กรุงเทพฯ--5 ม.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา (สคร. 12 สงขลา) ขานรับนโยบายลดการบาดเจ็บจากการจราจรทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560 จัดทีมบุคลากรลงพื้นที่ให้ความรู้เรื่องการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ประสานหน่วยงานในพื้นที่รับผิดชอบเตรียมการตั้งด่านชุมชน พร้อมประชาสัมพันธ์การปฏิบัติตัวให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุถางถนนในช่วง 7 วันอันตราย 29 ธันวาคม 2559 ถึง 4 มกราคม 2560
ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า
ในช่วงเทศกาลปีใหม่ เป็นช่วงที่มีอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้นสูงมากกว่าช่วงปกติ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีวันหยุดติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน ผู้ใช้รถสัญจรไปมาบนท้องถนนเป็นจำนวนมาก ซึ่งสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุมาจากพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมาแล้วขับ ขับรถเร็ว ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ สคร. 12 สงขลาจึงจัดทีมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 แก่ผู้ประกอบการร้านค้า ซึ่งได้กำหนดมาตรไม่ให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย เช่น ห้ามขาย ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวัด สถานศึกษา สถานที่ราชการ สวนสาธารณะ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง สถานีรถไฟและในขบวนรถไฟ สถานีขนส่งผู้โดยสาร ท่าเรือและบนเรือโดยสารสาธารณะประจำทาง ห้ามดื่มขณะขับขี่หรือขณะโดยสารอยู่ในรถ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ห้ามมิให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20ปี หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เวลาที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ คือ เวลา 11.00-14.00 น. และ17.00-24.00 น. หากมีการจำหน่ายนอกช่วงเวลา มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับ 5 กุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ทุกคนเดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่คือ ดื่มไม่ขับ ง่วงไม่ขับ ไม่ขับเร็ว คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง ทั้งผู้ขับขี่และผู้นั่งเบาะหน้า เบาะหลัง สวมหมวกกันน็อคทุกครั้ง ทั้งคนขับและคนซ้อนท้าย ในช่วงเทศกาลปีใหม่จะมีการเกิดอุบัติเหตุสูงมากกว่าช่วงปกติ สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรม เมาแล้วขับ ขับรถเร็ว ง่วงหลับใน และผลให้เกิดความรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ การไม่สวมหมวกกันน็อค ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย นั่งท้ายรถกระบะ หรือมีวัตถุอันตรายอยู่ข้างทางถนน ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุที่มากที่สุดคือในช่วงเวลาเย็น หัวค่ำ ไปจนถึงหลังเที่ยงคืน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่อนุญาตให้จำหน่ายสุราได้ และมีงานเลี้ยงสังสรรค์ มีการดื่มสุรา สำหรับวันที่เกิดอุบัติมากที่สุดคือช่วงวันที่ 31 และ 1 มกราคม ของทุกปี การบาดเจ็บ มักจะเกิดกับผู้ใช้รถจักรยานยนต์ บนถนนหมู่บ้านและถนนสายรอง ในแต่ละปีมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนโดยมีสาเหตุจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นจำนวนมาก
ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการลดปัญหาอุบัติเหตุจราจรในช่วงเทศกาลปีใหม่อีกมาตรการที่สำคัญคือ การประสานหน่วยงานในพื้นที่รับผิดชอบจัดตั้งด่านชุมชน จุดตรวจหรือจุดสกัดบนถนนในชุมชน เพื่อสกัดกลุ่มเสี่ยง ลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยใช้หลัก 3 ต. ได้แก่ ต.เตรียม คือการ เตรียมความพร้อมร่วมสร้างมาตรการชุมชน ให้ความรู้การใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัย ปลูกฝังพฤติกรรม การสวมหมวกนิรภัย เมาไม่ขับ รวมทั้งสำรวจหาข้อมูลความเสี่ยง จุดที่ขายสุรา ต.ตั้ง คือการ ตั้งด่านชุมชนสกัดกลุ่มเสี่ยง โดยตั้งด่านชุมชนที่ปากทางเข้าหมู่บ้าน ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขร่วมกับฝ่ายปกครอง อาสาสมัครป้องกันภัยฯในชุมชนและประชาชน ใช้เป็นจุดตรวจ หากพบทำผิดให้พูดคุย ตักเตือน หรือยึดกุญแจรถ ถ้าเป็นเด็กจะเชิญผู้ปกครองมารับตัวกลับบ้าน และ ต.ติดตาม คือการ ทบทวนการทำงานระดับจังหวัดและระดับประเทศ เพื่อวางแผนการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนต่อเนื่องตลอดทั้งปี