กรุงเทพฯ--29 ธ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เสนอแผนบริหารจัดการลด 2 ปัจจัยเสี่ยงที่กระทบ"วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช" ได้แก่ การคุกคามโดยมนุษย์ อาทิ ปัญหาขยะ ปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน ปัญหาร้านค้าและผู้ค้าเร่ภายในวัด ฯลฯ และการคุกคามโดยธรรมชาติ อาทิ น้ำท่วมขัง และ การทำให้เสื่อมสภาพโดยนกพิราบ เป็นต้น โดยที่ผ่านมา มธ. ได้ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจังหวัดนครศรีธรรมราช จัดทำแผนจัดการการอนุรักษ์และคุ้มครองแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อให้วัดได้รับการปกป้องและคุ้มครองอย่างยั่งยืนด้วยมาตรการที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้เตรียมเสนอชื่อ "วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร" ขึ้นทะเบียนแหล่งเป็นมรดกโลก ในปี 2561
รองศาสตราจารย์ โรจน์ คุณเอนก อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์มรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรม กล่าวว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแหล่งมรดกโลกและแหล่งที่มีคุณค่าความโดดเด่นในระดับสากลอย่างยั่งยืน ภายใต้กิจกรรม แผนจัดการการอนุรักษ์และคุ้มครองแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อรองรับการนำเสนอวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช ให้ได้รับการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในอนาคต ซึ่งแหล่งมรดกแห่งนี้อยู่ในบัญชีเตรียมการ (Tentative List) แล้วตามมติที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 37 ณ ประเทศกัมพูชา เมื่อเดือนมิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา ด้วยเล็งเห็นถึงคุณค่าของแหล่งมรดกที่ทรงคุณค่า งดงาม และสะท้อนภาพวิถีชีวิต วัฒนธรรมของผู้คนในยุคสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้ เพื่อให้วัดพระมหาธาตุฯ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยสมบูรณ์ ประเทศไทยจะต้องจัดทำแฟ้มข้อมูล (Nomination File) เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาอีกครั้ง เป็นลำดับต่อไป
รองศาสตราจารย์ โรจน์ กล่าวต่อว่า โดยล่าสุด คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. โดยสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์มรดกทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม และจังหวัดนครศรีธรรมราช จัดทำ "แผนจัดการการอนุรักษ์และคุ้มครองแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช" ด้วยมุ่งหมายให้วัดพระมหาธาตุฯ ได้รับการปกป้องและคุ้มครองอย่างยั่งยืนด้วยมาตรการที่เหมาะสมรวมทั้งเป็นที่เชื่อมั่นได้ว่าหากได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกแล้ว ผู้ดูแลจะสามารถคงคุณค่าและรักษาความโดดเด่นนี้ได้อย่างยั่งยืนผ่านการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งแผนบริหารจัดการนี้เกิดขึ้นจากการลงพื้นที่สำรวจแหล่งมรดก การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการระดมความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ เป็นต้น โดยยึดถือหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเป็นสำคัญ ซึ่งแผนจัดการการอนุรักษ์ฯ ดังกล่าว ถือเป็นส่วนสำคัญที่ต้องใช้ประกอบการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก
สำหรับรายละเอียดภายในแผนจัดการการอนุรักษ์ฯ ดังกล่าว จะประกอบด้วย ลักษณะทางกายภาพของแหล่งมรดกข้อกฎหมาย การบริหารจัดการพื้นที่ และแนวทางการอนุรักษ์ ตลอดจนประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นอันลดทอนคุณค่าความโดดเด่นของวัด และมาตรการการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และการจัดการ ที่บูรณาการร่วมกันกับศาสตร์แขนงอื่น ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยส่วนใหญ่เกิดจากสิ่งคุกคามจาก 2 แหล่งสำคัญ คือ
1. การคุกคามโดยมนุษย์ ที่เป็นผลจากการขยายตัวของเมืองและการเจริญเติบโตของพื้นที่เศรษฐกิจโดยรอบ และการจัดการภายในแหล่งมรดกยังไม่ดีพอ อาทิ ปัญหาขยะจำนวนมากบริเวณโดยรอบสามารถแก้ไขได้โดยการเพิ่มจุดทิ้งขยะให้เพียงพอและสามารถเก็บขนได้อย่างสะดวกพร้อมทั้งรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวแยกขยะเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการส่วนปัญหาร้านค้าและผู้ค้าเร่ภายในวัดสามารถแก้ไขได้โดยการแบ่งพื้นที่ขายให้เป็นสัดส่วน และ ปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินส่งผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือนซึ่งเสี่ยงต่อการแตกหักของผนังโบสถ์ หรือยอดเจดีย์ ก็สามารถแก้ไขได้โดยมีมาตรการห้ามรถบรรทุกน้ำหนักเกินมาตรฐานขับผ่าน ฯลฯ
2. การคุกคามโดยธรรมชาติ ทั้งจากการทำให้เสื่อมสภาพโดยสิ่งมีชีวิต อาทิ จำนวนประชากรนกพิราบที่มีจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อทัศนียภาพโดยรวม และก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นและความสกปรกจากมูลนก ซึ่งในกรณีดังกล่าว สามารถแก้ไขได้โดยการงดการให้อาหารเป็นการถาวร หรือประสานการทำงานร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ทำการผสมกวาวเครือขาวลงไปในอาหารนก เพื่อลดการขยายพันธุ์ของนกพิราบ ฯลฯ ส่วนภัยพิบัติทางธรรมชาติ อาทิ การเกิดน้ำท่วมขังในช่วงฝนตกหนัก
ก็สามารถทำการป้องกันได้โดยประสานงานร่วมกับเทศบาลในพื้นที่ ปรับพื้นที่ให้เกิดทางน้ำไหลที่เหมาะสม สร้างระบบระบายน้ำใหม่ที่มีประสิทธิภาพ หรือขยายท่อระบายน้ำให้มีขนาดใหญ่ขึ้นบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง ฯลฯ
ทั้งนี้ สำหรับขั้นตอนการพิจารณาขึ้นทะเบียนแหล่งเป็นมรดกโลก จะต้องพิจารณาว่าแหล่งมรดกนั้นๆ มีคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลในข้อใด และจะต้องพิจารณาต่อไปอีกว่าแหล่งมรดกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกที่มีคุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากลในข้อนั้นๆ แหล่งมรดกของเรามีความโดดเด่น หรือความสมบูรณ์มากกว่าหรือไม่ หากแหล่งมรดกของเรามีคุณภาพดีกว่าแหล่งที่เคยได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนไปแล้ว แหล่งมรดกของเราจึงจะได้รับการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกเพิ่มเติม ซึ่งในอนาคตประเทศไทย ได้เตรียมผลักดันแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม-ธรรมชาติ อันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และความงดงามทางธรรมชาติเพื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลกอีก 4 รายการ คือ แหล่งมรดกทางวัฒนธรรม ได้แก่ "เส้นทางวัฒนธรรมพิมาย ปราสาทพนมรุ้ง-ปราสาทเมืองต่ำ"ครอบคลุมพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ นครราชสีมา และสุรินทร์ "อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท" จ.อุดรธานี และ "สถานที่อนุสรณ์สถาน และพื้นที่ทางวัฒนธรรมในเชียงใหม่ เมืองหลวงแห่งล้านนา" จ.เชียงใหม่ ขณะที่แหล่งมรดกทางธรรมชาติ คือ "พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน" ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ จ.ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. ได้เตรียมกิจกรรมที่เอื้อต่อการท่องเที่ยวภายในแหล่งธรรมชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้วคือ การจัดทำเส้นทางจักรยานศึกษาธรรมชาติในแหล่งมรดกกลุ่มป่าแก่งกระจาน
ทั้งนี้ นอกจากความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม จะสามารถช่วยในเรื่องของการบริหารจัดการ การปรับสภาพภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบ และกำหนดมาตรการการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นกลไลหนึ่งในการเตรียมมรดกไทย ให้สามารถขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้โดยสมบูรณ์แล้ว คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. โดยสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ยังมีความเชี่ยวชาญยิ่งในการ "กำหนดขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า" ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญขั้นแรกของการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า ด้วยการมุ่งอนุรักษ์และยกระดับเมืองเก่าให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นของประเทศ ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้ที่น่าภาคภูมิใจของชุมชนในอนาคต ผ่านการทำงานร่วมกับท้องถิ่นในการกำหนดและตีกรอบพื้นที่เมืองหรือบริเวณของเมืองที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะ ที่สะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ วิถีชีวิตและคงคุณค่าทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นได้อย่างเด่นชัด ก่อนส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผน และแนวทางในการบริหารจัดการ การอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า เป็นลำดับต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการกำหนดขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าเป็นจำนวนมาก อาทิ เมืองเก่าตาก เมืองเก่าเชียงราย เมืองเก่าพะเยาเมืองเก่าสตูล และเมืองเก่าตะกั่วป่า เป็นต้น รองศาสตราจารย์ โรจน์ กล่าวทิ้งท้าย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ ประธานคณะกรรมการวิชาการ โครงการวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารสู่มรดกโลกได้กล่าวเสริมถึงหลักการและเหตุผลในการเลือกวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารขึ้นทะเบียนแหล่งเป็นมรดกโลกโดยวัดดังกล่าวเป็นโบราณสถานที่สามารถแสดงถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรมหรือทางเทคโนโลยี ศิลปะสถาปัตยกรรมการออกแบบบ้านเมืองหรือการออกแบบภูมิทัศน์ อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างของชนิดอาคารที่โดดเด่น ที่แสดงถึงขั้นตอนสำคัญขั้นตอนหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษย์ ซึ่งวัดพระมหาธาตุฯ ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญยิ่งในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม หรือลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาในประเทศไทย นอกจากนี้ องค์พระบรมธาตุเจดีย์ ในทรงระฆังคว่ำ ยังถือเป็นตัวแทนของสถาปัตยกรรมที่ได้รับการถ่ายแปลงศิลปะการออกแบบจากหลากดินแดน โดยเฉพาะศรีลังกา ก่อนจะเป็นต้นแบบสู่การสร้างสถูปเจดีย์ไปยังวัดอื่นๆ ในหลายอาณาจักร ทั้งอาณาจักรสุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร อาณาจักรอยุธยา และกรุงเทพฯ อย่างในปัจจุบัน
ขณะที่ นางอินทิรา เอื้อมลฉัตร ผู้อำนวยการสำนักจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กล่าวเสริมว่า สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะหน่วยงานประสานกลางระหว่างประเทศไทย และศูนย์มรดกโลก มีหน้าที่ในการคัดเลือกและทำการศึกษาข้อมูลแหล่งมรดกไทยที่เตรียมผลักดันเข้าบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) โดยละเอียด ว่ามีความโดดเด่นทางวัฒนธรรมที่เข้ากับหลักเกณฑ์ในข้อใดบ้างของคุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากลทั้ง10 ข้อ ควบคู่ไปกับการตรวจพิจารณา และนำเสนอแผนแม่บทในการอนุรักษ์และคุ้มครองแหล่งมรดก แก่คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องตามลำดับ ซึ่งเมื่อผ่านขั้นตอนการตรวจพิจารณาแล้วเสร็จ จึงจะส่งต่อให้ศูนย์มรดกโลกเป็นผู้พิจารณาถึงความเหมาะสมของการได้รับการขึ้นทะเบียนแหล่งเป็นมรดกโลก ซึ่งในขั้นตอนดังกล่าว จะมีรอบการส่งเอกสารการนำเสนอแหล่ง (Nomination File) ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ก่อนจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลก และรู้ผลภายในช่วงกลางถึงปลายปี อย่างไรก็ตาม หากได้รับการพิจารณาขึ้นทะเบียนแหล่งเป็นมรดกโลกโดยสมบูรณ์แล้ว ประเทศไทยจะต้องทำรายงานส่งศูนย์มรดกโลกเป็นระยะ เพื่อเป็นการยืนยันว่า ประเทศไทยได้ดำเนินการตามแผนการจัดการอนุรักษ์และคุ้มครองมรดกโลกได้อย่างยั่งยืนและเหมาะสม
ด้าน รองศาสตราจารย์ ปกรณ์ เสริมสุข คณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถือเป็นศาสตร์ความรู้ที่ใกล้ตัวและมีบทบาทสำคัญในทุกมิติ โดยในส่วนของวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มิใช่ศาสตร์ความรู้ที่มุ่งแต่ศึกษาและทำการวิจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แต่ยังช่วยผลักดันและส่งเสริมการอนุรักษ์โบราณสถาน ซึ่งยังผลดีต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยที่ผ่านมา คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ 12 เมืองเก่า 5 ภูมิภาคทั่วไทย และได้มีการต่อยอดโครงการ "12 เมืองต้องห้าม...พลาด" โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาในหลายมิติของประเทศ อย่างไรก็ตาม ในปี2560 คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. ตั้งเป้าพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน พร้อมกับสอดแทรกการเรียนรู้ในรูปแบบ SCI+BUSINESS เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ ควบคู่กับการบริหารจัดการ ผ่านการผสมผสานหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีความเข้มแข็งกับองค์ความรู้ด้านพาณิชยศาสตร์และการบริหาร
สำหรับผู้สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. โทรศัพท์ 0-2564-4480 เว็บไซต์ http://dept.sci.tu.ac.th/envi หรือติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์และศิลปวัฒนธรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. โทรศัพท์ 0-2564-4491 เว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th