กรุงเทพฯ--4 ม.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยในกระทรวงเกษตรฯ เร่งลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการลดผลกระทบกับพื้นที่การเกษตร ซึ่งจากรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากฝนตกหนักในช่วงวันที่ 30 ธ.ค. 59 - 4 ม.ค. 60 โดยล่าสุดขณะนี้มี 6 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ คือ ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง นราธิวาส ปัตตานี และ ยะลา ซึ่งปริมาณฝนสะสมสูงสุดในช่วงที่ผ่านมาวันที่ 30 ธ.ค. 59 - 3 ม.ค. 60 ในแต่ละจังหวัด พบว่า จ.นราธิวาส ฝนสะสมสูงสุด 455 มม. จ.ยะลา ฝนสะสมสูงสุด 290 มม. จ.ปัตตานี ฝนสะสมสูงสุด 239 มม.จ.นครศรีธรรมราช ฝนสะสมสูงสุด 194 มม.
อย่างไรก็ตาม จังหวัดที่ได้รับผลกระทบไม่มากนัก ได้แก่ จ.ตรัง ยะลา และ ปัตตานี คาดว่าจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ใน 1 - 2 วัน ขณะที่จังหวัดที่ได้รับกระทบมาก ได้แก่ จ.นราธิวาส นครศรีธรรมราช และ พัทลุง กรมชลประทานได้เข้าไปดำเนินการให้การช่วยเหลือเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างเร่งด่วนแล้ว ประกอบด้วย เครื่องสูบน้ำ รวม 46 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ รวม 8 เครื่อง สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า รวม 4 สถานี
ด้านนายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานปศุสัตว์เขต 9 ได้รายงานผลการช่วยเหลือเกษตรกรภาคปศุสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สงขลา สตูล นราธิวาส หลังจากเกิดภาวะน้ำท่วม ทั้งเครื่องเวชภัณฑ์ที่ใช้ในการรักษาสัตว์ ไปแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วม และสัตว์เลี้ยงขาดแคลนหญ้า โดยสัตว์เลี้ยงของเกษตรกรได้รับผลกระทบอย่างหนัก ประกอบด้วย โค กระบือ จำนวน 7,490 ตัว แพะ แกะ จำนวน 5,125 ตัว และสัตว์ปีก จำนวน 59,677 ตัว รวมทั้งสิ้น 39,263 ตัว เนื่องจากพื้นที่ทุ่งหญ้าถูกน้ำท่วมขังขาดแคลนหญ้า รวมทั้งสภาพอากาศที่มีฝนตกตลอดเวลา ซึ่งจากรายงานการประเมินความเสียหายเบื้องต้นในพื้นที่ 3 จังหวัด เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจำนวน 3,168 ราย ในเบื้องต้นได้ช่วยเหลือหญ้าแห้ง จำนวน 1,222 ฟ่อน (24,435 ก.ก.) หญ้าสด จำนวน 108,100 ก.ก.
"ขณะนี้ทางกรมปศุสัตว์กำลังเร่งสำรวจ และให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรที่ประสบปัญหาน้ำท่วม โดยสั่งการให้อพยพสัตว์ไปยังพื้นที่สูง โดยประสานสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ในพื้นที่ให้ ติดตาม ดูแล และให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ทางกรมปศุสัตว์ ยังได้ออกหน่วยเคลื่อนที่เพื่อให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรในการป้องกันและรักษาสัตว์เลี้ยงที่เจ็บป่วยในช่วงน้ำท่วมอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะเป็นปกติ และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายจะมอบหมายให้แต่ละจังหวัดสำรวจความเสียหายในส่วนของสัตว์เลี้ยงเพื่อเร่งให้การช่วยเหลือเพิ่มเติมต่อไป" อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว