กรุงเทพฯ--4 ม.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
· มธ. โชว์ผลติดอันดับโลกด้านคุณภาพบัณฑิต (Employability Ranking) โดย QS พร้อมกวาดการประเมินคุณภาพ สูงสุด 5 ดาว ครอบคลุม 5 ด้านหลัก
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดโผ 5 อันดับคณะบัณฑิตจบใหม่ได้งานทำสูงใน 4 เดือนแรก คือ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย 3 คณะในสาขาทางการแพทย์ อันได้แก่ คณะทันตแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ และแพทยศาสตร์ มีบัณฑิตได้งานทำสูงสุดต่อเนื่องถึง 3 ปี จากมาตรฐานการบ่มเพาะและหล่อหลอมบัณฑิตให้มีความครบเครื่องทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อก้าวสู่วิถีการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ บัณฑิตรุ่นปีการศึกษา 2558 ในหลักสูตรภาษาไทย ยังมีฐานเงินเดือนพร้อมรายได้อื่นเฉลี่ยต่อเดือนเริ่มต้นสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง คือ คณะทันตแพทยศาสตร์ 51,441 บาท ขณะที่หลักสูตรนานาชาติ คือ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี 38,652 บาท ทั้งนี้ จากความสำเร็จดังกล่าว นับเป็นการสะท้อนถึงศักยภาพและมาตรฐานของ มธ. ในหลายด้าน ซึ่งล่าสุด ได้รับการประเมินสูงสุดในระดับ 5 Star จากสถาบัน QS ครอบคลุม 5 ด้าน คือ ด้านการจ้างงานของบัณฑิตมหาวิทยาลัย ความเป็นนานาชาติ ความพร้อมในด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ความรับผิดชอบต่อสังคม และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวของไทยที่ได้การประเมินสูงสุดดังกล่าว
ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มุ่งบ่มเพาะและหล่อหลอมบัณฑิตให้มีความพร้อมด้วยทักษะด้านวิชาการ ทักษะความสามารถในการแก้ไขปัญหา มีจิตสำนึกรับผิดชอบอย่างสร้างสรรค์ ตลอดจนสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่พัฒนาศักยภาพทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ อาทิ การใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning) และการใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning) เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้บัณฑิตมีความพร้อมและสามารถก้าวเข้าสู่วิถีการทำงานได้อย่างมีศักยภาพ โดยล่าสุด จากรายงานผลสำรวจสภาวะการมีงานทำของบัณฑิตปริญญาตรี ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2558 พบว่า บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาสามารถมีงานทำ ภายใน 4 เดือน จำนวนสูงถึง 73.82% หรือประมาณ 3,279 คน โดยสูงกว่าปีการศึกษา 2557 ที่ผ่านมาประมาณ 1.07%
ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด กล่าวต่อว่า สำหรับคณะที่มีบัณฑิตได้งานทำสูงสุด 5 อันดับ ในระยะเวลา 4 เดือนแรก หลังสำเร็จการศึกษา คือ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยคิดเป็น 100% 97.56% 97.34% 89.80% และ 80.16% ตามลำดับ โดยคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ถือเป็น 3 คณะในสาขาการแพทย์ที่มีบัณฑิตได้งานทำสูงสุดใน 5 อันดับแรกต่อเนื่องถึง 3 ปี นับตั้งแต่รุ่นปีการศึกษา 2556-2558 นอกจากนี้ จากผลสำรวจยังพบว่า บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรภาษาอังกฤษและนานาชาติ จะมีรายรับเฉลี่ยต่อเดือนเป็นเงิน 29,982 บาท ขณะที่บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรภาษาไทย จะมีรายรับโดยเฉลี่ยที่ 22,114 บาท
ขณะที่หลักสูตรภาษาไทย คณะที่ได้เงินเดือนพร้อมรายได้อื่นเฉลี่ยต่อเดือนเริ่มต้นสูงสุดเป็น 5 อันดับแรก คือ อันดับ 1 คณะทันตแพทยศาสตร์ 51,441 บาท อันดับ 2 คณะแพทยศาสตร์ 46,546 บาท อันดับ 3 เศรษฐศาสตร์ 26,392 บาท อันดับ 4 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี 25,827 บาท และอันดับ 5 คณะศิลปะศาสตร์ 25,336 บาท และหลักสูตรนานาชาติ คณะที่มีรายรับเฉลี่ยต่อเดือนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ อันดับ 1 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี 38,652 บาท อันดับ 2 คณะรัฐศาสตร์ 34,225 บาท อันดับ 3 วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ 31,116 บาท อันดับ 4 คณะเศรษฐศาสตร์ 29,455 บาท และอันดับ 5 สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร 29,245 บาท ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีบัณฑิตในรุ่นปีการศึกษา 2558 มี มีรายได้สูงสุด 3 อันดับแรก จากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรธุรกิจเอกชนสูงถึง 200,000 160,000 และ 126,000 บาท ขณะที่บัณฑิตที่ดำเนินธุรกิจส่วนตัว มีรายรับสูงสุดถึง 550,000 บาท ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด กล่าว
ทั้งนี้ จากความสำเร็จด้านการมีงานทำของบัณฑิตดังกล่าว สะท้อนสู่ศักยภาพและมาตรฐานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในหลากหลายด้าน ซึ่งได้รับการจัดอันดับจาก Quacquarelli Symonds (QS) สถาบันจัดอันดับและประเมินมาตรฐานด้านการศึกษาระดับโลก แห่งสหราชอาณาจักร โดยล่าสุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการประเมินสูงสุดในระดับ 5 ดาว ทั้งหมด 5 ด้าน คือด้านการจ้างงานของบัณฑิตมหาวิทยาลัย (Employability) ความเป็นนานาชาติ (Internationalization) ความพร้อมในด้านสิ่งอำนวยความสะดวก (Facilities) ความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibilities) และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย (Inclusiveness) ซึ่งเป็น 5 ด้านที่มีความสำคัญสำหรับโลกในยุคปัจจุบัน โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวของไทยที่ได้การประเมินสูงสุด ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร. พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากสถิติบัณฑิตจบใหม่ของประเทศไทย ที่มีจำนวนกว่า 3 แสนคนต่อปี สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มเด็กที่มีคุณภาพ ก็จะมีศักยภาพในการหางานด้วยตนเอง ซึ่งในบางรายอาจมีองค์กร หรือหน่วยงานดึงตัวไปทำงานทันทีหลังจบการศึกษา 2. กลุ่มเด็กที่มีคุณภาพและพร้อมด้วยทักษะผู้ประกอบการ ก็จะมีความคิดในการประกอบธุรกิจสูง ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะผันตัวเองเป็นสตาร์ทอัพ ผ่านการร่วมทุนกับกลุ่มเพื่อน ครอบครัว หรือการระดมทุนจากกลุ่มนักลงทุน หรือผ่านทาง Crowdfunding เป็นต้น ขณะที่กลุ่มสุดท้าย 3. กลุ่มเด็กที่อาจจะเรียนในศาสตร์ที่มีคนล้นเกินความต้องการของผู้จ้างงาน และอาจไม่มีคุณภาพมากเพียงพอ ก็จะทำให้ประสบปัญหาภาวะการมีงานทำ ดังนั้น ทั้งสถาบันการศึกษา และหน่วยสนับสนุนภาครัฐ จึงจำเป็นต้องร่วมมือพัฒนาทักษะและศักยภาพของบัณฑิตรุ่นใหม่อย่างจริงจัง โดยต้องเน้นหนักในหลักสูตรด้านการประกอบการ (Entrepreneur) ต้องส่งเสริมทักษะการคิด วิเคราะห์ ค้นคว้าที่เข้มข้น ต้องปรับสภาพแวดล้อมในสถาบันการศึกษาให้เอื้อต่อการคิดสร้างสรรค์และการลงมือปฏิบัติจริง อีกทั้งต้องเสริมสร้างทักษะภาษาที่ 3 หรือภาษาต่างประเทศอื่นนอกเหนือจากภาษาอังกฤษ ซึ่งก็ต้องทำควบคู่ไปกับการปลูกฝังทักษะการจัดการข้ามวัฒนธรรม ทั้งนี้ เพื่อให้บัณฑิตรุ่นใหม่สามารถปรับตัวได้กับความแตกต่างและหลากหลายที่จะพบเจอในสถานที่ทำงาน ตลอดจนสามารถก้าวข้ามพรมแดนของตลาดงานที่จำกัดอยู่แต่ในประเทศ เข้าสู่การทำงานที่ใดก็ได้ในโลก
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-4440 (ศูนย์รังสิต) เว็บไซต์ www.tu.ac.th