กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--กทม.
เมื่อวานนี้ (1 มิ.ย. 48) เวลา 10.00 น. คุณหญิงณฐนนท ทวีสิน ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานร่วมแถลงข่าวการตรวจจับรถจักรยานยนต์เสียงดัง โดยมี นายประเสริฐ อินทุโสมา ผู้อำนวยการขตสัมพันธวงศ์ พร้อมด้วย นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ พลตำรวจตรี ภาณุ เกิดลาภผล รองบังคับการตำรวจจราจร และกองบังคับการตำรวจนครบาล สมาคมผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ไทย ชมรมคลินิกไอเสีย ร่วมแถลงข่าว ณ โรงพยาบาลเทียนฟ้า ถนนเยาวราช
ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.48 เป็นต้นไปกองบังคับการตำรวจจารจร กรุงเทพมหานคร และกรมควบคุมมลพิษ กำหนดแผนการตรวจจับ 31 แห่ง การตรวจจับในช่วงเช้า ด่านหลัก 13 ด่าน ช่วงบ่ายด่านหลัก 12 ด่าน และด่านเคลื่อนที่ที่ตั้งทั้งวันอีก 6 ด่าน ครอบคลุม 50 เขต ทั่วกรุงเทพมหานคร ผู้ที่ใช้รถจักรยานยนต์ที่มีระดับเสียงเกินมาตรฐาน 95 เดซิเบล มีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 4 ) พ.ศ. 2535 มาตรา 10 ทวิ และมีโทษปรับตามมาตรา 152 ไม่เกิน 1,000 บาท และผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่มีการ ดัดแปลงท่อไอเสียหรือใช้ท่อไอเสียที่ไม่มีเครื่องระงับเสียง มีความผิดข้อหานำรถที่มีส่วนควบหรืออุปกรณ์ไม่สมบูรณ์มาใช้ในทาง ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 6 วรรค 2 และมีโทษปรับตามมาตรา 148 ไม่เกิน 500 บาท ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 5(2) และกฎกระทรวงฉบับที่ 22 พ.ศ. 2537 ซึ่งมีโทษปรับตาม พ.ร.บ. รถยนต์ ไม่เกิน 1,000 บาท และติดสติ๊กเกอร์ “ห้ามใช้ชั่วคราว”(ตัวอักษรสีส้ม) หรือ “ห้ามใช้เด็ดขาด”(ตัวอักษรสีแดง) บทลงโทษผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งเครื่องหมายห้ามใช้รถจักรยานยนต์ มีความผิดต้องระวางโทษไม่เกิน 5,000 บาท (มาตรา 102 พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535) ผู้ใด ไม่หยุดรอเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบรถจักรยานยนต์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ (มาตรา 103 พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ผู้ใดทำให้เครื่องหมาย (สติ๊กเกอร์) “ห้ามใช้ ชั่วคราว” หรือ “ห้ามใช้เด็ดขาด” หลุด ฉีก หรือไร้ประโยชน์ มีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา (ปรับไม่เกิน 500 บาท) จะมีเวลาในการแก้ไขปรับปรุงภายใน 30 วัน หากเกินเวลาและนำมาใช้บนท้องถนนจะถูกออกคำสั่งห้ามใช้เด็ดขาดต่อไป
พร้อมกันนี้ ได้กำหนดจุดยกเลิกคำสั่งห้ามใช้ชั่วคราว 7 แห่ง ได้แก่ 1.กรมควบคุมมลพิษ 2.สน.คู่ขนาน ถ.ปิ่นเกล้า-นครชัยศรี(ขาเข้า) 3.กองโรงงานช่างกล (กทม.2 ดินแดง) ถ.มิตรไมตรี ใกล้ศูนย์เยาวชน กรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง 4.ศูนย์ซ่อมกองโรงงานช่างกล สาขาดอนเมือง ถ.พหลโยธิน บริเวณด้านหลังสถานธนานุบาลดอนเมือง 5.ศูนย์ซ่อมกองโรงงานช่างกล สาขาประเวศ ซ.สุภาพงษ์ 2 ถ.ศรีนครินทร์ ตรงข้ามซีคอนสแควร์ 6.ศูนย์ซ่อมกองโรงงานช่างกล สาขาภาษีเจริญ โรงงานกำจัดมูลฝอยหนองแขม ถ.พุทธมณฑลสาย 3 ทั้งนี้ สมาคมผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ไทย ชมรมคลินิกไอเสีย ศูนย์จำหน่ายและซ่อมรถจักยานยนต์ สถานประกอบการคลินิกไอเสียมาตรฐานและมาตรฐานดีเด่น ได้ขยายเวลาการให้บริการออกไปอีก 3 เดือน ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย.-31 ส.ค.48 ประชาชนที่ถูกตรวจจับหรือสนใจนำรถไปดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้มีระดับเสียงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานจะได้รับส่วนลดในอัตราพิเศษ 20% ขณะเดียวกันกรมควบคุมมลพิษ ได้ประสานกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กองบัญชาการตำรวจนครบาล และกรุงเทพมหานคร ตรวจจับร้านจำหน่าย ซ่อมหรือดัดแปลงท่อไอเสียที่ไม่ได้มาตรฐานด้วย
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า รถจักรยานยนต์ที่เสียงดังสร้างปัญหาให้กับประชาชนมาก ผู้ประกอบการจำหน่ายท่อไอเสียควรแจ้งให้ลูกค้ารับรู้ว่าลักษณะของท่อไอเสียที่มีปัญหาไม่ได้มาตรฐานนั้นถ้านำมาใช้จะมีบทลงโทษ ซึ่งต้องดำเนินการอย่างเข็มงวดต่อไปเพื่อลดจุดกำเนิดของท่อไอเสียที่มีเสียงดังเหล่านี้ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมหากพบมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ท่อไอเสียส่งเสียงดัง เกินไปให้จำหมายเลขทะเบียนรถจักรยานยนต์กับเสื้อวินมอเตอร์ไซค์ที่ปรากฎอยู่บนเสื้อกั๊กแล้วแจ้งมาที่สายด่วนกทม. 1555--จบ--