กรุงเทพฯ--4 ม.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
ไทยแลนด์ 4.0 นโยบายและความมุ่งมั่นของรัฐบาล ในการปฏิรูปและขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ระดับโลก ด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ หลายหน่วยงานต่างเร่งพัฒนาและปรับตัวกันอย่างมาก แต่การพัฒนาสู่เป้าหมายดังกล่าว จะไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จได้ หากขาดการพัฒนาระบบการศึกษาและพัฒนาบุคลากรให้เหมาะสม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร หรือ MUT จึงเร่งพัฒนา นวัตกรด้านวิศวกรรม หรือ วิศวกร 4.0 ขึ้น ด้วยระบบการเรียน การสอนรูปแบบใหม่ และบูรณาการด้านความร่วมมือกับภาคธุรกิจชั้นนำ เพื่อเตรียมพร้อมสู่ยุค 4.0 อย่างแท้จริง
รองศาสตราจารย์ ดร.สุเจตน์ จันทรังษ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร หรือ MUT เปิดเผยว่า "ปัจจุบัน การพัฒนาระบบการเรียนและการสอนแบบใหม่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง MUT ยึดหลักการเรียนเชิงวิเคราะห์และปฏิบัติ หรือ Active Learning เน้นให้นักศึกษาได้ทดลองและฝึกปฏิบัติจริง ควบคู่ไปกับระบบการสอนแบบบูรณาการ โดยในวิชาเรียนวิชาหนึ่ง อาจจำเป็นต้องใช้อีกความรู้อีกวิชาหนึ่ง เข้ามาประยุกต์ใช้ร่วมด้วย ระบบการสอนของ MUT สามารถเปิดห้องเรียน เพื่อเรียนร่วมกับอีกวิชาหนึ่งได้ทันที ทำให้นักศึกษาสามารถสอบถามและเกิดความเข้าใจ โดยไม่ต้องรอจนจบวิชาเรียน ทำให้อาจารย์และนักเรียนสามารถเรียนร่วมกัน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้ทันที และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน หัวใจสำคัญของระบบการเรียนและการสอนสมัยใหม่ เพื่อส่งเสริมการเป็น วิศวกรนักคิด คือ การเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีอิสระในการศึกษา วิจัย สร้างสรรค์ ผลงานและนวัตกรรมด้านต่างๆ อย่างเหมาะสม ทำให้ในปีที่ผ่านมา มีโครงการของนักศึกษาสาขาวิศวกรรมที่น่าสนใจหลายโครงการ อาทิ หุ่นยนต์แขนกล หุ่นยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ และรถตู้สาธารณะอัจฉริยะ 4.0
นอกจากนี้ MUT ได้พัฒนาความร่วมมือกับ กลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดศูนย์วิจัยและปฏิบัติการด้านนวัตกรรม true LAB@MAHANAKORN ซึ่งจะเปิดโอกาสให้กลุ่มนักศึกษาได้เข้าถึงอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัย ระบบคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต ศูนย์ประชุม เอื้อต่อการสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมตอบสนองต่อความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม 4.0 ควบคู่ไปกับการจัดให้มีการอบรมทักษะจำเป็นในด้านต่างๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น การสื่อสารขั้นเทพในที่ทำงานด้วยเทคนิค 360 องศา ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารเชิงธุรกิจ รวมทั้ง MUT ยังได้เปิดการอบรมทักษะเฉพาะด้านวิศวกรรมสาขาต่างๆ ให้แก่บุคคลทั่วไปที่สนใจด้วย เช่น การทดสอบและเครื่องมือวัดระบบสื่อสารด้วยเส้นใยนำแสง การเขียนโปรแกรมบนแพลตฟอร์ม แอนดรอยด์ เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้ ทำให้นักศึกษาของ MUT สามารถเรียนรู้และเข้าใจได้ดี ทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติ รวมทั้งเปิดโลกทัศน์ใหม่แห่งการเรียนรู้ ด้วยการทดลอง ทดสอบ และวิจัย นำไปสู่การเป็นวิศวกรนักคิด นักปฏิบัติ นักสร้างสรรค์ หรือนวัตกรด้านวิศวกรรม อีกนัยหนึ่งคือวิศวกร 4.0 นั่นเอง
สำหรับผู้สนใจใช้บริการ ศูนย์วิจัยและปฏิบัติการด้านนวัตกรรม true LAB@MAHANAKORN หรือ สมัครอบรมสัมมนา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร โทรศัพท์ 02-988-4021-4 เว็บไซต์www.mut.ac.th