กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--โฟว์ดี คอมมิวนิเคชั่น
- ระดมคาแรคเตอร์ยอดฮิตและคาแรคเตอร์น้องใหม่ปูพรมสร้างกระแสนิยมทุกกลุ่มตลาดในไทย -
นายกฤษณ์ สกุลพานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดกซ์ [ดรีม เอกซ์เพรส] จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2559 มูลค่าตลาดรวมของธุรกิจลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์ (Character License) อยู่ที่ 1,900 ล้านบาท สำหรับเดกซ์ วันพีซ (One Piece) และอุลตร้าแมน (Ultraman) ถือเป็นคาแรคเตอร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จเกิดจากความแข็งแกร่งของ content, การนำเสนอประสบการณ์ที่น่าประทับใจ, การสื่อสารทางการตลาดผ่านสื่อ offline และ online อย่างสมดุล รวมไปถึงการใช้ลิขสิทธิ์เพื่อสร้างสรรค์สินค้าโดยพันธมิตรทางธุรกิจที่หลากหลายเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่ชื่นชอบคาแรคเตอร์ครอบคลุมในทุกกลุ่ม
"ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา เราได้นำภาพยนตร์อนิเมชั่น One Piece Film Gold เข้ามาฉายในประเทศไทยหลังเข้าฉายในญี่ปุ่นเพียง 1 เดือน โดยเชิญนักแสดงที่มีชื่อเสียงและชื่นชอบใน One Piece อย่าง "ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์" มาร่วมพากย์เป็นตัวละครเด่นในเรื่อง ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างมากในโลกออนไลน์และมีการฉายภาพยนตร์ทั้งในระบบปกติและ 4DX ซึ่งเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นญี่ปุ่นเรื่องแรกที่ฉายด้วยระบบดังกล่าว ในประเทศไทย ทำให้ได้รับกระแสตอบรับดีเกินคาดกว่าที่บริษัทฯคาดไว้ ทั้งนี้ยังได้เปิดร้านจำหน่ายสินค้าลิขสิทธิ์ One Piece Mugiwara Store Bangkok ซึ่งเป็นสาขาที่สองในภูมิภาคเอเซียไม่รวมญี่ปุ่น ที่ศูนย์การค้าเกตเวย์ เอกมัย ซึ่งได้รับความสนใจจากกลุ่มแฟนคลับจำนวนมาก ด้านอุลตร้าแมน (Ultraman) เดกซ์ได้จัดกิจกรรมพิเศษ Ultraman Run ซึ่งเป็นกิจกรรม Fun Run ฉลองครบรอบ 50 ปี Ultraman Series ซึ่งได้รับความสนใจจากนักวิ่งและบุคคลทั่วไป รวมถึงครอบครัวที่นำเด็กๆ มาร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก" นายกฤษณ์ สกุลพานิช กล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2560 เดกซ์คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดรวมของธุรกิจลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์ (Character License) จะเติบโตเพิ่มขึ้นแตะ 2,000 ล้านบาท โดยนายกฤษณ์ สกุลพานิช ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2560 ว่า "เดกซ์ตั้งเป้าหมายอัตราการเติบโตทางธุรกิจไว้ไม่น้อยกว่า 20% ในปี 2560 โดยยังคงรุกตลาดด้วยการนำเสนอประสบการณ์ content และสินค้าในรูปแบบต่างๆ ให้กับตลาดอย่างต่อเนื่องตลอดปี โดยเน้นให้มีความหลากหลาย ตอบสนองความสนใจและความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้มากที่สุด รวมทั้งขยาย Media Platform การนำเสนอ content และสินค้า เพื่อเพิ่มฐานตลาดไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ นอกจากนี้ กระแสของ J-Pop และ Anime ของทางฝั่งญี่ปุ่น เริ่มกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง และคาดว่าจะได้รับความนิยมต่อไปอีกใน 3-5 ปีข้างหน้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นว่าปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เดกซ์บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้สำเร็จ"
ในปี 2560 เดกซ์วางแผนจะรุกธุรกิจลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์อย่างเต็มที่ ซึ่งนายกฤษณ์ สกุลพานิช ได้กล่าวถึงกลยุทธ์ดังกล่าวว่า "เนื่องจากคาแรคเตอร์แต่ละตัวที่เดกซ์ถือลิขสิทธิ์อยู่นั้นมีกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน มีพฤติกรรมการบริโภคคาแรคเตอร์และความต้องการที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น การรุกตลาดจึงต้องมีกลยุทธ์ที่แตกต่างไปด้วยเช่นกัน เพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า ให้เข้าถึงและเกิดความผูกพันกับคาแรคเตอร์นั้นๆ อย่างไรก็ตาม คาแรคเตอร์หลักที่เดกซ์ยังมุ่งเน้น ได้แก่ วันพีซ กันดั้ม อุลตร้าแมน มาสค์ไรเดอร์ (ไอ้มดแดง) และอื่นๆ โดยเร็วๆ นี้ เรามีแผนที่จะนำเสนอประสบการณ์สนุก แปลกใหม่ และเข้าถึงลูกค้าโดยตรง เป็นครั้งแรกของโลกสำหรับคาแรคเตอร์มาสค์ไรเดอร์ [Masked Rider] ในกิจกรรม Fun Run รูปแบบแบทเทิลภายใต้โปรเจค "Rider Run" และเรายังมีแผนที่จะเปิดตลาดคาแรคเตอร์ใหม่ประเภท Relax & Cute เพื่อเติมเต็มช่องว่างตลาดวัยรุ่นและผู้หญิง นำโดยคาแรคเตอร์ที่โด่งดังในญี่ปุ่นและอเมริกาอย่าง โดโมะคุง [Domo Kun] และคาแรคเตอร์น้องใหม่จากค่ายดังอย่าง Bandai โดยหมีโอจิปัง [Ojipan] ที่มีความน่ารัก ล้อเลียนชีวิตหนุ่มสาวออฟฟิศในสไตล์กวนๆ ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างกระแสนิยมในไทยได้อย่างแน่นอน ปัจจุบัน เดกซ์ได้สร้างคอมมูนิตี้แฟนคลับคาแรคเตอร์ผ่านทาง DEXclub.com ซึ่งสร้างสรรค์ให้เป็นเสมือนห้องนั่งเล่นเพื่อความบันเทิงของคนรัก Cartoon & Animation รวมถึงความสนใจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยทำหน้าที่สื่อสารข่าวสาร กิจกรรม และโปรโมชั่นต่างๆ ของบริษัทฯ โดยปัจจุบันมีแฟนคลับกว่า 100,000 คน และมีฐานแฟนคลับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละประมาณ 38 - 40%"
เกี่ยวกับมุมมองด้านโอกาสการเติบโตของธุรกิจลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์นั้น นายกฤษณ์ สกุลพานิช กล่าวแสดงความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวว่า "ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคชาวไทยได้ซึมซับวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างเข้มข้น ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่ทางประเทศญี่ปุ่นเอื้อให้คนไทยเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น และมีนโยบายตลอดจนงบประมาณต่างๆ เพื่อนำเสนอวัฒนธรรมมายังประเทศไทยและหนึ่งในนั้นคือ Cartoon & Animation ที่เราจะพบการนำคาแรคเตอร์มาใช้ในการสื่อสารเพื่อให้เข้าถึงผู้รับสารง่ายขึ้น และวัฒนธรรมดังกล่าวเริ่มแพร่หลายในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ผู้บริโภคยอมรับการนำเสนอด้วยภาพคาแรคเตอร์มากกว่าเป็นข้อความ โดยไม่รู้สึกว่าเป็นของเด็กเสมอไป นอกจากนี้ LINE Sticker ซึ่งนำเสนอผ่านทางคาแรคเตอร์ต่างๆ ถูกใช้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยสมาชิกในประเทศไทยมากกว่า 33 ล้านคน ส่งข้อความกันกว่า 100 ล้านครั้งต่อวัน ยิ่งทำให้เกิดความนิยมในการใช้คาแรคเตอร์เพื่อการสื่อสารมากขึ้น"