กรุงเทพฯ--30 ธ.ค.--ไอแอมพีอาร์
คุณค่าของ "ป่าชายเลน" นอกจากจะเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำทะเลนานาชนิดแล้ว ความหลากหลายของทางชีวภาพยังทำให้ป่าชายเลนเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญในการประกอบอาชีพและดำรงชีวิตอย่างสอดคล้องกลมกลืนกับสภาพภูมิสังคมของชุมชนโดยรอบ
บ้านควนโต๊ะเจ๊ะ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล เป็นชุมชนที่มีพื้นที่ราบลุ่มติดกับทะเล ที่ในอดีตเคยมีผืนป่าชายเลนที่มีพื้นที่มากกว่า 1,700 ไร่ เป็นพรมแดนกั้นขวางระหว่างผืนนาข้าว สวนยางพารา และพื้นที่เกษตรกรรมของชุมชน แต่ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาป่าชายเลนซึ่งเป็นทั้งแหล่งอาหารและวัตถุดิบสำหรับการประกอบอาชีพของชุมชนแห่งนี้ได้ถูกบุกรุกทำลายอย่างต่อเนื่องจนเหลือเพียง 800 ไร่
ความเสื่อมโทรมของผืนป่าชายเลนได้ส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนจำนวนมากในชุมชน จึงเป็นที่มาของ "โครงการจากผืนนา สู่ผืนป่าชายเลนที่ควนโต๊ะเจ๊ะ(ต่อเนื่อง)" เพื่อทำให้ชุมชนเกิดความตระหนัก รัก และเห็นผลเสียที่จะเกิดขึ้นหากไม่ร่วมกันดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนอย่างเหมาะสม โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายยูโสบ ทิ้งน้ำรอบ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 บ้านควนโต๊ะเจ๊ะ ซึ่งเป็นแกนนำหลักในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการนี้เล่าว่า ได้ร่วมกับชุมชนอนุรักษ์ป่าชายเลนใน 4 มิติคือ ป้องกัน อนุรักษ์ พื้นฟู และพัฒนา ผ่านการออกแบบและพัฒนากิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดตั้งกลไกสภาผู้นำชุมชน ทำกิจกรรมร่วมกับทางโรงเรียนโดยนำเด็กและเยาวชนไปเรียนรู้ป่าชายเลน นำปราชญ์ชาวบ้านมาถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับป่าชายเลนเช่นการทำน้ำตาลจาก เสวียนหม้อ งอบใบจาก ฯลฯ
"นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการอนุรักษ์หอยลอกัน มีการจัดทำแผนการอนุรักษ์ป่าชายเลน โดยการออกสำรวจป่าและเฝ้าระวังการบุกรุกของแกนนำ จนเกิดเป็นแผนการอนุรักษ์ป่าชายเลนของชุมชนที่มีกฎกติการ่วมกันของชาวบ้านในการใช้ประโยชน์จากป่าชายเลน เช่น การตัดไม้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ เมื่อมาตัดไป 1 ต้น จะต้องปลูกกลับคืน 10 ต้น และผู้ที่ตัดก็จะต้องเข้าร่วมในกิจกรรมการปลูกป่าชายเลนทุกครั้ง โดยชุมชนยังได้ร่วมหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนต่างๆ ในการจัดกิจกรรมปลูกป่าอย่าต่อเนื่อง มีการสนับสนุนชุมชนทั้งในเรื่องกล้าไม้ และการในจัดทำแนวเขตผืนป่าอนุรักษ์ที่ชัดเจน"
ปัจจุบันได้มีการกำหนดแนวเขตพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อการอนุรักษ์ และป่าชายเลนเพื่อการใช้ประโยชน์ของชุมชนอย่างชัดเจน มีการจัดกิจกรรมการปลูกป่าชายเลนไปแล้วไม่น้อยกว่า 15 ครั้ง มีป่าชายเลนที่ถูกบุกรุกได้รับการฟื้นฟูด้วยการปลูกป่ารวมกันมากกว่า 20 ไร่ ซึ่งชาวบ้านจะใช้โอกาสในงานเทศกาลประเพณีหรือวันสำคัญต่างๆ ชักชวนสมาชิกในชุมชน บุคคลภายนอกที่สนใจ เด็กและเยาวชนในพื้นที่รวมไปถึงผู้ปกครองมาร่วมกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอทุกครั้ง
นายอารีย์ หลังสกุล แกนนำชาวบ้านผู้รับผิดชอบโครงการเล่าว่า ทุกครั้งที่นำเด็กและเยาวชนหรือชาวบ้านมาปลูกป่าก็จะอธิบายให้เห็นถึงประโยชน์ของป่าชายเลน และยกตัวอย่างของหลายๆ ครอบครัวในชุมชนแห่งนี้ที่มีอาชีพประมงจับปู การทำน้ำตาล การทำหมวกหรืองอบที่สานขึ้นจากใบจาก ซึ่งอาชีพเหล่านี้สามารถส่งลูกหลานหลายคนให้เรียนจบด้วยอาชีพหรือวัตถุดิบต่างๆ ที่มาจากป่าชายเลน
"ถ้าวันนี้เราปล่อยให้นายทุนมาบุกรุกทำลายป่าชายเลน ลูกหลานของเราในอนาคตจะเป็นอย่างไร หลายคนที่มีอาชีพจับปูบอกว่า เมื่อเราหันมาดูแลรักษาปลูกป่ามากขึ้น กุ้ง หอย ปู ปลาก็อุดมสมบูรณ์มีให้จับได้ตลอด ส่วนการนำไม้จากป่าชายเลนมาใช้ประโยชน์นั้นชุมชนก็มีข้อตกลงร่วมกันว่าให้ตัดใช้เท่าที่จำเป็น และต้องปลูกทดแทนตามข้อกำหนดที่ตกลงกัน"
ซึ่งหนึ่งในอาชีพหลักของชุมชนและเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนแห่งนี้ก็คือการนำ "ใบจาก" มาถักทอขึ้นรูปเป็นภาชนะต่างๆ เช่น หมวกหรืองอบ ที่เรียกว่าในภาษาท้องถิ่นว่า "ตุดง" ซึ่งมีความหมายว่า "ที่ครอบ" ซึ่งชาวบ้านจะมีรายได้จากการผลิตงอบหรือฝาชีจากใบจาก โดยจะจำหน่ายกันในราคาใบละตั้งแต่ 80 บาทไปถึงจน 250 บาท ตามขนาดและวัตถุประสงค์ที่ต้องการนำไปใช้
ด.ช.นวพล เฟรมใจ หรือ "พล" นักเรียนชั้น ป.5 และ ด.ช.ศักรินทร์ เป็ญมูดา หรือ "แอล" นักเรียนชั้น ม.1 ช่วยกันอธิบายให้ฟังขณะพาเดินไปยังแปลงปลูกป่าชายเลนของชุมชนว่า เคยมาปลูกป่ากับชุมชนแล้วหลายครั้ง และได้รับรู้ว่าป่าชายเลนนั้นมีประโยชน์มากมาย เป็นทั้งแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ และเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญให้กับคนในชุมชน
"อย่างต้นจากต้นเดียวก็มีประโยชน์หลายอย่าง ใบจากเอาไปทำงอบหรือเอามามุงหลังคาก็ได้ ลูกจากก็เอามาขายหรือทำขนมกินได้ ต้นจากก็ยังสามารถเก็บน้ำตาลจากได้ ใบเตยก็เอามาทำเป็นเสื่อ ต้นไม้อื่นๆ ในป่าชายเลนเช่นหวายลิงก็นำมาทำถักทอเป็นภาชนะต่างๆ ได้" น้องพลเล่า
"ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดจากคนในชุมชนคือ ความร่วมมือที่เกิดขึ้นของเด็กและเยาวชนสมาชิกในชุมชน ที่เพิ่มมากขึ้นในการร่วมกันทำกิจกรรมที่ทุกคนในชุมชนภาคภูมิใจ แต่ผลลัพธ์ที่จะส่งผลดีต่อชุมชนแห่งนี้ในระยะยาวคือ การเกิดขึ้นของสภาเยาวชนซึ่งเป็นแกนนำในการทำกิจกรรมต่างๆ ให้กับชุมชนเพื่อสร้างอนาคตให้กับหมู่บ้าน เพราะสักวันหนึ่งเยาวชนกลุ่มนี้จะต้องกลับมาเป็นผู้นำชุมชนหรือผู้นำทางศาสนา แต่ถ้าวันนี้เราปล่อยให้เยาวชนของเราไปอยู่กับเรื่องอบายมุขและเสพติดต่างๆ อนาคตหมู่บ้านของเราจะไปทางทิศใด จะฝากหมู่บ้าน เรื่องการบ้านการเมืองหรือศาสนาไว้กับใคร ถ้าเราไม่เห็นความสำคัญของเยาวชน วันนั้นถ้าเราไม่มีจุดเริ่มต้นจากเรื่องของการทำโครงการและการปลูกป่าชายเลน วันนี้คงไม่มีสภาเยาวชนเกิดขึ้น" ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 บ้านควนโต๊ะเจ๊ะ ระบุ
การฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าชายเลนของชุมชนบ้านควนโต๊ะเจ๊ะจึงไม่เพียงแต่ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติกลับคืนมาเหมือนในอดีตแล้ว ยังทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นของคนในชุมชน ที่ได้ถูกขยายผลไปสู่การก่อตั้ง "สภาเยาวชน" เพื่อปลูกฝังพลังจิตสาธารณะให้กับคนรุ่นใหม่ ในการร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ และพัฒนาชุมชนแห่งนี้ในอนาคต.