กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--ที่ปรึกษากฎหมายสากล
โดย ศุภศักดิ์ จิรเสวีนุประพันธ์
บริษัท ที่ปรึกษากฎหมายสากล จำกัด
supasakc@mail.ilct.co.th
เมื่อกล่าวถึงการทำธุรกิจ แน่นอนครับ สิ่งที่ผู้ประกอบการทั่วไปต้องการคือ "กำไร และผลตอบแทน" ในธุรกิจ E-Commerce ก็เช่นกัน เมื่อมีกำไรและผลตอบแทน สิ่งที่ตามมาและหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ ภาระภาษีที่เกี่ยวข้อง ปัญหาที่ผู้ประกอบกิจการ E-Commerce ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ B to B, B to C หรือ C to C ต้องเผชิญ คือ "ปัญหาการออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่ม" ครับ โดยเฉพาะในกรณีเว็บไซท์ที่ขายสินค้าหรือให้บริการแก่คนทั่วโลกตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่หยุดพัก ผู้ประกอบการเจ้าของเว็บไซท์ดังกล่าวจะออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ลูกค้าของตนอย่างไร และหน้าที่ในการออกใบกำกับภาษีเป็นอย่างไร วันนี้ ผมจะไขข้อข้องใจดังกล่าวกันครับ
ก่อนอื่น คงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ในเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น เป็นการเก็บภาษีทางอ้อมโดยเรียกเก็บจากผู้บริโภคจากการซื้อขายสินค้าและบริการในอัตราร้อยละ 7 ของราคาสินค้าและบริการ
หลักเกณฑ์ทั่วไปที่จะกำหนดว่าท่านอยู่ในระบบที่ต้องจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ก็คือ หากธุรกิจหรือกิจการของท่านมีรายได้เกิน 1,200,000 บาทต่อปี หรือไม่ได้อยู่ในธุรกิจที่เป็นข้อยกเว้น ท่านต้องเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มโดยจดทะเบียนกับกรมสรรพากรให้ถูกต้องผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อและผู้รับบริการโดยความรับผิดในการออกใบกำกับภาษีมีดังนี้
ก) การขายสินค้า โดยปกติหน้าที่ในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจะเกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้า เว้นแต่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้า หรือได้รับชำระราคาสินค้า หรือได้ออกใบกำกับภาษี เกิดขึ้นก่อนก็ให้ถือว่าความรับผิดในการเสียภาษีเกิดขึ้นเมื่อมีการกระทำดังกล่าว
ตัวอย่างเช่น เว็บไซท์ ebannok.com ซึ่งขายสินค้าพื้นเมืองของไทย หากนาย ก. เข้ามาซื้อสินค้าในเว็บไซท์ ดังกล่าว โดยปกติเจ้าของเว็บไซท์ ebannok.com ต้องออกใบกำกับภาษีให้แก่ นาย ก. เมื่อมีการส่งมอบสินค้า เว้นแต่ นาย ก. ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้า หรือนาย ก. ได้ชำระราคาสินค้า หรือเว็บไซท์ ebannok.com ได้ออกใบกำกับภาษีก่อนการส่งมอบสินค้า
ข) การให้บริการ ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการให้บริการ โดยหลักทั่วไปจะเกิดขึ้นเมื่อมีการชำระค่าบริการ เว้นแต่ผู้ประกอบการได้ออกใบกำกับภาษีหรือผู้รับบริการได้ใช้บริการ ความรับผิดทางภาษีก็จะเกิดขึ้นทันที
ตัวอย่างเช่น เว็บไซท์ nokia.com ให้บริการดาวน์โหลดรูปการ์ตูนลงในมือถือ โดยปกติความรับผิดในการออกใบกำกับภาษีก็จะเกิดขึ้นเมื่อมีการจ่ายค่าบริการ เว้นแต่มีการใช้บริการหรือออกใบกำกับภาษีก่อน
หลักดังกล่าวข้างต้นจะใช้กับการชำระเงินตามปกติ แต่หากชำระโดยใช้บัตรเครดิตก็จะเป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 189 (พ.ศ. 2534) ว่าด้วยความรับผิดภาษีมูลค่าเพิ่มในบางกรณี ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
"ข้อ 4 การขายสินค้าโดยการชำระราคาด้วยการใช้บัตรเครดิต หรือในลักษณะทำนองเดียวกันให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อส่งมอบสินค้า เว้นแต่กรณีที่ได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนส่งมอบสินค้า ก็ให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้นๆ ด้วย
(1) โอนกรรมสิทธิ์สินค้า
(2) เมื่อมีการออกหลักฐานการใช้บัตรเครดิต หรือ
(3) ได้ออกใบกำกับภาษี
ทั้งนี้ โดยให้ความรับผิดเกิดขึ้นตามส่วนของการกระทำนั้นๆ แล้วแต่กรณี
ข้อ 5 การให้บริการโดยการชำระราคาด้วยการใช้บัตรเครดิตหรือในลักษณะทำนองเดียวกัน ให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการออกหลักฐานการใช้บัตรเครดิต เว้นแต่กรณีที่ได้มีการออกใบกำกับภาษีก่อนการออกหลักฐานการใช้บัตรเครดิต ก็ให้ความรับผิดเกิดขึ้นได้มีการออกใบกำกับภาษีนั้น"
เหตุที่ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มให้ถูกต้องเนื่องจากประมวลรัษฎากรมาตรา 89/1 ระบุว่า หากบุคคลใดชำระภาษีไม่ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ผู้ประกอบการดังกล่าวต้องเสียเงินเพิ่มอีกในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่ง ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงเบี้ยปรับ ดังนั้น ท่านลองคิดดูสิครับว่า หากการซื้อขายสินค้าของท่านได้กำไรเดือนละ 10,000 บาท โดยที่ออกใบกำกับภาษีไม่ถูกต้อง ท่านจะเจอเบี้ยปรับและเงินเพิ่มเท่าใด นั่นคือสาเหตุที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงกังวลเกี่ยวกับปัญหาการออกใบกำกับภาษี
ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เว็บไซท์ส่วนใหญ่จะได้รับชำระเงินค่าสินค้าและบริการทันที โดยมีการระบุหมายเลขบัตรเครดิต ดังนั้น ผู้ประกอบการดังกล่าวมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ลูกค้าของตนทันทีหรือไม่ และหากผู้ซื้อหรือผู้รับบริการเข้ามาทำรายการซื้อขายในเวลาปิดทำการ วันหยุด หรือซื้อขายหรือรับบริการจากต่างประเทศ
ผู้ประกอบการจะออกใบกำกับภาษีอย่างย่อให้แก่ลูกค้าของตนอย่างไร
คำตอบก็คือ หากผู้ประกอบการดังกล่าวเป็นกิจการขายปลีกหรือให้บริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมากนั้น ก็สามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อในรูปแบบของอีเมล์ส่งให้แก่ลูกค้าทางอินเตอร์เน็ตได้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 86/6 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มฉบับที่ 32 และคำตอบหนังสือหารือของกรมสรรพกรที่ กค 0811/พ 04972 โดยกิจการที่ถือว่าเป็นการขายสินค้าหรือให้บริการแก่บุคคลจำนวนมากต้องมีลักษณะดังนี้ คือ
(1) เป็นการขายสินค้าที่ผู้ขายทราบโดยชัดแจ้งว่า ขายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรงและได้ขายในปริมาณที่ตามปกติวิสัยของผู้บริโภคจะนำสินค้าไปบริโภคหรือใช้สอยโดยมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อไป
(2) การให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยและบุคคลจำนวนมาก
(3) ผู้ประกอบการตาม (1) และ(2) จะต้องจัดทำใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษีให้มีรายการครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดดังนั้น พอถึงจุดนี้ท่านผู้อ่านท่านใดที่ประกอบธุรกิจ E-Commerce ก็สามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อโดยทางอีเมล์ให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการท่านได้ครับ ปัญหาภาษีที่เกี่ยวกับธุรกิจ E-Commerce ยังมีอีกมากครับ แม้ว่าปัจจุบันกรมสรรพากรจะได้เริ่มพัฒนาให้มีการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มโดยยื่นแบบ ภพ.30 ผ่านทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคม 2544 ก็ตาม ซึ่งในโอกาสหน้าผมจะมาเล่าสู่กันฟังต่อไปครับ--จบ--
-อน-