กรุงเทพฯ--4 ม.ค.--Deeristic
สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดึงช่างภาพสารคดีระดับโลก "เซบาสเทียว ซาลกาโด้" โชว์ผลงานภาพถ่ายระดับมาสเตอร์พีชกว่า 120 ภาพ จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายระดับโลกครั้งแรกในเมืองไทย ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
นิทรรศการภาพถ่ายระดับโลก Sebastião Salgado: The World Through His Eyes จะจัดแสดงในระหว่างวันที่ 8 กุมภาพันธ์ – 8 มีนาคม 2560 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยเปิดแสดงให้ผู้สนใจเข้าชมฟรี
สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ หอศิลป์ซุนดารัม ทากอร์ (Sundaram Tagore) จัดนิทรรศการภาพถ่ายระดับโลก"Sebastião Salgado: The World Through His Eyes" ซึ่งเป็นการจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นงานนิทรรศการแสดงภาพถ่ายที่สมควรเข้าร่วมชมมากที่สุดในโลก (The World's Best Attended Photo Show) ซึ่งได้รวบรวมผลงานภาพถ่ายขาว-ดำของช่างภาพสารคดีระดับโลกชาวบราซิล เซบาสเทียว ซาลกาโด (Sebastião Salgado) ตั้งแต่ปี 2529 จนปัจจุบัน เพื่อนำมาจัดแสดงในระหว่างวันที่ 8 กุมภาพันธ์ - 8 มีนาคม 2560 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ซาลกาโดได้จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายระดับโลกในประเทศไทย งานแสดงภาพถ่ายในครั้งนี้ยังได้รวบรวบและจัดแสดงผลงานภาพถ่ายระดับมาสเตอร์พีชของซาลกาโกครั้งสำคัญ โดยได้นำภาพถ่ายมาจัดแสดงทั้งสิ้น 120 ภาพ การจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายในครั้งนี้ ยังเป็นครั้งแรกที่ซาลกาโดจะมาเยือนประเทศไทยเพื่อจัดแสดงงานด้วยตัวเอง พร้อมร่วมพูดคุยและเล่าประสบการณ์การถ่ายภาพทั่วโลกของเพื่อเป็นแรงบันดาลใจสำหรับผู้ที่สนใจ
นายนิติกร กรัยวิเชียร นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงการจัดนิทรรศการแสดงภาพถ่ายระดับโลก "Sebastião Salgado: The World Through His Eyes" โดยความร่วมมือกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และหอศิลป์ซุนดารัม ทากอร์ (Sundaram Tagore) ในครั้งนี้ว่า "เซบาสเทียว ซาลกาโด เป็นหนึ่งในช่างภาพสารคดีที่มีฝีมือการถ่ายภาพยอดเยี่ยมที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ของโลก โดยช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา เขาได้เดินทางไปทั่วโลกมากกว่า 100 ประเทศเพื่อบันทึกภาพ ซึ่งในการถ่ายภาพของซาลกาโด เขาไม่แค่เพียงกดชัตเตอร์เท่านั้น ซาลกาโดได้ใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่เขาจะถ่ายภาพเป็นสัปดาห์หรือมากกว่า เพื่อเป็นการทำลายกำแพงต่างๆ และเป็นนำเอาตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมกับสิ่งแวดล้อมหรือสถานที่เหล่านั้น ทำให้ภาพถ่ายแต่ละภาพของเขานั้นเต็มไปด้วยอารมณ์ร่วมและความเคารพต่อสิ่งที่เขาถ่ายภาพออกมา หากถ่ายภาพคน ก็จะเห็นได้ว่าในภาพถ่ายเพียงหนึ่งภาพของเขาจับได้ถึงความเปราะบางและความแข็งแกร่งของจิตใจมนุษย์ นับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ซาลกาโดตอบรับคำเชิญที่จะมาจัดแสดงผลงานภาพถ่ายของเขาในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกในอาเซียนที่ตัวของเซบาสเทียว ซาลกาโดจะมาร่วมพูดคุยถึงผลงานของเขาด้วยตัวเอง"
สำหรับนิทรรศการภาพถ่าย "Sebastião Salgado: The World Through His Eyes" ที่จะจัดขึ้นในครั้งนี้ ได้รับการคัดสรรภาพโดยตัวของซาลกาโดเพื่อมาจัดแสดงในประเทศไทยโดยเฉพาะเป็นจำนวนถึง 120 ภาพ โดยภาพถ่ายที่จะนำมาจัดแสดงมาจากชุดผลงานที่เคยจัดแสดงมาแล้วทั่วโลก ได้แก่ Workers (พ.ศ. 2529 – 2536) และ Genesis (พ.ศ. 2547 – 2554) และงานนี้ยังได้จัดแสดงผลงานของภาพพิมพ์ที่มีเทคนิคการล้าง-อัดภาพขาว-ดำ (Silver Gelatin) ในชื่อชุด Other Americas (พ.ศ. 2540 – 2547) อีกด้วย
โดยผลงาน เวิร์คเกอร์ส (Workers) นั้นซาลกาโดเริ่มต้นถ่ายภาพงานชิ้นสำคัญในช่วงกลางทศวรรษ 1980 (พ.ศ. 2523 – 2532) เกี่ยวกับผู้คนที่ใช้แรงงานในทุกอุตสาหกรรม ในช่วงนั้นเป็นช่วงของการเริ่มสหัสวรรษใหม่ที่เขาพบว่าผู้คนที่ประกอบอาชีพแรงงานเพื่อประทังชีวิตถูกคุมคามด้วยการผลิตที่ใช้เครื่องจักรและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ผลงานชุดนี้เป็นสิ่งที่เขาเรียกว่าเป็น "โบราณคดีที่มองเห็นได้" แห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม และนับเป็นช่วงเวลาสุดท้ายของยุคที่ผู้ชายและผู้หญิงทำงานด้วยมือ จากผลงาน Workers นี้เองที่ทำให้ซาลกาโดต้องเดินทางไปทุกมุมโลก จากโรงงานจักรยานในประเทศจีนถึงไร่อ้อยและยาสูบในประเทศคิวบา ไปยังอู่เรือในประเทศบังคลาเทศ ซึ่งโครงการถ่ายภาพนี้ได้กลายเป็นโครงการระดับโลกโครงการแรกของเขาอย่างแท้จริง ความโด่งดังของผลงาน Workers นี้ตอกย้ำชื่อเสียงของซาลกาโดในฐานะช่างภาพระดับโลกเป็นอย่างดีทีเดียว
ต่อมาซาลกาโดได้สร้างสรรค์ผลงานในชุด Exodus หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Migrations ในผลงานชุดนี้ซาลกาโดได้จับถึงความเปราะบางและความแข็งแกร่งของจิตใจของมนุษย์ และผสานใส่รวมเข้ากับความรู้สึกร่วมและความเคารพในหัวข้อเรื่องของเขา ภาพถ่ายของเขาเปิดเผยให้เห็นถึงช่วงเวลาที่เปล่าเปลี่ยวที่สุดของประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ผลงาน Exodus เป็นการบันทึกข้อมูลการขับไล่ครั้งใหญ่ของประชาชนทั่ว 35 ประเทศ ดังเป็นผลมาจากความแตกต่างทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
งานชุด Genesis เป็นผลงานที่เขาใช้เวลาทำถึง 8 ปีด้วยกัน ประกอบไปด้วยภาพถ่ายที่สวยงามของทิวทัศน์ที่ยิ่งใหญ่ สัตว์ป่าที่สงบและเยือกเย็น และอารยธรรมโบราณ ที่ยังคงอยู่ในความทรงจำและยังไม่ถูกแตะต้องโดยสังคมยุคใหม่ ในผลงานชุดนี้ซาลกาโดต้องเดินทางถึง 32 ครั้งเพื่อถ่ายภาพสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ห่างไกลและแสดงความเคารพต่อธรรมชาติที่ยังไม่ถูกทำให้เสียไป อันได้แก่ ภูเขาน้ำแข็งที่ดูเหมือนภาพฝันในบริเวณขั้วโลกใต้ ชนเผ่า Zo'e ที่รักสันโดษในประเทศบราซิล รอยแยกขนาดใหญ่ที่แกรนด์ แคนยอน ในรัฐอริโซนา และสัตว์พื้นเมืองของแอฟริกาในอุทยานแห่งชาติคาฟู (Kafue) ประเทศแซมเบีย ในปี พ.ศ. 2556 นิทรรศการชุด Genesis ได้เริ่มออกแสดงไปทั่วโลก โดยมีผลงานที่จัดแสดงมากกว่า 200 ภาพ จากงานชุดนี้ นิทรรศการนี้ได้เปิดแสดงครั้งแรกที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติ กรุงลอนดอน และเป็นหนึ่งในงานแสดงที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดในปีนี้ จากนั้นนิทรรศการนี้ก็ได้ถูกจัดแสดงขึ้นที่สถานที่ทางวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงอีกหลายที่ทั่วโลก รวมถึงพิพิธภัณฑ์แห่งชาติแห่งสิงคโปร์ ซึ่งนิทรรศการนี้ถูกขยายการจัดเป็น 4 เดือน เนื่องจากสถิติการเข้าชมอย่างล้นหลาม และ ในปี พ.ศ. 2557 ผลงานชุด Genesis ได้เปิดแสดงครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกา ที่ศูนย์ภาพถ่ายนานาชาติ (The International Center of Photocopy) นครนิวยอร์กด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ "Sebastião Salgado: The World Through His Eyes" ยังได้จัดแสดงแฟ้มผลงานพิเศษของภาพพิมพ์ที่มีเทคนิคการล้าง-อัดภาพขาว-ดำ (Silver Gelatin) จำนวน 20 ภาพ เป็นผลงานชุด Other Americas สำหรับผลงานชุดนี้ เขาเริ่มทำงานในปี พ.ศ. 2520 โดยถูกกระตุ้นโดยความต้องการที่จะกลับไปยังลาตินอเมริกาหลังจากที่ได้ผจญภัยในแอฟริกาและยุโรปมาเป็นเวลาหลายปี เขาใช้เวลาถึง 7 ปีในการถ่ายภาพในบราซิล ชิลี โบลิเวีย เปรู เอกวาดอร์ กัวเตมาลา และเม็กซิโก โดยภาพถ่ายชุดนี้ถูกรวบรวมและพิมพ์ในปี พ.ศ. 2557 และแคทตาลอกภาพถ่ายประกอบนิทรรศการนี้และภาพถ่ายที่คัดเลือกจากชุดผลงาน Genesis สามารถหาซื้อได้จากหนังสือที่มีชื่อเดียวกันนี้ ซึ่งถูกตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Taschen (พ.ศ. 2556)
"Sebastião Salgado: The World Through His Eyes" ไม่เพียงเป็นแค่การจัดแสดงผลงานศิลปะภาพถ่ายชุดสำคัญของซาลกาโดเท่านั้น แต่ยังได้รับเกียรติจากตัวเซบาสเทียว ซาลกาโดมาร่วมพูดคุยถึงประสบการณ์การถ่ายภาพชุดสำคัญของเขาด้วยตัวเอง พร้อมกับยังจะได้ชมภาพยนตร์ The Salt of the Earth ซึ่งเป็นภาพยนตร์สารคดีที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับผลงานการถ่ายภาพของซาลกาโด โดยภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดยวิม เวนเดอร์ส ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ที่ได้รับเสนอชื่อเข้าชิงราลวัลออสการ์ และจูเลียโดน ริเบย์โร ซาลกาโด บุตรชายของเซบาสเตียว ซาลกาโดนั่นเอง ซึ่ง The Salt of the Earth ได้รับรางวัลชนะเลิศจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ และถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาสารคดีด้วย จึงนับว่าเป็นโอกาสอันดีที่คนไทยจะได้ทั้งชมนิทรรศการผลงานของศิลปินระดับโลก ร่วมรับฟังประสบการณ์ตรงจากศิลปินที่สร้างผลงานและแรงบันดาลใจให้แก่ช่างภาพสารคดีทั่วโลก และชมภาพยนตร์สารคดีรางวัลระดับโลกภายในงานเดียว" นายนิติกรกล่าวในตอนท้าย
สำหรับนิทรรศการ "Sebastião Salgado: The World Through His Eyes" จัดแสดงในระหว่างวันที่ 8 กุมภาพันธ์ - 8 มีนาคม 2560 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือทาง www.rpst.or.th หรือ rpst.info@gmail.com