กรุงเทพฯ--30 ธ.ค.--คิธ แอนด์ คิน คอมมิวนิเคชั่น แอนด์ คอนซัลแตนท์
กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สานต่อพระราชปณิธาน พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ออกแบบและส่งเสริมการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ 100 กิโลวัตต์ ให้กับพื้นที่ในโครงการพระราชดำริ จ.แม่ฮ่องสอน
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สนพ. และ กอ.รมน. ได้เห็นว่า พื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะพื้นที่ในโครงการพระราชดำริในบางพื้นที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง จึงได้ดำเนิน "โครงการพลังงานทดแทนสำหรับศูนย์ศิลปาชีพหมู่บ้านพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงห่วงใยในทุกข์สุขของพสกนิกรชาวไทย ซึ่งบางพื้นที่ก็อยู่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดาร ไม่มีไฟฟ้าใช้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดย กอ.รมน. เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการดังกล่าว
กอ.รมน. มีพื้นที่รับผิดชอบอยู่ในพื้นที่แนวชายแดนภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน ติดต่อกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง หรือใช้ไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ แต่ก็เกิดความชำรุดจนไม่สามารถใช้งานได้ ราษฏรที่อาศัยส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ ได้แก่ ม้ง มูเซอ ลีซอ กระเหรี่ยง ลัวะ และไทยใหญ่ เป็นต้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงได้พระราชทานแนวทางในการเสริมสร้างความมั่นคงตามแนวชายแดนในลักษณะผสมผสาน เพื่อสร้างความใกล้ชิด รับทราบถึงปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของ ราษฏร โครงการดังกล่าวจึงมุ่งเน้นการพัฒนาพลังงานทดแทนภายในชุมชน เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าให้กับชุมชน ซึ่งเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนตามแนวชายแดน โดยโครงการนี้จะดำเนินการในพื้นที่ อ.ปางมะผ้า และ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 10 หมู่บ้านหมู่บ้านละ 100 กิโลวัตต์
กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้ให้เงินสนับสนุนการออกแบบผลิตและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ แบบเชื่อมต่อสายส่งมีขนาดกำลังติดตั้ง 100 กิโลวัตต์ จำนวน 10 ระบบ ซึ่งเป็นระบบที่สามารถรองรับการเชื่อมต่อระบบสายส่งจากการไฟฟ้าได้ในอนาคต และสามารถเก็บสะสมพลังงานได้ในแบตเตอรี่ เพื่อใช้งานในเวลากลางคืน อีกทั้งมีอาคารควบคุมในการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ และแบตเตอรี่ ซึ่งจากการดำเนินงานในครั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ให้มีไฟฟ้าใช้ภายในหมู่บ้าน ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าจากระบบดังกล่าวได้ถึงปีละ 1,277,500 หน่วยต่อปี และยังเป็นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่โครงการและพื้นที่ใกล้เคียงให้นำไปสู่การพึ่งพาตนเอง รวมทั้งเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ สาธิตและขยายผลการส่งเสริมการใช้ระบบผลิตพลังงานทดแทนภายในชุมชน
"ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระองค์ทรงริเริ่มโครงการในพระราชดำริ ทำให้คนในพื้นที่แนวชายแดนภาคเหนือทั้ง 10 หมู่บ้าน ได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในฐานะหน่วยงานของรัฐ ขอน้อมนำแนวทางเพื่อสานต่อเรื่องพลังงานทดแทน ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ มีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอต่อไป" ดร.ทวารัฐ กล่าวเพิ่มเติม