มท.1 สั่งระดมเครื่องจักรกล เน้นย้ำการบัญชาการเหตุการณ์ในพื้นที่ส่วนหน้า เร่งแก้ไขปัญหา คลี่คลายสถานการณ์ และดูแลผู้ประสบภัย

ข่าวทั่วไป Monday January 9, 2017 09:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มท.1 ห่วงสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ สั่งการกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดมเครื่องจักรกล วัสดุอุปกรณ์ และเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย เน้นย้ำให้ใช้กลไกกองบัญชาการฯ ส่วนหน้า อำนวยการและเชื่อมโยงประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานในระดับพื้นที่ กำชับจังหวัดเร่งระบายน้ำและดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ส่วนการช่วยเหลือให้ยึดการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ และหลักเกณฑ์ ซึ่งได้ขยายวงเงินทดรองราชการเพิ่มเติมใน 9 จังหวัดๆ ละ 50 ล้านบาท เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปตามคล่องตัว พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เปิดเผยว่า พื้นที่ภาคใต้มีฝนหนักต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2559 และทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงเดือนมกราคม 2560 ส่งผลให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 10 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลา ปัตตานี ตรัง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร และระนอง อีกทั้งในขณะนี้ยังมีฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ ทำให้หลายพื้นที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย นายกรัฐมนตรีห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ประกาศยกระดับการจัดการสาธารณภัยในพื้นที่ภาคใต้จากระดับ 2 (สาธารณภัยขนาดกลาง) เป็นระดับ 3 (สาธารณภัยขนาดใหญ่) โดยได้จัดตั้งกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (ส่วนหน้า) ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี และเขต 12 สงขลา เพื่อเป็นศูนย์กลางในการอำนวยการและเชื่อมโยงการสั่งการแก้ไขปัญหาอุทกภัยกับหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ให้มีเอกภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ได้ระดมสรรพกำลัง วัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย อาทิ รถยกสูง รถผลิตน้ำดื่ม เรือท้องแบน รถไฟฟ้าส่องสว่าง รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย อุปกรณ์ช่วยเหลือพิเศษ และกำลังเจ้าหน้าที่จาก ศูนย์ ปภ.เขต 2 สุพรรณบุรี เขต 3 ปราจีนบุรี เขต 4ประจวบคีรีขันธ์ เขต 5 นครราชสีมา และ เขต 16 ชัยนาท เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งนี้ ได้สั่งการให้กองบัญชาการฯ ส่วนหน้า บริหารจัดการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยให้ความสำคัญกับการดูแลชีวิตและความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก โดยแจกจ่ายถุงยังชีพ เครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึง รวมถึงให้บริการการขนย้ายสิ่งของและอพยพผู้ประสบภัย ซ่อมแซมเส้นทางคมนาคม ระบบสาธารณูปโภค ทั้งไฟฟ้า ประปา การสื่อสาร ให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ เพื่อให้ประชาชนดำเนินชีวิตได้ในเบื้องต้น พร้อมให้เร่งระบายน้ำและผลักดันน้ำออกสู่ทะเลและแหล่งน้ำสาธารณะต่างๆ เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว สำหรับพื้นที่ที่ระดับน้ำเริ่มลดลงให้เร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ โดยกระทรวงมหาดไทยได้ประสานให้กรมบัญชีกลางอนุมัติขยายวงเงินทดรองราชการในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด 9 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลา ปัตตานี ตรัง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร (เพิ่มเติม) จังหวัดละ 50 ล้านบาท อีกทั้งได้อนุมัติให้ยกเว้นหลักเกณฑ์เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งจะทำให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปด้วยความรวดเร็วและคล่องตัวมากขึ้น โดยได้สั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดจัดสรรงบประมาณให้อำเภอที่ประสบภัยอย่างน้อย 500,000 บาท หากจังหวัดใดสถานการณ์รุนแรงและขยายวงกว้าง สามารถขอขยายวงเงินทดรองราชการเพิ่มเติมผ่านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้งนี้ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการอำนวยการ สั่งการ และประสานการแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยได้แบ่งโครงสร้างการปฏิบัติการเป็น 2 ศูนย์ 3 ส่วน ได้แก่ ศูนย์ข้อมูลประชาสัมพันธ์ร่วม มีอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เป็นหัวหน้า ทำหน้าที่ในการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัย ศูนย์ประสานการปฏิบัติ มีอธิบดีกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย เป็นหัวหน้า ทำหน้าที่ประสาน สนับสนุนทรัพยากร เครื่องจักรกลและเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ส่วนปฏิบัติการ มีนายประยูร รัตนเสนีย์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้า ทำหน้าที่กำกับควบคุมสถานการณ์ในพื้นทื่ประสบภัย และให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในด้านต่างๆ ทั้งการอพยพ การแพทย์ คมนาคม การรักษาความสงบเรียบร้อย ส่วนอำนวยการ มีนายชยพล ฐิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้า ทำหน้าที่ติดตาม วิเคราะห์ ประเมิน แจ้งเตือนสถานการณ์ภัย เพื่อสนับสนุนทรัพยากรในการจัดการภาวะฉุกเฉิน และส่วนสนับสนุน มีนายณัฐพงศ์ ศิริชนะ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้า ทำหน้าที่สนับสนุนการปฏิบัติของ กปภ.ช. เพื่อให้การจัดการในภาวะฉุกเฉินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ได้เน้นย้ำให้จังหวัดใช้กลไกของกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระดับต่างๆ ในการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หน่วยทหาร ฝ่ายพลเรือน และมูลนิธิอาสาสมัครสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รวมถึงให้การช่วยเหลือผู้ประสบอย่างรวดเร็วและทั่วถึง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ