กรุงเทพฯ--5 ม.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
"ส้มแก้ว" ผลไม้พื้นถิ่นตำบลบางสะแก อำเภอบางคนที จ.สมุทรสงคราม ลักษณะคล้ายส้มโอผสมส้มเขียวหวาน เปลือกสีเหลืองทอง เนื้อฉ่ำ รสชาติหวาน เป็นไม้ผลที่ให้ผลผลิตมาก สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรถึงปีละกว่าแสนบาทเลยทีเดียว
จังหวัดสมุทรสงครามประกอบไปด้วย 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสมุทรสงคราม อำเภออัมพวา อำเภอบางคนที เป็นจังหวัดที่มีการทำอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางด้านกายภาพ โดยเฉพาะตำบลบางสะแก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นพื้นที่ที่ทำอาชีพการเกษตรเป็นหลัก เช่น ปลูกลิ้นจี่ ส้มโอ ซึ่งเป็นผลไม้ที่ขึ้นชื่อประจำจังหวัดสมุทรสงคราม แต่ยังมีผลไม้พื้นถิ่นอีกชนิดที่เป็นจุดเด่นอีกอย่างของแม่กลอง นั่นก็คือ "ส้มแก้ว"
นายนวพล กอสนาน (กิ๊ก) นักเรียนชั้น ม. 5 โรงเรียนถาวรานุกูล บอกว่า "ปัจจุบันการปลูกส้มแก้วในพื้นที่ของแม่กลองมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากส้มแก้วเป็นผลไม้ที่ดูแลรักษายาก และมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เพียงปีละครั้ง (ออกในช่วงเดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์) กว่าจะได้เงินก็ต้องเสียเวลารอคอยนาน จึงกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้เกษตรกรหลายคนถอดใจเลิกปลูกส้มแก้ว และหันไปปลูกส้มโอแทน เพราะให้ผลผลิตเร็วกว่า รอประมาณ 7-8 เดือน ก็เก็บผลผลิตออกขายได้ นี่จึงเป็นเหตุผลให้คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้จักพืชชนิดนี้สักเท่าไหร่ ทั้งๆที่เป็นผลไม้พื้นถิ่นในชุมชน"
จากปัญหาดั่งกล่าว กิ๊ก และเพื่อนอีก 4 คน ประกอบด้วย น.ส.ปภาวดี บุญมาก (อ้อม) ชั้น ม.6 นายอาทิตย์ ตาลประเสริฐ (เจมส์) ชั้น ม.4 ด.ญ.บุษยากร รุ่งอุทัย และ ด.ญ.ศุดารัตน์ ศรีสุวรรณ ชั้น ม.3 โรงเรียนถาวรานุกูล มารวมตัวกันทำโครงการส้มแก้วต้อง STRONG ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ปี 2 ดำเนินงานโดยศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.สมุทรสงคราม สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ สสส.เพื่อหาสืบค้นเรื่องราวของส้มแก้ว…
"ตอนแรกที่ไปสำรวจข้อมูลจากผู้รู้ในชุมชน ทำให้รู้ว่าส้มแก้วนี้เป็นผลไม้ที่มีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 2 และนำเข้ามาโดยคนจีนที่มาอยู่อาศัยในประเทศไทย ซึ่งคนสมัยนั้นนิยมนำส้มแก้วเป็นของกำนัลไปถวายเจ้านายชั้นสูงในวัง ก็เลยรู้สึกว่าส้มแก้วน่าจะมีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย จึงได้ไปชวนเพื่อนมาทำโครงการด้วยกัน" กิ๊ก เล่า
หลังจากนั้นพวกเขาได้ลงพื้นที่สำรวจอย่างจริงจัง และนับว่าเป็นความโชคดีที่พวกเขาได้ลงไปเรียนรู้กับผู้รู้ในชุมชนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกับลุงเสงี่ยม ทรงหิรัญ เกษตรกรเจ้าของสวนส้มแก้ว อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ที่นอกเหนือจากการรับฟังข้อมูลแล้ว พวกหนุ่มสาวกลุ่มนี้ยังได้เทคนิคต่างๆในการดูแลส้มแก้วให้มีคุณภาพดี และมีผลผลิตเยอะอีกด้วย เช่น การขยายพันธุ์ การดูแล การห่อผลส้มแก้วให้มีสีสวยน่ารับประทาน รวมถึงเทคนิคการนำเกลือมาโรยรอบๆ โคนต้นส้มแก้ว เพื่อทำให้มีรสชาติที่กลมกล่อมขึ้น เป็นต้น
ทางด้าน อ้อม บอกว่า "จากการได้ลงไปเรียนรู้เรื่องส้มแก้วนั้น ทำให้พวกเราได้เข้าใจถึงสาเหตุของการหายไปของส้มแก้ว และยังได้รู้อีกว่าในชุมชนของตนนั้นยังมีฐานทุนเรื่องของพื้นที่ ที่ได้เปรียบ และแตกต่างจากที่อื่น…หากสังเกตให้ดี ส้มแก้วจะมีมากในตำบลบางสะแก ก็เป็นเพราะในพื้นที่นี้มีลักษณะเป็นเกาะมีน้ำล้อมรอบ โดยมีการทำสวนแบบยกร่อง และด้วยความที่น้ำจะท่วมพื้นที่นี้ตลอดเวลา น้ำก็พัดแร่ธาตุต่างๆกับดินทิ่อื่นเข้ามาด้วย ทำให้สภาพดินที่ทับถมกันหลายๆที่ มันก็เลยไม่ใช่แค่ดินร่วน ดินทราย หรือดินเดียว แต่ดินทุกดินจะมาอยู่ที่นี่ ก็เลยมีความอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้ตำบลบางสะแกมีส้มแก้วที่มีรสชาติอร่อยกว่าที่อื่น"
นอกจากนี้ส้มแก้วเป็นพืชที่ชอบความชื้น และแสงแดดรำไร จึงทำให้ ณ ปัจจุบันนี้ เกษตรกรบางรายได้เริ่มหันมานิยมปลูกแซมกับต้นไม้ชนิดอื่น
" โดยธรรมชาติแล้วส้มแก้วเป็นพืชที่ชอบสภาพอากาศเย็น สามารถเจริญเติบโตดีในสภาพสวนที่ร่มเงาไม้ปกคลุม หากได้รับการดูแลที่ดี ก็จะให้ได้ผลผลิตเป็นจำนวนมาก อย่างปี 2550 ที่ผ่านมา บางสวนก็ให้ผลผลิตเป็นพันลูกต่อต้น ซึ่งมีคนจากพื้นที่อื่นสนใจนำไปทดลองปลูกเช่นกัน แต่ไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร จึงคิดว่า สภาพดิน น้ำ อากาศ อาจมีผลต่อการเจริญเติบโตของส้มแก้วด้วยเช่นกัน" กิ๊ก กล่าว
อ้อม กล่าวว่า "อีกอย่างเราเป็นลูกหลานที่อยู่ในตำบลนี้จึงอยากจะอนุรักษ์ผลไม้พื้นถิ่นชนิดนี้ไว้ ในขณะเดียวกันก็อยากจะเผยแพร่ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับส้มแก้ว ให้แก่คนในชุมชนสำหรับการนำไปปลูกในพื้นที่ของเขาด้วยเช่นกัน"
นายมนัส บุญพยุง กำนัน ตำบลบางสะแก กล่าวว่า "ปัญหาส่วนใหญ่ของที่นี่จะเป็นเรื่องที่ พ่อ-แม่ส่งลูกออกไปเรียนนอกพื้นที่เราจึงมีความกังวลว่า หากเด็กบางคนที่ออกไปอยู่นอกพื้นที่แล้วเขาไม่กลับมา จะส่งผลให้เกิดปัญหา ประชากรไหลออก และไม่มีเด็กในพื้นที่หลงเหลืออยู่ ซึ่งนั่นอาจหมายถึงว่า ชุมชนของเราก็จะขาดแคลนกำลังคนรุ่นใหม่ที่มาสืบสาน การทำเกษตรกรรม ที่เป็นอาชีพสำคัญของคนในชุมชน…ผมในฐานะผู้ใหญ่ จึงมองว่า เด็กกลุ่มนี้เราควรสนับสนุน เพราะอย่างน้อยเขาก็เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นมาสนใจสถานการณ์ปัญหารอบบ้านตัวเอง ไม่นิ่งดูดายและพร้อมที่จะลุก ขึ้นมาช่วยเหลือชุมชน….ดังนั้น การที่ให้เด็กได้เข้ามาทำโครงการนี้ มันเป็นการเปิดพื้นที่ให้เขาได้เข้ามามีส่วนร่วมกับชุมชนในการคิด และแก้ปัญหาของชุมชน และนำไปสู่การอนุรักษ์พืชพื้นถิ่นให้ฟื้นกลับมาในชุมชนอีกครั้ง"
"ถึงแม้ว่าในปัจจุบันผลผลิตทางการเกษตรอย่างส้มโอจะเป็นพืชที่สร้างรายได้หลักให้ชาวแม่กลองก็ตาม แต่ด้วยความที่ "ส้มแก้ว" มีลักษณะคล้ายส้มเขียวหวาน แต่มีผิวที่สวยออกสีเหลืองทอง รสชาติอร่อยจัดจ้านหวานอมเปรี้ยว และขนาดผลใหญ่กว่าส้มเขียวหวานเกือบเท่าตัว หากลองชั่งน้ำหนักดู ก็จะรู้ว่าแค่ส้มแก้วเพียง 2-3 ผล มีหนักประมาณ 1 กิโลกรัม อีกทั้งในปัจจุบันส้มแก้วยังเป็นไม้ผลที่มีความต้องการทางการตลาดสูง ขายได้ราคาดี ราคา เฉลี่ย 80-120 บาท ต่อกิโลกรัม ยิ่งช่วงหน้าเทศกาลปีใหม่ ตรุษจีนและงานบุญต่างๆ โดยเฉพาะคนจีน ส่วนใหญ่จะนิยมนำส้มแก้วขึ้นหิ้งบูชาพระ เพราะถือว่าเป็นผลไม้มงคล ไม่แน่ว่าในอนาคต "การปลูกส้มแก้ว" อาจจะกลับมาคึกคัก จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดที่ช่วยเพิ่มโอกาสเสริมรายได้ให้เกษตรกรที่นี่อีกทางหนึ่งก็เป็นได้" กำนันตำบลบางสะแก กล่าวทิ้งท้าย