กรุงเทพฯ--4 ม.ค.--มทร.ธัญบุรี
การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นำมาซึ่งความวิปโยคยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของปวงชนชาวไทยทุกคน ผู้ต้องขังหญิงและชายล้วนใฝ่ฝันและปรารถนาที่จะกราบถวายสักการะรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณด้วยความจงรักภักดียิ่งชีวิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้ร่วมกับเรือนจำกลางจังหวัดอุดรธานี จัดทำสารคดี "จรัสแสงในความมืด" สารคดีถวายสักการะแสดงความอาลัยของผู้ต้องขังเรือนจำกลางอุดร เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่มีต่อพสกนิกรในด้านความยุติธรรมทางอาญา
รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยฯ มีภารกิจสำคัญในการพัฒนาประชาชนทุกกลุ่ม ทุกคนในประเทศของเราควรได้รับโอกาสที่เสมอภาคกัน พื้นที่ของเรือนจำท้าทายให้คณาจารย์และนักศึกษาได้เรียนรู้การเอาชนะอุปสรรคของความไม่เท่าเทียมกันในโอกาสของชีวิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้ใช้ความรู้ ทักษะ และมุ่งมั่นที่จะทำให้การศึกษาและการเรียนรู้ถูกตีกรอบอยู่เพียงในมหาวิทยาลัยและผู้มีโอกาสดีในสังคมเท่านั้น
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังในเรือนจำกลางอุดรธานีและเรือนจำกลางราชบุรีมาตั้งแต่ปี 2556 โดยได้ดำเนินโครงการ "บูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับระบบยุติธรรมทางอาญา" ซึ่งเป็นโครงการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ต่อมาในปี 2558 สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ได้สนับสนุนให้ดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการเดิม โดยมีชื่อว่า "โครงการปฏิรูปเรือนจำด้วยการสร้างชุมชนแห่งความห่วงใย" โดยได้ร่วมกับเรือนจำกลางอุดรธานีทำกิจกรรมหลายอย่างโดยมีเป้าหมายสำคัญคือการให้ผู้ต้องขังสามารถน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปเป็นหลักในการดำเนินชีวิตทั้งในระหว่างที่ยังอยู่ในเรือนจำและเมื่อพ้นโทษ
ผศ.ธีรวัลย์ วรรธโนทัย คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหัวหน้า "โครงการปฏิรูปเรือนจำด้วยการสร้างชุมชนแห่งความห่วงใย" กล่าวว่า โครงการนี้ได้นำคณาจารย์และนักศึกษาทำกิจกรรมหลายๆกิจกรรม เช่น การพัฒนาสุขภาพผู้ต้องขังแบบองค์รวม การพัฒนาสาธารณสุขมูลฐานในเรือนจำ การพัฒนาพลังสร้าง สรรค์และทักษะในการทำงานผ่านการผลิตผลงานที่มีการออกแบบที่สวยงามและเป็นที่ต้องการของตลาด การสร้างศูนย์เชื่อมโยงเรือนจำกับสังคม ผศ.ธีรวัลย์ วรรธโนทัย กล่าวว่า "ตลอดระยะเวลาที่ตนเองได้คลุกคลีกับผู้ต้องขังเริ่มต้นจากการเข้าไปศึกษาชีวิตผู้ต้องขังหญิงในโครงการวิจัย "ชีวิตที่ถูกลืม" ซึ่งเมื่อเข้าไปแล้วทำให้ทราบเลยว่าผู้ต้องขังมีจิตใจที่ห่อเหี่ยว เป็นโรคซึมเศร้า เห็นแล้วส่งสาร ไม่ได้รับรู้ชีวิตที่อยู่ข้างนอกเลยขาดการติดต่อ ผู้ต้องขังซึ่งบางคนอาจจะตกเป็นเหยื่อ ด้วยความที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์
โยคะในเรือนจำเป็นกิจกรรมหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการช่วยให้ผู้ต้องขังหญิงได้ใช้เวลาในเรือนจำเพื่อฝึกร่างกายและจิตใจให้มีสุขภาพดี มีสมาธิ มีความอดทน มุ่งมั่น และตระหนักถึงความสุขจากภายใน ท่วงท่าของโยคะไม่เพียงแต่มีความสวยงามและยังเป็นการแสดงออกถึงสัญลักษณ์ของความอดทน ความมุ่งมั่น สมาธิ และความสุขอันเกิดจากภายใน ซึ่งเกิดขึ้นจากความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงมีต่อพสกนิกร ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่ก้าวพลาดจนต้องมาอยู่ในเรือนจำ พระเมตตาคุณและพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นทำชีวิตที่ตกอยู่ในความมืดได้รับแสงสว่างและสามารถ "จรัสแสงอยู่ในความมืด" ได้อย่างภาคภูมิใจ
สารคดีจรัสแสงในความมืดแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาญาณเชื่อมโยงกฎหมาย ความยุติธรรม กับความสุขของประชาชน เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีต่อพสกนิกรในด้านความยุติธรรมทางอาญา รวมทั้งบอกเล่าเรื่องราวของผู้ต้องขังซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานแนวทางในการดำเนินชีวิตแบบพอเพียงจนสามารถก้าวข้ามโศกนาฏกรรมและความทุกข์ที่ต้องเผชิญอย่างมีความหวัง โดยได้ออกอากาศทางช่อง NBT และNBT Network และสามารถติดตามรับชมผ่านช่องทาง Youtubehttps://www.youtube.com/watch?v=-M_p6Ez9gmI