กรุงเทพฯ--4 ม.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 แจงผลศึกษาวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ทุเรียนในพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จังหวัดตราด ระบุ ผลิตทุเรียนผลสด 1 ตัน ใช้น้ำ 868.45 ลูกบาศก์เมตร โดยความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ พบว่า ลงทุนปริมาณน้ำ 1ลูกบาศก์เมตร ได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ไร่ละ 43.89 บาท แนะดึงเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ เครื่องวัดแรงดึงน้ำในดิน และการส่งน้ำแบบท่อเพื่อการเกษตร
นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการศึกษาวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ (Water Footprint) โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 จังหวัดชลบุรี (สศท.6) ของทุเรียนในพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จังหวัดตราด เพื่อจัดทำบัญชีรายการการใช้น้ำของทุเรียน ศึกษาปริมาณการใช้น้ำของทุเรียน และประเมินมูลค่าน้ำทางเศรษฐกิจและเปรียบเทียบผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจากการผลิตทุเรียนในพื้นที่โครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด ปี 2558 ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์เกษตรกรสมาชิกทุกราย จำนวน 37 ราย ใช้หลักการประเมินวัฏจักรชีวิตแบบ Cradle to Gate ตั้งแต่แรกปลูกจนถึงอายุ 30 ปี ผลการศึกษา พบว่า
วอเตอร์ฟุตพริ้นท์ของทุเรียนในพื้นที่ส่งเสริมแบบแปลงใหญ่ อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด มีปริมาณการใช้น้ำของการผลิตทุเรียนผลสด 1 ตัน จำนวน 868.45 ลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็นปริมาณการใช้น้ำฝน (Green Water Footprint) จำนวน416.56 ลูกบาศก์เมตรต่อตัน (ร้อยละ 48) และปริมาณน้ำชลประทาน (Blue Water Footprint) จำนวน 451.89 ลูกบาศก์เมตรต่อตัน (ร้อยละ 52)
หากพิจารณาเป็นพื้นที่การผลิตทุเรียน 1 ไร่ พบว่า มีปริมาณการใช้น้ำ จำนวน 1,525.86 ลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็นปริมาณการใช้น้ำฝนเท่ากับ 731.89 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ (ร้อยละ 48) และปริมาณการใช้น้ำชลประทาน 793.97 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ (ร้อยละ 52) มีค่าฟุตพริ้นท์การขาดแคลนน้ำ (Water Scarcity Footprint) เท่ากับ 6.78 ลูกบาศก์เมตรน้ำเทียบเท่า ซึ่งมีค่าไม่มากไม่เกิดความตึงเครียดในการแย่งน้ำเมื่อเปรียบเทียบกับลุ่มน้ำภาคอื่น ๆ
สำหรับการประเมินมูลค่าน้ำทางเศรษฐกิจและเปรียบเทียบผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ โดยมีการคำนวณต้นทุนการผลิตที่รวมต้นทุนค่าน้ำ ต้องคิดจากปริมาณน้ำที่เกษตรกรต้องจัดหา ได้แก่ น้ำชลประทาน ซึ่งใช้เทียบกับค่าน้ำของกรมชลประทานที่คิดลูกบาศก์เมตรละ 0.50 บาท ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตมีค่าใช้จ่ายค่าน้ำเพิ่มขึ้น 396.99 บาทต่อไร่
ส่วนการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจต่อปริมาณการใช้น้ำ (Water Footprint Income; WFI) หากมีการจัดสรรหรือลงทุนปริมาณน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร ในการผลิตทุเรียนพื้นที่โครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ อำเภอ เขาสมิง จังหวัดตราด จะได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ไร่ละ 43.89 บาท ซึ่งถือว่าน้ำมีความคุ้มค่าต่อการลงทุนสูงมาก หรือลงทุนค่าน้ำ0.50 บาท ได้ผลตอบแทนไร่ละ 43.89 บาท คิดเป็น 87.78 เท่าของเงินลงทุน
ทั้งนี้ พื้นที่โครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ทุเรียน อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราดมีจำนวน 553 ไร่ หากมีการลงทุนด้านน้ำให้กับทุเรียนในแปลงใหญ่ จะทำให้แปลงใหญ่มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมูลค่า 24,270.69 บาทต่อลูกบาศก์เมตร อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะจากการศึกษา พบว่า ทีมผู้จัดการแปลงใหญ่และสมาชิกโครงการควรมีเงื่อนไขในการส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำโดยการปลูกทุเรียน 1 ไร่ ควรแหล่งน้ำเพื่อใช้การเกษตรขนาด 793.97 ลูกบาศก์เมตร ถึง 1,525.86ลูกบาศก์เมตร เป็นเบื้องต้น โดยควรนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ เช่น เครื่องวัดแรงดึงน้ำในดิน (Tensiometer) สำหรับบ่งชี้สภาพความชื้นของดินเพื่อการให้น้ำอย่างเพียงพอ การส่งน้ำแบบท่อเพื่อการเกษตร และควรนำข้อมูลการจัดทำวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ทุเรียนของโครงการ ไปประชาสัมพันธ์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างโอกาสทางการค้า ตลอดจนเตรียมการขอขึ้นทะเบียนฉลากวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ต่อไป