กรุงเทพฯ--6 ม.ค.--สสส.
ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
จากภาวะทุนนิยมที่ไหลบ่า จึงทำให้หลายคนหลงลืมวิถีชีวิตซึ่งเป็นรากฐานของสังคมเราในอดีต จะดีหรือไม่ถ้าเราจะเดินให้ช้าลงสักวัน แล้วออกตะลุยเรียนรู้ในห้องเรียนธรรมชาติ ย้อนกลับไปศึกษาวิถีชีวิตอย่างไทย เพื่อเลือกเอาจุดเด่นมาปรับใช้กับวิถีปัจจุบัน ณ 'บ้านครูธานี'
ย้อนกลับไปราวปี พ.ศ. 2541 "นายธานี หอมชื่น" ตัดสินใจทิ้งชีวิตการเป็นครูเมืองหลวง กลับมาที่บ้านเกิดซึ่งเขาเติบโตมา ผืนนาในระแวกนี้ยังคงขับเคลื่อนด้วยวิถีชีวิตของผู้คนสังคมเกษตรกรรม ลมหายใจอันอบอุ่นของพี่น้องบ้านใกล้เรือนเคียง และวิถีชีวิตที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ
จากประสบการณ์การเป็นครูในเมืองหลวง ทำให้เขาพบว่า "เด็กไทยรุ่นใหม่ขาดทักษะการใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง" เพราะการเข้ามาแทนที่ของเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวก เมื่อเล็งเห็นถึงปัญหาครูธานีจึงคิดหาวิธีการแก้ไข โดยเริ่มจากรากฐานต้นทุนเดิมที่ตัวเองมีคือวิถีชีวิตอย่างไทยชนบท มาผสานกับหลักการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในเรื่องของ "การทำเกษตรแบบผสมผสาน" ที่นอกจากจะทำให้ชาวนามีความเป็นอยู่ที่ดีแล้ว ยังเป็นหลักที่สามารถนำมาปรับใช้ได้กับทุกวิถีชีวิต คือ "การลงทุนให้น้อย แต่ได้ผลลัพธ์ที่มาก" อีกหนึ่งหลักการที่ครูธานีได้นำมาใช้กับตัวเองและสอนให้บุคลากรใกล้ชิดได้ปฏิบัติตาม คือ "การใช้ชีวิตแบบพอเพียง" ซึ่งมิได้หมายถึงความประหยัดอดออมจนต้องใช้ชีวิตลำบากกว่าที่เคยเป็น แต่หมายถึง "การใช้ชีวิตด้วยความพอดี คือ พอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดี ภายใต้เงื่อนไขของการมีความรู้และคุณธรรม"
ด้วยการเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่จุดประกายการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและมีสุขภาวะที่ดี ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ดำเนินการจัดกิจกรรม "SOOK Travel" (กิจกรรมท่องเที่ยวแหล่งเรียนรู้) ตอน "ตะลุยทุ่ง เรียนรู้วิถีไทย ที่บ้านครูธานี" ขึ้น เพื่อให้ประชาชนที่สนใจได้ลองเปิดประสบการณ์สัมผัสการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ศึกษาวิถีชีวิตอย่างไทย เพื่อเลือกเอาจุดเด่นมาปรับใช้กับวิถีปัจจุบัน ที่ "บ้านครูธานี" อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี
เกิดเป็นความสนุกแบบหยุดไม่อยู่ตลอดวันทั้งการ "สัมผัสวิถีชีวิตไทย" จากเรื่องใกล้ตัวอย่างที่อยู่อาศัย อาหารและขนมตำรับไทย ผาดโผนปีนต้นไม้แล้วไปก้าวย่างบนสะพานแขวน ต่อด้วยเดินทางสัญจรทั้งการขี่ควาย นั่งเกวียน และขับรถกระแทะ แล้วไปสัมผัสกับอีกหนึ่งวิถีชีวิตทรงเสน่ห์ ผู้ผลิตอาหารให้เราเลี้ยงชีพ "ชาวนา" เรียนรู้ความรู้สึกของการหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน เหยียบย่ำลงไปในผืนโคลนฉ่ำน้ำ และทำความเข้าใจความยากลำบากกว่าจะได้มาของข้าวสักเมล็ด ด้วยการลงมือแปรรูปจากข้าวในรวงสู่ข้าวสารด้วยตัวเอง เพื่อให้ตระหนักว่า "ข้าวแต่ละเมล็ดนั้นมีค่าเพียงไหน"
เพื่อเป็นการตอบแทนความตั้งใจในการเรียนรู้ตลอดทั้งวัน ดังที่ครูธานีเล่าว่า "ในอดีตกว่าจะได้ของเล่นมาสักชิ้นหนึ่ง เด็กจะต้องช่วยผู้ใหญ่ทำงานตามความสามารถของตนเสียก่อน เมื่อเสร็จสิ้นจากภารกิจ ผู้ใหญ่จึงจะลงมือทำของเล่นจากวัสดุธรรมชาติหาได้ในพื้นที่ให้กับพวกเขา" ในการทำกิจกรรมวันนี้ผู้ใหญ่ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นคุณพ่อ คุณแม่ และผู้เข้าร่วมกิจกรรมหนุ่มสาวถึงวัยเฒ่า ช่วยกันลงแรงประดิษฐ์ของเล่นที่ต้องใช้ทั้งความสามารถและความตั้งใจให้กับเด็ก ๆ ทั้งม้าก้านกล้วย ปืนก้านกล้วย และดาบทางมะพร้าว เพื่อให้เด็กทุกคนได้ "ออกมาเล่น (Active Play)" กันอย่างสร้างสรรค์ภายในสวน สนับสนุนการเล่นอย่างมีคุณภาพและเกิดประโยชน์ และยังสนับสนุนให้ทุกคนได้มี "กิจกรรมทางกาย (Physical Activity)" เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นนานาโรคร้ายอีกด้วย
แม้ความสนุกที่มาพร้อมการเรียนรู้ในวันนี้จะจบลงไปแล้ว แต่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้บอกเล่าสิ่งที่ได้เรียนรู้ในวันนั้นว่า "วิถีชีวิตอย่างไทยและการพอเพียง ช่วยจุดประกายให้พวกเขาพบแนวทางการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข"