กรุงเทพฯ--6 ม.ค.--การยางแห่งประเทศไทย
การยางแห่งประเทศไทยเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคใต้ จัดโครงการ "กยท. รวมน้ำใจ ช่วยภัยน้ำท่วมภาคใต้" เปิดศูนย์รับบริจาคเงินและสิ่งของ เดินหน้า ลุยลงพื้นที่มอบถุงยังชีพถึงมือผู้ประสบภัยที่ได้รับความเดือดร้อน
ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ที่มีความรุนแรงมากขึ้นจนเข้าสู่ขั้นวิกฤต เนื่องจากฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่อง กยท. ได้มีนโยบายช่วยเหลือชาวสวนยางที่ประสบอุทกภัยมาโดยตลอด โดยให้ความช่วยเหลือขั้นต้นด้วยการลงพื้นที่มอบถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบภัย และขณะนี้ได้เริ่มโครงการ "กยท. รวมน้ำใจ ช่วยภัยน้ำท่วมภาคใต้" เป็นการเปิดศูนย์รับบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคใต้ได้ ณ การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ บางขุนนนท์ กรุงเทพฯ หรือการยางแห่งประเทศไทย ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยผู้ที่ประสงค์ร่วมบริจาคเป็นเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯ สามารถโอนผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาบางขุนนนท์ ชื่อบัญชี นายพูลสุข อุเทนพันธ์ และ น.ส.สิตานัน เครือประดิษฐ์ เลขที่บัญชี 058-0-36479-8 ซึ่ง กยท.จะนำไปซื้อสิ่งของที่จำเป็นทั้งเครื่องอุปโภคบริโภค มอบให้ประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึงมากที่สุด
"สิ่งของจำเป็นที่ขอรับบริจาคอย่างเร่งด่วน ได้แก่ ยารักษาโรค เสื้อผ้าใหม่ เช่น เสื้อ กางเกง ชุดชั้นใน เป็นต้น และของใช้ประจำวัน เช่น แปรงสีฟัน ยาสีฟัน แป้ง มีดโกนหนวด ผ้าอนามัย ผ้าอ้อมเด็ก เป็นต้น โดย กยท. จะปล่อยขบวนรถน้ำใจ ช่วยภัยน้ำท่วมภาคใต้รอบต่อไป ในวันจันทร์ที่ 9 มกราคม นี้" ดร.ธีธัช กล่าว
ด้านนายธีรวัฒน์ เดชทองคำ รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยด้านธุรกิจและปฏิบัติการ ผู้แทนคณะผู้บริหาร กยท.ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน เผยว่า ทุกวันนี้ กยท. ลุยลงพื้นที่มอบถุงยังชีพถึงมือผู้ประสบภัยที่ได้รับความเดือดร้อน พร้อมให้กำลังใจ และสำรวจความเสียหายเบื้องต้นไปแล้ว 8 จังหวัด รวมพื้นที่ประมาณ 16 อำเภอ ได้แก่ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และตรัง เป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือนที่พื้นที่ภาคใต้ประสบปัญหาฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้สวนยางพาราของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางได้รับผลกระทบและสวนยางพารามี น้ำท่วมขัง ทำให้ประชาชนเดือดร้อน และมีพื้นที่ทำการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศและเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ พบว่า มีเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับความเดือดร้อน จากอุทกภัยครั้งนี้ จำนวน 60,338 ราย และมีพื้นที่ได้รับความเสียหายทั้งหมด ประมาณ 531,876 ไร่ แบ่งเป็น จังหวัดนครศรีธรรมราช 41,932 ราย มีพื้นที่ความเสียหายประมาณ 416,133 ไร่ จังหวัดพัทลุง 17,331 ราย มีพื้นที่ความเสียหายประมาณ 105,944 ไร่ จังหวัดตรัง 700 ราย มีพื้นที่ความเสียหายประมาณ 7,250 ไร่ จังหวัดสงขลา 353 ราย มีพื้นที่ความเสียหายประมาณ 2,396 ไร่ และ จังหวัดนราธิวาส จำนวน 22 ราย มีพื้นที่ความเสียหายประมาณ 153 ไร่ อย่างไรก็ตาม หลังจากสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่ของ กยท. เข้าไปประเมินความเสียหายของพื้นที่สวนยางที่ถูกน้ำท่วม พร้อมทั้งให้คำแนะนำดูแลสวนยางที่ถูกน้ำท่วมขัง เพื่อฟื้นฟูสวนยางอย่างถูกวิธี