กรุงเทพฯ--4 ม.ค.--องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน
พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 22 การประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 12 และการประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส สมัยที่ 1 เมื่อวันที่ 7 – 18 พฤศจิกายน 2559 ณ เมืองมาร์ราเกซ ราชอาณาจักรโมร็อกโก โดยประเทศไทยได้ทำหน้าที่เป็นประธานกลุ่ม 77 และจีน ซึ่งมี นายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนพิเศษของประธานกลุ่ม 77 สำหรับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งผลการประชุมที่สำคัญ ได้แก่ (1) ภาคีตกลงที่จะเร่งหารือรายละเอียดที่จะทำให้ความตกลงปารีสสามารถนำไปสู่การปฏิบัติให้แล้วเสร็จภายในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 24 (พ.ศ. 2561) (2) ที่ประชุมรับรองข้อตัดสินใจเกี่ยวกับองค์ประกอบและภารกิจของ Paris Committee on Capacity Building (PCCB) ซึ่งจะเป็นกลไกในการเสริมสร้างศักยภาพของประเทศกำลังพัฒนาภายใต้ความตกลงปารีส (3) เห็นควรให้กองทุน Adaptation Fund สนับสนุนการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้ความตกลงปารีส และให้ศึกษารูปแบบการดำเนินงานให้แล้วเสร็จภายในปี 2561
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยจากการแทรกแซงของมนุษย์ที่เป็นอันตรายต่อระบบภูมิอากาศ ทั้งนี้ รัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ จะมีการประชุมใหญ่เป็นประจำทุกปี โดยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 21 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ที่ประชุมได้มีการรับรองความตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2558 เพื่อเป็นกรอบความร่วมมือระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรมของประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการ คือ (1) เพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า ๒ องศาเซลเซียส และมุ่งพยายามให้ไม่เกิน 1.5องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม (2) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวและการส่งเสริมความสามารถในการฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ และ (3) เพื่อทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนที่มีความสอดคล้องกับแนวทางที่นำไปสู่การพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและสร้างความสามารถในการฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีรายละเอียดครอบคลุมการดำเนินงานเกี่ยวกับการลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อผลกระทบทางลบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสนับสนุนทางการเงิน การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี การเสริมสร้างศักยภาพของประเทศกำลังพัฒนา กรอบการรายงานข้อมูลการดำเนินงานและการให้การสนับสนุนอย่างโปร่งใส และการทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก (global stocktake)
สำนักงานนโยบายฯ ร่วมกับสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินโครงการขับเคลื่อนและเสริมสร้างศักยภาพภายหลังข้อตกลงใหม่ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อทำการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการรองรับการมีผลใช้บังคับของความตกลงปารีส และได้จัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการดำเนินความร่วมมือภายใต้กรอบความตกลงปารีส ซึ่งได้เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในวันนี้ เพื่อจะนำความเห็นมาปรับปรุงให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินการภายใต้กรอบความตกลงปารีส ตลอดจนการเชื่อมโยงการดำเนินงานต่างๆ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป