กรุงเทพฯ--6 ม.ค.--กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี
กว่าพื้นที่ 50 ไร่ ของนายเล็ก ทองต้น วัย 71 ปี ประธานศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ต.บึงกาสาม อ.หนองเสือ จังหวัดปทุมธานี อดีตผู้ใหญ่บ้านชุมชนหมู่ 7 บึงกาสาม เกษตรชาวจังหวัดปทุมธานี ต้นแบบเกษตรอินทรีย์ตัวจริง ทำเกษตรไร่น้ำส่วนผสมลดการใช้สารเคมี หันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพ ทำได้ไม่มีขาดทุน เดินตามรอยเท้าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ต้นแบบอินทรีย์ชาวจังหวัดปทุมธานี
นายเล็ก ทองต้น เล่าว่า กว่า 10 ปีบนเส้นทางเกษตรอินทรีย์ ตนเองคิดเสมอว่า "ทำอย่างไรก็ได้ให้มีรายได้พอกินพอใช้ ไม่สร้างหนี้ มีเงินใช้เหมือนตอนที่รับเงินเดือนของข้าราชการ" โดยแรงบันดาลใจของตนเอง คือ รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พ่อของคนไทยทั้งแผ่นดิน เมื่อครั้งได้เดินทางไปดูงานในโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ นำศาสตร์พระราชามาเป็นจุดเริ่มต้นในการบริหารจัดการประยุกต์พื้นที่ 50 ไร่ ให้กลายเป็นไร่นาสวนผสม เส้นทางของการเริ่มต้น ทำให้ตนเอง คิดว่า "ชาวนาจะปลูกข้าวอย่างเดียวไม่ได้" อายุข้าวกว่าจะเกี่ยวต้องใช้เวลาประมาณ 105 วัน จึงได้ปรับพื้นที่ 50 ไร่ เป็น ทำนา 10 ไร่ ปาล์ม 40 ไร่ ปลูกกล้วยแซมในสวนปาล์ม เลี้ยงไก่ไข่ 50 ตัว เลี้ยงปลา โดยปาล์มตัด 2 ครั้ง/เดือน 24 ครั้ง/ปี กล้วยน้ำว้า ตัด 2 ครั้ง / เดือน ข้าวเกี่ยว 2 ครั้ง/ปี
ในการทำนาจะไม่ใช่สารเคมี นำเกษตรอินทรีย์เข้ามาใช้ "แรกๆ ที่ทำอาจจะเห็นผลช้า แต่ดีกับธรรมชาติ" เรียนรู้บนเส้นทางของเกษตรพอเพียง ค้นสูตรปุ๋ยชีวภาพเอง ผสมโน้มผสมนั้น ศึกษาหาข้อมูล พยายามหาข้อมูลตามหน่วยงานต่างๆ เพื่อหาข้อมูลมาปรับใช้ในชุมชน โดยจากการหาข้อมูลทางคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีการนำชีวภาพมาใช้ ตนเองจึงได้ทำเรื่องไปที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี อาจารย์และทีมงานและลงพื้นที่สำรวจ และเข้ามาทำการวิจัยและทำการทดลองนวัตกรรมชีวภาพจากความหลากหลายทางชีวภาพเชื้อราปฏิปักษ์ (หัวเชื้อจุลินทรีย์นาโน) มาใช้นาข้าว ปาล์ม และได้เข้ามาบริการองค์ความรู้ให้กับศูนย์อีกด้วย
ความแตกต่างของการใช้สารเคมี และสารชีวภาพ สำหรับการทำนาข้าวจากที่ลงทุน 5,000 บาท/ไร่ เหลือเพียง 1,700-2,200 บาท/ไร่ ได้ปริมาณข้าวเปลือก 1 ไร่/1 ตัน เม็ดข้าวมีคุณภาพดีไม่รีบแบน เพิ่มการแปรรูปข้าวเปลือก เป็นข้าวขาวเพิ่มรายได้ ซึ่งภายในศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ต. บึงกาสาม มีเครื่องสีข้าว ตนเองจะนำข้าวที่ได้มาสีเพื่อนำไปขาย โดยชาวบ้านในชุมชนนำข้าวเปลือกมาสี คิดกิโลกรัมละ 2 บาท ข้าวเปลือกสีเป็นข้าวขาวเพิ่มรายได้จาก8500เป็น35000บาทต่อเกวียน และที่สำคัญเมื่อได้รายได้หรือใช้จ่ายมาแต่ละครั้ง ต้องมีการทำบัญชีรายรับรายจ่าย เมื่อครั้งที่ พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางมาดูงานที่จังหวัดปทุมธานี ได้มีโอกาสนำผลิตข้าวหอมปทุมธานีของศูนย์ไปเป็นของขวัญในนายกรัฐมนตรี นายกถามว่าข้าวมาจากไหน ตนเองจึงตอบว่า "ข้าวหอมปทุมธานีมาจากโครงการ ศพก.ของท่านนายก และได้ทาง มทร.ธัญบุรี มาดูแลและให้การช่วยเหลือ" โดยท่านนายกยังชื่นชมและให้เกษตรกรดูตนเองเป็นตัวอย่าง
"ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าราคาสินค้าเกษตรจะเป็นอย่างไร อยากให้เกษตรลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด หันมาใช้เกษตรอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมี ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม" เป็นชุมชนต้นแบบอินทรีย์ ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยทางหมู่ 7 บึงกาสามได้รับการันตี เช่น เมื่อปี 2553 ได้รับรางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อปี 2556 ศูนย์การเรียนรู้ดีเด่น จากกรมส่งเสริมเกษตรกร และทางชุมชนยังเข้าร่วมโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนหมู่ 7 บึงกาสาม จังหวัดปทุมธานีแบบมีส่วนร่วมเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี "ต้องขอขอบคุณทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่ได้สร้างองค์ความรู้ร่วมไปถึงอาจารย์ นักศึกษา เจ้าหน้าที่ ที่ได้ให้ความช่วยเหลือ"
ทางด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุกาญจน์ รัตนเลิศนุสรณ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี หัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า เมื่อปี 2556 ได้ลงพื้นที่ในการสำรวจสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชนหมู่ 7 บึงกาสาม พบว่าดินมีสภาพเป็นกรด มีความ ph 3-4 สภาพของดินแข็งไม่ร่วนซุย เนื่องมาจากการใช้สารเคมี ในการเพิ่มปริมาณธาตุอาหารหลักและรองในดิน กำจัดโรคพืช กำจัดศัตรูแมลง ต้นทุนสูงแต่ได้ผลผลิตต่ำ อีกทั้งผลผลิตมีสารโหละหนักปนเปื้อน ไม่ได้มาตรฐาน GAP ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ตนเองจึงได้คิดค้นนวัตกรรมชีวภาพจากความหลากหลายชีวภาพปฏิปักษ์จากดินในชุมชน โดยนำหลักการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาบูรณาการเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีชีวภาพด้วยนวัตกรรมจากความหลากหลายทางชีวภาพเชื้อราปฏิปักษ์ (หัวเชื้อจุลินทรีย์นาโน) เมื่อเห็นผลที่ออกมา ดีใจที่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกรและเห็นเกษตรกรมีผลผลิตรายได้กำไรลดต้นทุน ความเป็นอยู่ดีขึ้นและเพิ่มขึ้น และมีการแบ่งปันให้กลุ่มเกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ปีนี้พบว่าเกษตรกรเพิ่มผลผลิตจากเดิม 2เท่า เพิ่มการแปรรูปเป็นข้าวกล้อง ข้าวขาว ขอใบรับรองgapขยายตลาดกว้างขวางมากขึ้น นอกจากทางมหาวิทยาลัยยังได้ไปบริการวิชาการให้เกษตรกรตามที่ต่างๆ เช่น กลุ่มเกษตรกรสวนปาล์มกระบี่ เกษตรกรผลไม้ทุเรียน ลำใย จันทบุรี ตราด อีกด้วย
ลุงเล็กหนึ่งในตัวอย่างเกษตรอินทรีย์ต้นแบบได้น้อมนำศาสตร์ของรัชกาลที่ 9 มาใช้ ตามรอยแบบพอเพียง ถึงแม้นว่าราคาของสินค้าเกษตรจะผกผันอย่างไรก็ตาม ไม่ส่งผลกระทบต่อลุงแต่อย่างใด