กรุงเทพฯ--29 ธ.ค.--ไอแอมพีอาร์
สสส.เสริมพลังชุมชนหาดส้มแป้นจังหวัดระนอง ร่วมสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น "ระบำร่อนแร่" นำศิลปะการแสดงพื้นบ้านสานสามัคคีคน 3 ช่วงวัย เพื่อลดช่องว่างระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ สร้างความสัมพันธ์ในชุมชนให้กลับคืนมา และเตรียมผลักดันให้เป็นหลักสูตรท้องถิ่นในโรงเรียน
ชุมชนหาดส้มแป้น อำเภอเมือง จังหวัดระนอง เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีประประวัติศาสตร์มายาวนาน ในอดีตชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพร่อนแร่ดีบุกและในปัจจุบันมีอาชีพเกษตรกรรม มีประเพณีและการละเล่นพื้นบ้านซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แปลกตาและสวยงามคือ "ระบำร่อนแร่" แต่ปัจจุบันการละเล่นพื้นบ้านดังกล่าวกำลังถูกหลงลืมและไม่ได้รับการสืบสานต่อ เพราะขาดการถ่ายทอดและบอกเล่าเรื่องราวสู่คนรุ่นใหม่
"โครงการหาดส้มแป้นร่วมใจ คน 3 วัยร่วมสืบสานวัฒนธรรม" จึงเกิดขึ้นโดยการสนับสนุนของ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เล็งเห็นความสำคัญของกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือเชื่อมและยกระดับความสัมพันธ์ของคนในช่วงวัยต่างๆ ภายในชุมชน
นายสมโชค ตั่นง่วน ผู้รับผิดชอบโครงการฯ เปิดเผยว่า ชุมชนหาดส้มแป้นมีกลุ่มกิจกรรมกลองยาวที่ทำกิจกรรมร่วมกันอยู่เป็นประจำ และสมาชิกในกลุ่มเริ่มมองเห็นว่านานวันเข้าการแสดงพื้นบ้านของท้องถิ่นเช่นระบำร่อนแร่ และการแสดงอื่นๆ กำลังจะสูญหายไปเพราะการขาดสืบสานต่อจากคนรุ่นใหม่
"คนที่นี่ส่วนใหญ่ทำอาชีพร่อนแร่ดีบุก เวลามีงานก็จะมีการแสดงระบำร่อนแร่ และมีรำกลองยาว ซึ่งในจังหวัดระนองนั้น ระบำร่อนแร่ของบ้านหาดส้มแป้นถือได้ว่าเป็นต้นตำรับ เวลามีงานต่างๆ ในจังหวัดเจ้าภาพก็มักจะมาใช้บริการวงกลองยาวและการแสดงของชุมชน จึงเป็นที่มาของการทำโครงการว่าเราควรจะรื้อฟื้นการละเล่นที่เป็นของบ้านเราแท้ๆ ให้กับเด็กๆ เพื่อจะได้สืบต่ออย่างไม่ผิดเพี้ยน" นายสมโชคกล่าว
สำหรับกิจกรรมและการดำเนินงานต่างๆ ภายใต้โครงการนี้นั้น คณะทำงานเริ่มต้นจากการลงสำรวจในชุมชนเพื่อศึกษาค้นคว้าและรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เคยมีมาในอดีต แล้วนำมาบันทึกเป็นข้อมูลและผลิตเป็นสื่อการเรียนรู้ จากนั้นก็นำมาถ่ายทอดให้กับเยาวชนในพื้นที่จำนวน 30 คน เพื่อฝึกฝนการแสดงพื้นบ้านจำนวน 11 ชุดการแสดง โดยใช้เพลงของศิลปินชาวจังหวัดระนอง "ทรงกลด กระจ่างเมฆ" แห่ง "วงดนตรีฌามา" ที่ทำเพลงไว้สำหรับชาวระนองโดยเฉพาะมาเป็นจังหวะในการร่ายรำ
นอกจากนี้ยังได้รับความกรุณาจาก "อาจารย์จินตนา ตุลยสุข" ผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์มาช่วยออกแบบท่ารำ และ "อาจารย์เขมจิรพัตร พลายเมือง" เป็นผู้ฝึกสอนการแสดงให้กับเยาวชนหญิง โดยใช้เวลาในช่วงหลังเลิกเรียน และวันเสาร์-อาทิตย์ในการฝึกสอน ส่วนเยาวชนชายก็จะร่วมฝึกการตีกลองกับคณะกลองยาวของชุมชน โดยใช้พื้นที่ของ "ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาการร่อนแร่" ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนบ้านหาดส้มแป้นเป็นสถานที่นัดพบและทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน
"วันนี้ชุมชนของเรามีคณะกลองยาวที่มีทั้งผู้อาวุโส ผู้ใหญ่วัยทำงาน และเยาวชนรวมๆ แล้วหลายสิบชีวิต ส่วนนักแสดงของเราก็มีเยาวชนหลายรุ่นที่ผ่านการฝึกฝนแสดงได้แล้ว และมีงานแสดงเข้ามาต่อเนื่องแทบทุกเดือนทั้งงานบุญงานบวช หรืองานเลี้ยงที่ต้องมีการแสดงเจ้าภาพก็มักจะเลือกใช้บริการของชุมชนหาดส้มแป้นไปจนถึงงานระดับจังหวัด เพราะเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนที่มีการร่อนแร่มาจนจนเป็นต้นตำรับ ซึ่งตัวผมเองก็ได้เห็นการร่อนแร่มาตั้งแต่จำความได้" นายสมโชคระบุ
ด.ญ.เพ็ญประภา ฉั่ววิเชียร นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนวัดหาดส้มแป้น เล่าว่ารู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทำกิจกรรมกับชุมชน และได้มาฝึกฝนการแสดงหลังจากได้รับการชักชวนจากคุณครู
"ได้เข้ามาฝึกการแสดงตั้งแต่เริ่มโครงการจนสามารถรำได้ครบทุกเพลง และได้ไปแสดงร่วมกับคณะหลายครั้งแล้ว ผู้ปกครองก็ให้การสนับสนุนและมาร่วมกิจกรรมบ้างในบางครั้งที่ว่าง ซึ่งเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และยังมีรายได้เล็กๆ น้อยๆ จากการแสดงแต่ละครั้งอีกด้วย"
ขณะที่ น.ส.บุปผา เกษจันทร์ ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้น ปวส. เล่าว่าตนเองเป็นนักแสดงรุ่นแรกๆ ของวงกลองยาวบ้านหาดส้มแป้น ปัจจุบันมีงานการแสดงรำร่วมกับคณะกลองยาวอยู่เป็นระยะๆ แต่จะจัดสรรเวลาไม่ให้ตรงกับการเรียน นอกจากนี้ยังใช้เวลาส่วนหนึ่งชักชวนเพื่อนๆ ที่มีความเชี่ยวชาญการแสดงแล้วมาฝึกฝนให้รุ่นน้องเพื่อสืบสานการแสดงพื้นบ้านไปยังรุ่นต่อๆ ไป
ปัจจุบันกิจกรรมและการฝึกฝนการแสดงของชุมชนหาดส้มแป้น ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทั้งคนในชุมชน ผู้ปกครอง โรงเรียน และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ ที่ทำให้เยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และยังช่วยสืบสานวัฒนธรรมการแสดงของท้องถิ่นจากคนรุ่นเก่าสืบทอดสู่คนรุ่นใหม่ไม่ให้สูญหายไป
"ผลที่ได้นอกจากการแสดงพื้นบ้านได้รับการสืบทอดแล้ว นักแสดงทั้งเด็กและผู้ใหญ่ยังมีรายได้จากงานและแสดงต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญคือทำให้คน 3 วัยในชุมชนทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ได้มีกิจกรรมร่วมกันที่สามารถสร้างความสัมพันธ์ในชุมชนให้กลับมาดียิ่งขึ้น ซึ่งเป้าหมายต่อไปในอนาคตก็คือจะประสานงานกับโรงเรียนเพื่อผลักดันให้การแสดงทางวัฒนธรรมพื้นบ้านชนิดนี้นี้ เป็นหนึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอนของท้องถิ่นอีกด้วย" นายสมโชค ตั่นง่วน ผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าวสรุป.