้ประเทศไทยก้าวสู่ผู้นำทางเศรษฐกิจได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ดร.พสุกล่าวปิดท้าย
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร.02-202-4414 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th