กรุงเทพฯ--6 ม.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมทางภาคใต้ว่า ได้มอบนโยบายในการเตรียมการช่วยเหลือน้ำท่วมให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำทางภาคใต้อย่างต่อเนื่อง โดยได้ระดมเครื่องมือจากส่วนกลางไปรอในพื้นที่ตั้งแต่เดือน พ.ย.59 ซึ่งขณะนี้ยังมีเครื่องมือเพียงพอ พร้อมทั้งเน้นย้ำให้หน่วยงานในส่วนกลางติดตามสถานการณ์ และวางแผนบูรณาการเตรียมการล่วงหน้า เมื่อเกิดเหตุน้ำท่วมให้หน่วยต่างๆ ลงพื้นที่ช่วยเหลือเกษตรกรในทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อะไรที่ทำได้ให้ทำทันที หากเกินขีดความสามารถให้รีบขอรับการสนับสนุนจากส่วนกลาง สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้นั้น เนื่องจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรงพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมช่องแคบมะละกาประเทศมาเลเซีย ในช่วงวันที่ 31 ธ.ค.59 – 3 ม.ค.60 ทำให้พื้นที่ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมาก โดยส่งผลกระทบใน 6 จังหวัด ได้แก่ ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง ยะลา ปัตตานี และ นราธิวาส โดยมีฝนตกสะสมสูงสุด 455 มิลลิเมตร ที่อำเภอสุคีริน จังหวัดนราธิวาส 455มิลลิเมตร
นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สาเหตุที่เกิดน้ำท่วมทางภาคใต้เนื่องจากมีปริมาณฝนตกหนักในช่วง 31 ธ.ค.59 เป็นต้นมา โดย จังหวัดนครศรีธรรมราช มีปริมาณฝนสะสม 3 วัน (31 ธ.ค. 59 - 2 ม.ค. 60) ในอำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอนาบอน อำเภอลานสกา อำเภอท่าศาลา และอำเภอเมือง ที่ 194 มิลลิเมตร 150 มิลลิเมตร 149 มิลลิเมตร 137 มิลลิเมตร และ 112 มิลลิเมตร ตามลำดับ ทำให้มีปริมาณน้ำไหลหลากเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันมีแนวโน้มทรงตัวและเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สำหรับพื้นที่น้ำท่วมในเขต จ.นครศรีธรรมราช ประกอบไปด้วย พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ 3 อำเภอ คือ อำเภอชะอวด อำเภอหัวไทร และอำเภอเชียรใหญ่ ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำอื่นๆ มีน้ำท่วมขังในที่ลุ่มต่ำ 4 อำเภอ ได้แก่ พื้นที่ในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช อำเภอพรหมคีรี อำเภอพิปูน และอำเภอทุ่งสง หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม คาดว่าจะเข้าปกติภายใน 4 - 6 วัน ในส่วนของการช่วยเหลือ กรมชลประทานได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และเครื่องมือต่างๆ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังแล้ว
จังหวัดตรัง เกิดฝนตกหนักในช่วงวันที่ 1 - 3 ม.ค. 60 วัดปริมาณฝนสะสม 3 วัน ได้ 112.6 มิลลิเมตร ที่อำเภอ นาโยง และครอบคลุมไปจนถึงบริเวณอำเภอห้วยยอดติดต่อเทือกเขาบรรทัด ทำให้ระดับน้ำในคลองนางน้อยและแม่น้ำตรังตอนบนเพิ่มสูงขึ้น แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำลาดชันเชิงเขาน้ำมาเร็วไปเร็ว ซึ่งน้ำจะไหลลงสู่ลำน้ำสายหลักต่อไป ปัจจุบันระดับน้ำในลำน้ำยังต่ำกว่าตลิ่งมากกว่า 1 เมตร และจะไม่มีผลกระทบกับพื้นที่เศรษฐกิจ สำหรับในแม่น้ำตรังตอนบน มีน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณอำเภอรัษฎา อำเภอห้วยยอด และอำเภอเมืองตรัง คาดว่าน้ำจะไหลมาถึงอำเภอเมืองตรัง เข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำประมาณ วันที่ 6 ม.ค. 60 นี้ ซึ่งกรมชลฯ ได้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และรายงานสถานการณ์น้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบต่อไปแล้ว
จังหวัดพัทลุง มีปริมาณฝนเฉลี่ยรวมทั้งจังหวัด (2 - 3 มกราคม 2560) วัดได้ 251 มิลลิเมตร ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ 11 อำเภอริมทะเลสาบสงขลา ได้แก่ อำเภอเมืองพัทลุง เขาชัยสน กงหรา ป่าบอน ปากพะยูน ป่าพะยอม ควนขนุน ศรีนครินทร์ บางแก้ว ศรีบรรพต และตะโหมด หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มจะเข้าสู่ปกติภายใน 1 -2 วัน ซึ่งปริมาณน้ำนี้จะไหลมารวมที่ทะเลสาบสงขลา คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ ภายใน 6 - 7 วัน ทั้งนี้ได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ พร้อมทั้งได้แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา วัดปริมาณฝนสะสม 3 วัน ที่อำเภอกะพ้อ และอำเภอทุ่งยางแดง วัดได้ 238.7 มิลลิเมตร และ 233 มิลลิเมตร ตามลำดับ ส่งผลให้มีน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่งในเขตอำเภอเมืองปัตตานี และอำเภอเมืองยะลา และมีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่งของอำเภอยะหาและอำเภอรามัน หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1 -2 วัน โดยกรมชลประทานได้ร่วมกับทางจังหวัดและหน่วยงานในท้องถิ่น บูรณาการเร่งระบายน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด ซึ่งปัจจุบันระดับน้ำเริ่มลดลงแล้ว
จังหวัดนราธิวาส เกิดฝนตกหนักในช่วงวันที่ 31 ธ.ค. 59 - 2 ม.ค. 60 วัดปริมาณฝนสะสม 3 วัน ที่อำเภอสุคีริน อำเภอแว้ง และอำเภอจะแนะ ได้ 455 มิลลิเมตร 426 มิลลิเมตร และ 409 มิลลิเมตรตามลำดับ ส่งผลให้ลุ่มน้ำโก-ลก ลุ่มน้ำบางนรา และลุ่มน้ำสายบุรี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ ในเขตอำเภอรือเสาะ อำเภอบาเจาะ อำเภอเมือง อำเภอระแงะ อำเภอจะแนะ อำเภอสุไหงปาดี อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้ง รวมถึงอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ซึ่งกรมชลประทานได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำ เพื่อช่วยระบายน้ำในพื้นที่แล้ว