วิตามินซีช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร ได้ถึง 45%

ข่าวทั่วไป Monday October 17, 2005 10:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส
จากสถิติทั่วโลก โรคมะเร็งในกระเพาะอาหารนับเป็นโรคที่ใกล้ตัวกว่าที่คิด เนื่องจากเป็นสาเหตุการตายอันดับสองของการตายจากโรคมะเร็งที่พบทั่วโลก และเป็นอันดับ 4 ของโรคมะเร็งที่พบบ่อย
แต่อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยได้ทำการศึกษาและแสดงหลักฐานที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งในกระเพาะอาหารอย่างมากมาย โดยมีข้อมูลสนับสนุนว่าการรับประทานวิตามินซีและผลไม้มีความสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้
ศูนย์วิจัยเนสท์เล่ สวิตเซอร์แลนด์ ได้ระบุถึงผลการวิจัยของคณะผู้วิจัยจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติของสหรัฐ อเมริกา และสถาบันสาธารณสุขศาสตร์แห่งชาติของประเทศฟินแลนด์ ซึ่งได้ประเมินความสัมพันธ์ระหว่างการรับประทานผักและผลไม้ กับความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารในผู้ชายที่สูบบุหรี่จำนวน 29,000 คน ที่มีอายุตั้งแต่ 50-69 ปีที่เข้าร่วมในโครงการป้องกันมะเร็งด้วยอัลฟาโทโคเฟอรอลและเบต้าแคโรทีนของประเทศฟินแลนด์
การศึกษาเริ่มต้นที่การทดสอบผลของการให้วิตามินเสริมต่อการป้องกันโรคมะเร็งปอดและโรคมะเร็งอื่นๆ ที่ได้เสร็จสิ้นการศึกษาในปี ค.ศ. 1993 ไปแล้วนั้น ได้ทำการติดตามผลต่อเนื่องถึงสาเหตุและการป้องกันโรคต่างๆ ซึ่งจากการให้ข้อมูลของคณะผู้วิจัยนี้ในการประชุมสัมมนางานวิจัยทางด้านโรคมะเร็งรายงานว่า การรับประทานผลไม้และวิตามินซีนั้นสามารถลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารลงได้ประมาณ 45%
ดร.ฟาริน คาแมนกา จากหน่วยการศึกษาป้องกันโรคมะเร็ง สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และเป็นหนึ่งในคณะผู้วิจัยกล่าวว่า “ผลการศึกษานี้จะสอดคล้องกับผลการวิจัยชิ้นอื่นๆ ที่พบว่าการรับประทานผลไม้ และวิตามินซี เป็นส่วนสำคัญในการป้องกันโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร”
เมื่อปีที่แล้ว คณะนักวิจัยจากศูนย์การแพทย์ซานฟรานซิสโกวีเอ พบว่าปริมาณวิตามินซีในกระแสเลือดที่ต่ำจะมีผลทำให้คนคนนั้นเกิดความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร และมะเร็งกระเพาะอาหาร แม้จะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเชื้อแบคทีเรียนี้จะ มีผลทำให้ปริมาณวิตามินซีในกระแสเลือดลดลง หรือว่าวิตามินซีจะมีผลในการป้องกันได้ แต่จากผลการศึกษาอื่นๆ ได้แสดงให้เห็นว่าคนที่เป็นโรคมะเร็งนั้นมีปริมาณวิตามินซีในเลือดต่ำ นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบว่าอาหารที่มีรสชาติเค็มนั้นจะมีปริมาณวิตามินซีน้อย ทำให้ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าอีกด้วย
สารประกอบไลโคพีนที่มีอยู่ในผลไม้ เป็นที่ทราบกันว่าสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมและ มะเร็งต่อมลูกหมากได้นั้น นอกจากนั้น ยังสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้ถึง 34% ดร.คาแมนกา กล่าวว่า จำเป็นจะต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมถึงผลของไลโคพีนต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร และเมื่อเร็วๆ นี้ ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าไลโคพีนนั้นมีผลในการลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งด้วยการกระตุ้นเอนไซม์ที่ช่วยในการป้องกันโรคมะเร็งมากกว่าที่จะออกฤทธิ์ในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ
รวบรวมข้อมูลและเผยแพร่
ศูนย์วิจัยเนสท์เล่ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
และศูนย์ผู้บริโภคเนสท์เล่ ประเทศไทย
โทร. 0-2657 8657 e-mail: goodfood.nestle@th.nestle.com--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ